‘ปัญหาสมองไหล’ หนึ่งในข้อกังวลที่ไทยอาจต้องเผชิญ

หนึ่งในวลียอดฮิตช่วงต้นเดือนกลางปี 2021 ที่ผ่านมา คือ ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ ซึ่งเป็นกระแสขึ้นมาหลังจากคนรุ่นใหม่ชวนกันย้ายประเทศหลังจากเจอแรงกดดัน จากภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และสวัสดิการของประเทศที่ไม่ตอบโจทย์ ซึ่งการย้ายถิ่นฐานเพื่อไปทำงานต่างประเทศนั้น จริง ๆ แล้วมีทั้งข้อดีและข้อเสียสำหรับประเทศต้นทาง

โดยเรามาว่ากันที่ข้อดีกันก่อน สำหรับประเทศต้นทางแล้วมีข้อดีหลัก ๆ 2 ส่วนคือ ในกรณีที่ประเทศต้นทางมีความต้องการแรงงานที่ไร้ฝีมือลดลง (แรงงานไร้ฝีมือ คือผู้ที่ทำงานในลักษณะงานง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ ความสามารถมาก เช่น คนงาน กรรมกรผู้ใช้แรงงาน) หากประเทศนั้น ๆ ประชาการย้ายถิ่นฐานออกไปทำงานต่างประเทศมากขึ้นก็จะช่วยลดปัญหาการว่างงาน และทำให้ค่าจ้างแรงงานในประเทศมีระดับสูงขึ้น

อธิบายง่าย ๆ อย่างเช่น หากประเทศเราไม่ได้ต้องการกรรมกรจำนวนมาก แต่แรงงานประเภทนี้ในบ้านเรามีจำนวนมาก ก็จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูง แต่ถ้าหากแรงงานได้มีการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่นก็จะทำให้ปัญหาว่างงานน้อยลง และค่าจ้างแรงงานในประเทศก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

ส่วนข้อดีอีกข้อคือ แรงงานอพยพเคลื่อนย้ายไปยังต่างประเทศนั้น จะส่งรายได้ส่วนหนึ่งกลับประเทศ บ้านเกิดหรือประเทศต้นทาง ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

อย่างไรก็ตามสำหรับบางประเทศแล้ว ถึงแม้การเคลื่อนย้ายไปยังต่างประเทศจะมีข้อดี แต่ก็ยังมีข้อเสียเช่นเดียวกัน หากเป็นแรงงานมีฝีมือหรือทักษะระดับสูง อย่างเช่นบุคลากรทางการแพทย์ ทางด้านเทคโนโลยี หรือทางวิศวกรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่ประเทศต้นทางยังขาดแคลน เพราะการเคลื่อนย้ายแรงงานเหล่านี้จะทำให้เกิด “ปัญหาสมองไหล” (Brain drain)

หรือปัญหาที่เกิดหลังจากแรงงานทักษะสูง หรือคนเก่งในประเทศ อพยพไปทำงานอยู่ต่างประเทศจำนวนมาก และเป็นจำนวนมากพอที่จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ

โดยผลเสียเหล่านั้น ได้แก่ความสูญเสียโอกาส และสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศต้นทางที่จะได้ใช้ประโยชน์จากแรงงานที่มีทักษะสูงมาใช้ในการพัฒนา ประเทศ ถึงแม้ว่าประเทศต้นทางจะได้รับเงินส่งกลับจากแรงงานที่มีทักษะสูงจำนวนมากก็ตาม

แม้ในปัจจุบันไทยยังเผชิญภาวะสมองไหลน้อยกว่าหลายประเทศ เช่น อิหร่าน จีน ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ แต่ก็ถือว่ามีโอกาสที่จะเจอกับปัญหาสมองไหลอย่างแท้จริงในอนาคต เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนมากแสดงออกว่าต้องการย้ายประเทศ และปัจจุบันเราเริ่มเจอกับปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูงเฉพาะทาง

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำคือ พัฒนาการศึกษา ร่วมไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงสวัสดิการที่ดี เพราะทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ช่วยให้ประเทศไม่ต้องเผชิญกับปัญหาสมองไหลในอนาคต

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต ,agenda.co.th

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #สมองไหล #ภาวะสมองไหล