BTS

BTS มูลค่าบริษัทหายไปมากกว่าหมื่นล้านบาท หลังขาดทุนจากการตัดขาย ‘Kerry’

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ประกาศงบประจำปี 2566/67 (เม.ย. 2566 – มี.ค. 2567) ขาดทุนสุทธิไปมากถึง 5,241 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกำไร 1,836 ล้านบาท ถึงแม้ว่าในปีนี้จะมีรายได้รวม 24,387 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วราว 248 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น 1,094 ล้านบาท และรายได้จากการบริการที่เพิ่มขึ้น 726 ล้านบาท หลักๆเกิดจากรายได้ธุรกิจสื่อโฆษณา และการรับรู้รายได้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูเป็นครั้งแรก ควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M)

แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ถูกหักลบไปกับรายได้จากธุรกิจรับเหมาที่ลดลงไปมากถึง 904 ล้านบาท (เพราะรถไฟฟ้าสายสีเหลือและสายสีชมพูเปิดให้บริการไปแล้ว)

นอกจากนี้เมื่อไปดูในส่วนของค่าใช้จ่าย เราพบว่าค่าใช้จ่ายรวมของ BTS เพิ่มขึ้น 24.7% หรือ 4,333 ล้านบาท จากปีก่อน เกิดจากการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าและจำหน่ายเงินลงทุนใน บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือที่เราคุ้นเคยกับชื่อของขนส่งเคอร์รี่ ด้วยตัวเลขที่มากถึง 4,363 ล้านบาท

ซึ่งการด้อยค่าจากการขายเงินลงทุนนี้ เกิดขึ้นหลังจาก BTS ขายหุ้น KEX ให้กับ SF Express ผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่ของจีนไปจำนวน 2.7176% เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าการตัดขายจะได้รับเป็นเงินกลับมา แต่ก็ทำให้เกิดการด้อยค่าของเงินลงทุน เพราะที่ผ่านมาผลประกอบการของ KEX ย่ำแย่จนทำให้มูลค่ายุติธรรมของ KEX ในปัจจุบันต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี โดยที่มูลค่าทางบัญชี คือ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของบริษัทตามงบดุล แต่มูลค่าตลาด คือ มูลค่าของบริษัทตามราคาหุ้น (ในปัจจุบัน)

ขณะที่ ‘Business+’ พบข้อมูลว่า BTS เข้าลงทุนครั้งแรกใน KEX จำนวน 1.297% ด้วยราคาที่สูงถึงหุ้นละ 65 บาท และลงทุนครั้งที่ 2 อีกจำนวน 0.4590% ที่ราคา 16 บาท แต่ขายไปในราคา 5.50 บาทต่อหุ้น (ปัจจุบันราคาหุ้น KEX ในตลาดต่ำลงมาจนถึง 4 บาท)

แสดงให้เห็นว่า BTS เข้าซื้อหุ้นที่ราคาสูงได้เลือกลงทุนแบบผิดเวลา จนทำให้เกิดการด้อยค่าจากลงทุนสูง เพราะที่ผ่านมา KEX ต้องเจอกับสภาพคล่องทางการเงิน และมีผลขาดทุนสะสมจากการแข่งขันขนส่งพัสดุด่วนที่ดุเดือด ส่งผลให้ผลประกอบการภาพรวมออกมาขาดทุนอย่างหนัก และส่งผลให้ BTS ต้องบันทึกผลขาดทุนตามสัดส่วนที่ถือหุ้นอยู่ใน KEX ตามไปด้วย

ส่วนผลกระทบในแง่ของมูลค่าบริษัทนั้น เกิดขึ้นเพราะว่า ถึงแม้การตัดจำหน่ายนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียว และการเลือกตัดขายไปก็จะทำให้ BTS ไม่ต้องแบกรับภาระจาก KEX ในงบการเงินอีกต่อไปต่อจากนี้ แต่การขาดทุนในปีนี้ก็ทำให้ BTS ต้องประกาศงดจ่ายปันผลอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ก็ได้งดจ่ายปันผลระหว่างกาลในผลการดำเนินงานงวดดำเนินงานวันที่ 1 เม.ย. 2566 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2566 จนทำให้เกิดการเทขายหุ้นของ BTS ออกมาในวันนี้ (31 พ.ค.67) จากราคาหุ้นวันที่ 30 พ.ค.ซึ่งอยู่ที่ 5.85 บาท ลงมาเหลือ 4.80 บาท

ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ซึ่งเกิดจากการนำเอาจำนวนหุ้นจดทะเบียนมาคูณกับราคาหุ้นนั้นลดลงจากเดิมอยู่ที่ราวๆ 77,030 ล้านบาท ลดลงมาเหลือเพียง 63,205 ล้านบาทในวันนี้ คิดเป็นการลดลงของมูลค่าไปถึง 13,825 ล้านบาทภายในวันเดียว

อย่างไรก็ตามยังเป็นที่น่าจับตามองต่อว่า ภายหลังจากที่ BTS ขายหุ้น KEX ออกไป จะทำให้กลุ่มบริษัทไม่มีการรับรู้ขาดทุนในอนาคตจากธุรกิจขนส่งที่ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือด จนทำให้กลับมามีกำไรสุทธิได้หรือไม่?

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : Set
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #BTS #บีทีเอส #ราคาหุ้นบีทีเอส #KEX #KERRY