Carloan

GenY เสี่ยงถูกยึดรถครึ่งประเทศ กับ 3 เหตุผลที่ทำให้หนี้ท่วมหัว

ความกังวลเรื่องหนี้เสียของกลุ่มสินเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดในปี 2566 สถานการณ์หนี้เสียสินเชื่อรถยนต์มีความเสี่ยงสูงมาก จนถึงขั้นมีการคาดการณ์ว่าคนไทยอาจถูกยึดรถมากถึง 1 ล้านคันภายใน 4 เดือน ซึ่งกลุ่ม Gen Y เป็นกลุ่มที่มีการจ่ายค่างวดแบบเลี้ยงหนี้มากที่สุด

ทาง ‘Business+’ พบข้อมูลที่แสดงถึงสัญญาณลูกหนี้จ่ายหนี้แบบ ‘เลี้ยงงวด’ ในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2566 (เป็นลักษณะหนี้ค้าง 1-3 งวด และกลับมาชำระ 1 งวด เพื่อเลี้ยงหนี้ไม่ให้เป็นหนี้เสียจนถูกยึดรถ) ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และมีเงินเฟ้อ หรือภาษาชาวบ้านคือ ของแพง ค่าแรงต่ำ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาในการผ่อนชำระหนี้ (ข้อมูล : เครดิต บูโร)

ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยมาจากมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาบรรเทาผลกระทบในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ทยอยสิ้นสุดลง ทำให้ลูกหนี้บางส่วนต้องกลับมาผ่อนชำระหนี้ตามปกติ ซึ่งแน่นอนว่าลูกหนี้ที่ยังไม่ฟื้นจากสถานการณ์ COVID-19 ก็จะเกิดปัญหาผ่อนหนี้ไม่ไหว ซึ่งอาจจะกระทบทั้งหนี้สินรถยนต์ บ้าน หรือบัตรเครดิต

ซึ่งพบข้อมูลว่าไตรมาส 1 ปี 2566 กลุ่ม GEN Y (คนเกิดระหว่างปี 2523 – 2543 : ช่วงอายุ 23-43 ปี) มีสัญญาที่ได้รับอนุมัติ จำนวน 600,000 บัญชี และมากถึง 50% หรือ 350,000 บัญชี เป็นกลุ่มที่จ่ายค่างวดเลี้ยงหนี้มากที่สุด โดยสัดส่วนหนี้รถยนต์ของ GEN Y เป็นหนี้ค้างชำระ (31-60 วัน) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะที่เมื่อมองที่กลุ่ม Gen X ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยสัญญาที่ได้รับอนุมัติของ GEN X มีจำนวน 400,000 บัญชี โดย 50% หรือ 200,000 บัญชี เป็นหนี้เสียไปแล้ว (NPL)

โดยตัวเลขเหล่านี้ได้ทำให้เกิดการประเมินว่าแนวโน้มหนี้เสียในสินเชื่อรถยนต์มีความเสี่ยงสูง เพราะสัญญานของการจ่ายหนี้แบบเลี้ยงงวดชัดเจน มาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 ดังนั้น เครดิตบูโร จึงได้ประเมินว่า ในอีก 4 เดือนข้างหน้าประเทศไทยจะมีลูกหนี้ถูกยึดรถรวม 1,000,000 คัน (ทั้งประเทศ) ซึ่งหนี้เลี้ยงงวดของ GenY เป็นสัดส่วนที่น่ากลัวที่สุดในตอนนี้ สอดคล้องกับข้อมูลจาก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เปิดเผยข้อมูลว่าสินเชื่อยานยนต์ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30-49 ปี หรือวัยทำงานที่มีปัญหาการชำระ ซึ่งคนกลุ่มนี้กำลังอยู่ในช่วงการสร้างเนื้อสร้างตัว

ทีนี้เรามาดูเหตุผลที่ทำให้คน GenY กลายเป็นกลุ่มอายุที่มีหนี้เสียมากที่สุด ซึ่ง Business+ ได้ทำการสรุปมาให้ทั้งหมด 3 ข้อหลักๆ คือ

1. ออมเงินน้อย โดยคน GenY จะมีพฤติกรรมการใช้ก่อนแล้วออมทีหลัง ทำให้มีเงินเก็บเอาไว้ในในยามฉุกเฉินน้อย และมีนิสัยที่ชอบใช้เงินไปกับการท่องเที่ยว อาหาร กาแฟราคาแพง และยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และยังต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้นก็ทำให้เผชิญกับปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายได้จนไม่มีเงินเหลือสำหรับการเก็บออม ดังนั้น หากมีสาเหตุที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจทำให้ทำธุรกิจ หรือทำงานไม่ได้ คนกลุ่มนี้ก็จะมีโอกาสที่จะก่อหนี้ และเป็นหนี้เสียสูงขึ้น

2. รายได้ของคน Gen Y น้อยกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ถึงแม้จะเติบโตในยุคเศรษฐกิจขยายตัวสูง และมีความเจริญของเทคโนโลยี แต่ก็เป็นยุคที่ต้องมีการใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้ นอกจากนี้เป็นช่วงที่มีการแข่งขันทางธุรกิจสูง ทำให้การทำธุรกิจประสบความสำเร็จยาก และสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ช้ากว่าคนรุ่นพ่อแม่

โดย การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) ระบุว่า รายได้ของคนเจนวายทั่วโลกลดลง และสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ช้าขึ้น สาเหตุหลักมาจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ หนี้สินกองทุนเพื่อการศึกษา และราคาบ้านที่สูงลิ่ว ที่ทำให้คน Gen Y ไม่พร้อมกับการสร้างเนื้อสร้างตัว

ขณะที่หากมองในประเทศไทย พบว่าเป็นกลุ่มที่พร้อมจะลงทุนทำธุรกิจของตัวเอง แต่โอกาสที่ธุรกิจของคน Gen Y จะประสบความสำเร็จนั้นมีเพียง 50% หรือครึ่งนึงต้องล้มเหลว โดยทาง OKMD ได้ประเมินว่ามีเพียง 50% เท่านั้นที่จะทำธุรกิจได้สำเร็จ  โดยสาเหตุหลักที่คน Gen Y  ไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ เนื่องจากไม่มีข้อมูลและไม่ได้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งแนวโน้ม โอกาสของตลาด และเทรนด์ของลูกค้าอย่างเพียงพอ รวมทั้งการที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน ซึ่งการล้มเหลวทางธุรกิจก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้คน Gen นี้ต้องประสบปัญหาหนี้สินเช่นกัน

3. ไลฟ์สไตล์ และค่านิยมจากต่างประเทศ เนื่องจาก GenY เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ดังนั้น จึงเข้าถึงค่านิยมจากต่างชาติมากมาย ทั้งวงการเพลง ศิลปะ แฟชั่น รวมไปถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งทำให้คนใน Gen นี้เปิดรับวัฒนธรรมใหม่ๆ เสมอ เช่นการเข้าสู่วงการ Teen Pop ซึ่งพฤติกรรมการชื่นชอบศิลปิน หรือนักแสดงต่างชาติเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับกลุ่ม Gen นี้ และกลายเป็นกลุ่มอายุที่พร้อมจ่ายเงินไปกับการสนับสนุนศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบจำนวนมากเมื่อเทียบกับกลุ่ม Gen อื่น

นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายกับสินค้าตามเทรนด์ โดยมีเหตุผลหลักๆ คือ ต้องมีของตามเทรนด์กลัวเอาท์ มากกว่าซื้อเฉพาะของที่จำเป็น โดยปัจจุบัน Influencer และแคมเปญการตลาดต่างๆ มีอิทธิพลต่อกลุ่มคน Gen Y เป็นอย่างมาก ซึ่งหากเงินไม่พอก็เป็นกลุ่มที่พร้อมใช้บัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดในการใช้จ่าย โดยตั้งแต่ปี 2559 กลุ่ม Gen Y เป็นกลุ่มคนที่ขอสินเชื่อรายใหม่เพิ่มขึ้นในทุกประเภท ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล

ทั้งหมดนี้คือ 3 ประเด็นหลักๆ ที่ทำให้กลุ่ม Gen Y เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านหนี้เสีย ซึ่งการเกิดหนี้เสียกับคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะกลุ่ม Gen Y เป็นแรงงานที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากกลุ่มนี้มีสัดส่วนแรงงานที่มากที่สุดในประเทศไทย

ดังนั้นหากกลุ่มนี้กลายเป็นหนี้เสียก็จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น และหนี้เสียของกลุ่มรถยนต์จะส่งผลกระทบต่อหลายภาคอุตสาหกรรม ทั้งธนาคารหรือบริษัทลิสซิ่งในฐานะผู้ให้กู้ รวมไปถึงกระทบต่อตลาดรถยนต์มือสองที่ราคาจะตกต่ำลงจากการมีรถถูกยึดและนำมาขายทอดตลาดมากขึ้นนั่นเอง

ที่มา : World Economic Forum , BOT , เครดิต บูโร

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #หนี้เสีย #หนี้เน่า #หนี้รถยนต์ #ถูกยึดรถ