ซี อาเซียน จัดเสวนารับการกลับมาของการค้าในภูมิภาคอาเซียน หัวข้อ “กลุ่มอาเซียนจะเปิดประเทศอย่างไร ให้พลิกฟื้นและยืนหยัด”

ศูนย์ ซี อาเซียน ตอกย้ำการเป็นผู้นำความเชื่อมโยงเครือข่ายทุกภาคส่วน เสริมความเข้มแข็งประชาคมอาเซียน เผยแพร่องค์ความรู้ สร้างความมั่นใจในการเปิดภูมิภาคและการค้า ผ่านงานเสวนา C asean Forum 2022 ในรูปแบบสื่อผสม หัวข้อ “Reopening >> Recovery >> Resilience” หรือ “เปิดประเทศอย่างไร ให้พลิกฟื้นและยืนหยัด” มีผู้สนใจร่วมรับฟังแนวปฏิบัติการเปิดภูมิภาค การฟื้นฟู และสร้างการยืนหยัดให้กับภูมิภาคอาเซียนจากทุกมุมโลก

งานเสวนา C asean Forum 2022 นำ 9 ผู้นำองค์กรระดับภูมิภาค เอกอัคราชทูต และผู้เชี่ยวชาญ แบ่งปันความรู้ เผยแพร่แผนธุรกิจ และแนวปฏิบัติเพื่อการฟื้นฟูและเปิดภูมิภาคอาเซียนอย่างยืนหยัด หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานศูนย์ ซี อาเซียน กล่าวถึงวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีระดมความร่วมมือ สร้างแรงบันดาลใจ ให้ภูมิภาคกลับมาฟื้นตัวได้รวดเร็ว และก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน

 

ในประเด็นการเปิดประเทศ ศ. ตานศรี ดร. เจมิลาห์ มาห์มุด (Prof. Tan Sri Dr. Jemilah Mahmood) ผู้ได้รับรางวัลอาเซียน ประจำปี 2019 กล่าวกระตุ้นการร่วมมือกันระดับภูมิภาค เพื่อป้องกันอุบัติภัยทางสาธารณสุขที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ขณะที่ ลิซ ออร์ติเกรา (Ms. Liz Ortiguera) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) นำเสนอความสำคัญและทิศทางการเติบโต ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และนายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แสดงถึงศักยภาพตลาดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19

 

ในหัวข้อด้านการฟื้นฟูภูมิภาค ดาโต๊ะ ลิม จ๊อก ฮอย (H.E. Dato Lim Jock Hoi) เลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงกรอบความร่วมมือหลัก ที่รัฐบาลกลุ่มภูมิภาคอาเซียนได้ตกลงร่วมกันเพื่อการฟื้นตัวของภูมิภาคอาเซียน ดร. เอเคพี ม็อกตาน (Dr. AKP Mochtan) เลขาธิการองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (APO) กล่าวถึง ความสำคัญของการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตที่ต้องคำนึงถึง ความยั่งยืนในทุกมิติ และดาโต๊ะ โจจี แซมูเอล (H.E. Dato’ Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย กล่าวถึง ความพร้อมและศักยภาพของแผนการฟื้นฟูประเทศมาเลเซีย

และปิดท้ายการสัมมนาด้วยประเด็นการสร้างความยืนหยัด นำโดย พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และอธิการบดีกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก กระตุ้นให้ทุกคนเริ่มสร้างความยืนหยัดจากระดับบุคคล โดยนำความเพียรที่จะพัฒนาและสร้างประโยชน์อย่างไม่ย่อท้อ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสังคม นาง สุจิตรา ทุไร (H.E. Ms. Suchitra Durai) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวถึง พลังความร่วมมือระดับภูมิภาค และ เดเชน เซอริง (Ms. Dechen Tsering) ผู้อำนวยการและผู้แทน สำนักงานภาคพื้นเอเซียและแปซิฟิก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อทุกชีวิต และทุกธุรกิจ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

งานเสวนาครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรในหลายภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ดีลอยท์ ประเทศไทย บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)