‘รถเมล์ไทย’ เก่าแค่ไหน? ส่องอายุที่ยังใช้วิ่งในปัจจุบัน บางคันเฉียด 30 ปี! กระทบประชาชนทั้งเวลา-สุขภาพ

ภาพที่คนไทยเห็นกันจนชินตายามสัญจรไปไหนมาไหน คงหนีไม่พ้นภาพของ ‘รถเมล์’ เก่า ๆ ที่บางคันอยู่มายาวนานตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่ยังเป็นวัยรุ่นเลยทีเดียว จนเกิดเป็นคำถามขึ้นมาในใจของใครหลาย ๆ คน ว่าจริง ๆ แล้ว ‘รถเมล์’ แต่ละคันอยู่กับเรามานานแค่ไหนกันนะ? วันนี้ Business+ ได้หาคำตอบมาให้แล้ว พร้อมทั้งได้นำข้อมูลอายุการใช้งานของ ‘รถเมล์’ จากประเทศอื่นมาเปรียบเทียบให้ได้เห็นกันด้วยว่า

 

ก่อนจะไปดูอายุ ‘รถเมล์’ ในปัจจุบัน ขอเล่าย้อนไปถึงจุดกำเนิด ‘รถเมล์’ ในประเทศไทยกันก่อน โดยกิจการ ‘รถเมล์’ ในประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นที่กรุงเทพมหานครเป็นที่แรกในปี พ.ศ. 2450 โดยมี ‘พระยาภักดีนรเศรษฐ’ หรือ ‘นายเลิศ เศรษฐบุตร’ เป็นผู้ริเริ่ม จนเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘รถเมล์นายเลิศ’ โดยได้ทดลองกิจการรถเมล์ขั้นต้นด้วยการใช้ม้าลากรถโดยสารจากสะพานยศเส (กษัตริย์ศึก) ถึงประตูน้ำ แบ่งเป็นรถเทียมม้าเดี่ยวและรถเทียมม้าคู่ อัตราค่าโดยสารคิดเป็นชั่วโมง สำหรับรถเทียมม้าเดี่ยวคิดชั่วโมงละ 75 สตางค์ ขณะที่รถเทียมม้าคู่ชั่วโมงละ 1 บาท

 

ต่อมาในพ.ศ. 2453 ได้สั่งรถบรรทุกยี่ห้อฟอร์ดจากต่างประเทศ และได้ขยับขยายเส้นทางวิ่งให้ไกลขึ้น จากประตูน้ำสระไปจนถึงบางลำพู (ประตูใหม่ ตลาดยอด) โดยรถเมล์ยุคแรกยาวประมาณ 1 ใน 3 ของรถเมล์ปัจจุบัน นั่งได้ 10 คน ตัวรถทาสีขาว มีเครื่องหมายกากบาทสีแดงในวงกลมแดง คนทั่วไปเรียกรถเมล์นี้ว่า ‘รถเมล์ขาว’ ภายหลังมีผู้ลงทุนกิจการรถเมล์ตามแบบนายเลิศเกิดขึ้นอีก 28 ราย ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้มีรถเมล์ขาวทั้งสิ้น 800 คัน มีการกำหนดสายติดหน้ารถไว้ เช่น หลักเมือง-ถนนตก เป็นสายที่ 1 ก็มีเบอร์ 1 ติดหน้ารถ

 

ถัดมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2518 มีคำสั่งให้รวมรถโดยสารประจำทางทุกสายในกรุงเทพฯ มาเป็นบริษัทเดียวกัน เรียกว่า ‘บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด’ ดำเนินกิจการในรูปรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทจำกัด ต่อมาในสมัยรัฐบาลของ ‘หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช’ ได้ออกพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จนเกิดเป็น ‘องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ’ หรือ ‘ขสมก.’ ดำเนินธุรกิจในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ดูแลกิจการ ‘รถเมล์’ จนถึงในปัจจุบัน

 

ทีนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญว่าแล้ว ‘รถเมล์’ แต่ละคันมีอายุกี่ปีแล้วนะ เพราะเท่าที่มองจากสายตาก็พอจะดูออกว่าแต่ละคันล้วนแล้วแต่ผ่านการใช้งาน ผ่านกาลเวลามาไม่น้อยแน่นอน

 

โดยปัจจุบัน ‘ขสมก.’ มีรถโดยสารจำนวน 3,005 คัน แบ่งป็น

 

  • รถธรรมดา (ครีม-แดง) จำนวน 1,520 คัน ประกอบด้วย รถยี่ห้อฮีโน่ จำนวน 490 คัน อายุการใช้งาน 29 ปี, รถยี่ห้ออีซูซุ จำนวน 529 คัน อายุการใช้งาน 29 ปี, รถยี่ห้อฟูโซ่ จำนวน 501 คัน อายุการใช้งาน 29 ปี

 

  • รถปรับอากาศ (ครีม-น้ำเงิน) จำนวน 179 คัน ประกอบด้วย รถยี่ห้อฮีโน่ จำนวน 79 คัน อายุการใช้งาน 25 ปี, รถยี่ห้ออีซูซุ จำนวน 100 คันอายุการใช้งาน 26 ปี

 

  • รถปรับอากาศ ยูโรทู รุ่น 797 คัน จำนวน 201 คัน ประกอบด้วย รถยี่ห้อเบนซ์ จำนวน 1 คัน อายุการใช้งาน 21 ปี, รถยี่ห้ออีซูซุ จำนวน 200 คัน อายุการใช้งาน 22 ปี

 

  • รถปรับอากาศ ยูโรทู รุ่น 500 คัน จำนวน 175 คัน ประกอบด้วย รถยี่ห้อแดวู จำนวน 25 คัน อายุการใช้งาน 19 ปี, รถยี่ห้ออีซูซุ อายุการใช้งาน 19 ปี จำนวน 123 คัน

 

  • รถปรับอากาศ NGV จำนวน 489 คัน อายุการใช้งาน 2 ปี

 

  • รถปรับปรุงสภาพ จำนวน 323 คัน อายุการใช้งาน 22 ปี

 

  • รถไฮบริด (ฮีโน่) จำนวน 1 คัน อายุการใช้งาน 2 ปี

 

  • รถเช่าปรับอากาศ PBC จำนวน 117 คัน (ไม่ระบุอาการใช้งาน)

 

จากข้อมูลทำให้เห็นว่า ‘รถเมล์’ บางคันมีอายุการใช้งานนานเกือบ 30 ปีเลยทีเดียว ซึ่งจากการใช้รถเก่านี้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก โดยผลสำรวจจาก ‘กรุงเทพโพลล์’ ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่สำรวจความเห็นประชาชน เรื่อง ‘ความเดือดร้อนของประชาชน ต่อการใช้บริการรถเมล์ไทย’ โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในกรุงเทพและปริมณฑลที่ใช้บริการรถเมล์ จำนวน 1,151 คน เมื่อวันที่ 17-21 มิถุนายน 2565 พบว่า ปัญหาที่ประชาชนส่วนใหญ่ 89.2% พบจากการใช้บริการรถเมล์ในปัจจุบันคือ รถขาดระยะ ต้องรอรถนาน รองลงมา 44.4% คือ รถแน่น/ขึ้นไม่ทัน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน และ 35.5% คือ รถเก่า/ชำรุด/รถสกปรก

 

ทั้งนี้ผลกระทบที่ประชาชนส่วนใหญ่ 74.5% ได้รับจากปัญหารถเมล์ขาดระยะ ลดเที่ยววิ่ง และยกเลิกสายรถเมล์บางเส้นทาง คือ ไปเรียน/ทำงานสาย/ถึงที่หมายช้ากว่ากำหนด รองลงมา 61.4% คือ ต้องใช้บริการขนส่งทางอื่น ทำให้เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย และ 37.3% คือ ต้องต่อรถเมล์หลายสาย จากเดิมที่นั่งสายเดียวถึง

 

จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ประชาชนต้องเผชิญจากการใช้บริการ ’รถเมล์’ ในปัจจุบัน ที่ยังคงมีการใช้รถเก่ามาวิ่งให้บริการอยู่ ปัญหาที่เจอหลัก ๆ มักจะเป็นในเรื่องของเวลาที่ต้องเสียไปโดยใช่เหตุ

 

นอกจากนี้ การใช้รถเก่ามาวิ่งให้บริการบนท้องถนน ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมากอีกด้วย โดยข้อมูลจาก ‘ธนาคารโลก’ (world bank) เปิดเผยการเก็บข้อมูลเฉพาะการเผาไหม้เชื้อเพลิง (fuel combustion) ในภาคการขนส่งภายในประเทศ ระบุว่า ในปี 2557 ภาคการขนส่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 20.449% ของพลังงานเชื้อเพลิงทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งที่ 24.7%

 

ขณะที่ข้อมูลจาก ‘European Environment Agency’ ในปี 2556 ระบุว่า รถเมล์หนึ่งคัน/ผู้โดยสาร 12 คน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 12.7 กรัม/กิโลเมตร/ผู้โดยสาร 1 คน

 

ด้าน ‘ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง’ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีควันดำของรถเมล์ไทย ระบุว่า  เครื่องยนต์ของรถเมล์ไทยหลัก ๆ มีอยู่ 2 ประเภทคือ เครื่องยนต์ดีเซล, เครื่องยนต์เชื้อเพลิงธรรมชาติ (NGV) และปัจจุบันเริ่มมีการทดลองใช้เครื่องยนต์ไฮบริด (Hybridge) และรถเมล์ไฟฟ้าร่วมด้วย

 

“ควันดำจากท่อไอเสียเครื่องยนต์ดีเซล เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์มักเกิดขึ้นกับรถที่เก่ามาก ๆ เราอาจเคยเห็นเวลาที่รถบรรทุกเร่งเครื่องออกจากไฟแดงแล้วมีควันดำพุ่งออกมา เพราะขณะนั้นรถอยู่ในช่วงที่โหลดสูง อุณหภูมิต่ำ ต้องใช้กำลังมากในการเร่งเครื่องก็ทำให้มีฝุ่นออกมา ทีนี้รถเมล์ไทยซึ่งต้องเหยียบ ๆ เร่ง ๆ จอด ๆ เพราะสภาพรถติดเป็นช่วงๆ รวมกับสภาพรถที่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์และการรับผู้โดยสารล้นเกิน ทำให้เครื่องยนต์ใช้กำลังมาก ควันพิษเหล่านี้ก็จะออกมา”

 

ขณะที่ ‘รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล’ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในควันดำ ๆ ของ ‘รถเมล์’ นั้น มีก๊าซพิษจากท่อไอเสียเครื่องยนต์ดีเซลที่สำคัญ ประกอบไปด้วย คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx), เขม่าหรือฝุ่นละออง, สารประกอบ, ซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx), ไฮโดรคาร์บอน (HC) และอื่น ๆ

 

ซึ่งหากรับคาร์บอนมอนนอกไซด์มาก ๆ ร่างกายจะได้รับออกซิเจนน้อยลง โดยหากดูแลเครื่องยนต์ไม่ดี เก่า สภาวะการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ใหม่ รถคันนั้นก็จะยิ่งปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์มากขึ้น อีกทั้งควันดำอาจตกลงอาหารตามร้านข้างทาง รวมไปถึงเสื้อผ้าของประชาชนในบริเวณนั้นได้อีกด้วย และที่สำคัญที่สุด ควันดำเหล่านี้ยังก่อให้เกิด PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบกับผู้คนอย่างมีนัยสำคัญ

 

นอกจากนี้ รายงานประจำปี 2559 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้เปิดเผยถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการขาดทุนจากการดำเนินงานและหนี้สะสม พบว่าสภาพรถโดยสารที่ทรุดโทรมจากการใช้งานมานานเกิน 17 ปี ทำให้มีรถจอดเสียรอซ่อมเฉลี่ยวันละ 320 คัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดหนี้อีกด้วย

 

จากข้อมูลเหล่านี้ คงพอจะชี้ให้เห็นแล้วว่าการที่ประเทศไทยยังคงนำ ‘รถเมล์’ เก่า ๆ มาให้บริการประชาชนอยู่ ถือเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน เพราะนอกจากสุขภาพกายจะเสียแล้ว การรอ ‘รถเมล์’ เป็นเวลานานในชั่วโมเร่งรีบ ก็พลอยทำลายสุขจิตไปด้วยเช่นกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วปัญหา ‘รถเมล์’ เก่าจะแก้ไขได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ที่มา : ไทยรัฐ, วิกิพีเดีย, thansettakij, bangkokpoll,greennews

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #รถเมล์ #รถเมล์ไทย #รถบัส #Bus