เปิดยอดขาย BYD ว่าที่ ‘แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า’ ที่ขายดีที่สุดในโลก!

บีวายดี (BYD) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน กลายเป็นแบรนด์ที่เติบโตสวนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มซึมตัวลง โดยล่าสุด BYD ได้เปิดเผยตัวเลขยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในเดือนส.ค.อยู่ที่ 370,854 คัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 30% จากปีที่แล้ว และเดือนก่อนหน้านี้ก็เติบโตได้อย่างโดดเด่นเลยทีเดียว ทีนี้เรามาดูพัฒนาการของแบรนด์ BYD กันค่ะว่า ในช่วงปี 2567 ยอดขายแต่ละเดือนเป็นอย่างไร ปรับตัวขึ้นมากน้อยแค่ไหน

จะเห็นได้ว่าในแต่ละเดือนนั้น BYD สามารถบุกตลาดได้อย่างต่อเนื่องจนยอดขายเพิ่มทำนิวไฮเกือบทุกเดือน รวมยอดขายปัจจุบัน 2,323,189 คัน และเมื่อมองไปดูพัฒนาการในปี 2566 ที่ผ่านมา BYD เองก็ทำผลงานได้โดดเด่นไม่แพ้ปีนี้ โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 บริษัทฯ มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) 525,409 คัน สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท เมื่อนำมาเทียบกับคู่แข่งอย่าง เทสลา (Tesla) ของ อีลอน มัสก์ ถือว่าชนะได้แบบขาดรอย เพราะไตรมาสเดียวกันเทสลามีการส่งมอบรถทั้งหมด 484,507 คัน

แต่ถ้ามองในยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอร์รี่เท่านั้นในปี 2566 เทสลายังคงนำหน้า BYD อยู่ โดยเทสลาขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 1.8 ล้านคัน ส่วน BYD จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 1.57 ล้านคัน

อย่างไรก็ตามการเติบโตของรถยนต์แบตเตอร์รี่ล้วนที่โตอย่างต่อเนื่องของ BYD จากข้อมูลเดือนล่าสุด (ส.ค.) การเติบโตของยอดขายรถ BYD นั้นแบ่งเป็นยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ล้วนของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบ 12% ขณะที่ยอดขายรถยนต์ไฮบริดพุ่งขึ้น 48% และยอดขายของเทสลาร์ที่อาจน้อยลงจากต้นทุนการกู้ยืมเงินในประเทศสูงทำให้ความต้องการจึงอาจลดลง ทำให้ BYD ที่มีจุดแข็งเรื่องราคาที่ต่ำกว่าจากการเป็นผู้ผลิตแบตเตอร์รี่แบบดั้งเดิมได้เปรียบเป็นอย่างมาก (เพราะเรารู้กันดีอยู่แล้วว่า แบตเตอร์รี่นั้นถือเป็นชิ้นส่วนที่ราคาแพงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า)

ขณะที่ข้อมูลเปรียบเทียบของ 2 แบรนด์ยานยนต์เจ้าตลาดล่าสุดมีดังนี้

ทีนี้มาดูตลาดในประเทศกันบ้างค่ะ BYD กับตลาดประเทศไทยนั้น ได้ขึ้นเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในประเทศไทยในปี 2566 โดยมียอดขายมากกว่า 30,500 คัน แซงหน้า NETA และ MG

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรัฐบาลไทยสนับสนุนการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการอุดหนุน ในปี พ.ศ. 2566 สูงสุด 150,000 บาท ต่อคัน ส่งผลให้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวโดยมีปริมาณจำหน่ายกว่า 76,314 คันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 684% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยในปี 2567 เงินอุดหนุนจะลดลงเหลือ 100,000 บาท ต่อคัน

และความสำเร็จในการตีตลาดของ BYD เกิดจากความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ด้วยการเป็นพันธมิตรของ BYD กับ Rever Automotive บริษัทในกลุ่มสยามกลการ (SMG) ที่เป็น “ราชาแห่งยานยนต์ของไทย” เพราะเป็นเจ้าที่ดำเนินธุรกิจรถยนต์เก่าแก่ที่สุดในไทย นอกจากนี้ราคาขาย BYD ไม่สูงมากจนเกินเอื้อม ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย ซึ่งสาเหตุมาจากการที่แบรนด์แห่งนี้สามารถผลิตแบตเตอรี่เองได้ เท่ากับว่าเป็นผู้ควบคุมราคาได้ตั้งแต่ต้นน้ำจึงได้เปรียบในการแข่งขันกับแบรนด์อื่นๆ เป็นอย่างมาก

ที่มา : carnewschina , กรุงศรี

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus

Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #BYD #รถยนต์ไฟฟ้า #รถEV #ยานยนต์ไฟฟ้า #อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า