ส่อง 5 เทรนด์เครื่องดื่มปี 2567 ที่ผู้ประกอบการห้ามพลาด

พฤติกรรมการกินของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนตามความนิยมเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มถูกจัดอยู่ในกลุ่มตลาด Red Ocean เพราะมีการแข่งขันที่สูง สินค้ามีทั่วไปตามท้องตลาด เนื่องจากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งการแข่งขันในตลาด Red Ocean ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตลอดเวลาเพื่อให้ตามทันผู้เล่นรายอื่น

แต่ทั้งนี้แม้จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคก็สามารถก้าวข้ามไปยังตลาด Blue Ocean ได้เช่นกัน เพียงแค่ปรับเปลี่ยนมุมมองในการทำธุรกิจ พร้อมกับปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยเป็นการสร้างความต้องการ (Demand) ใหม่ขึ้นมา ผ่านการพัฒนาสินค้าขึ้นมาใหม่ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่มีอยู่แล้ว ซึ่งการจะใช้กลยุทธ์นี้ต้องอาศัยการสำรวจจตลาดอย่างรอบคอบ และเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้

โดย ‘Business+’ ได้มีการสำรวจ 5 เทรนด์เครื่องดื่มที่สำคัญของปี 2567 ที่ผู้ประกอบการอาจต้องจับตามอง เพื่อให้ก้าวทันตามความต้องการของผู้บริโภคและจะช่วยให้แบรนด์สามารถเติบโตต่อไปได้ ดังนี้

1.เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสินค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพมากขึ้น และเครื่องดื่มหลายยี่ห้อก็ได้เติมเต็มความต้องการนั้น โดยได้พัฒนาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสมุนไพร ผลไม้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำผักผลไม้สกัดเย็น การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล การลดน้ำตาลหรือโซเดียมลง ซึ่งจากกรายงานของ Consumer Outlook ประจำปี 2566 ของบริษัทข้อมูลผู้บริโภคชั้นนำของโลก (NIQ) พบว่า 46% ของผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต และและชาวอเมริกัน 47% มีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อยหนึ่งในสามที่มีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจ จึงไม่น่าแปลกใจที่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจะเห็นประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้

การที่ผู้ประกอบการมีการพัฒนาเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพขึ้นมาก็เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพโดยเฉพาะ ซึ่งประโยชน์เหล่านี้สามารถกำหนดเป้าหมายได้หลากหลาย ตั้งแต่การเพิ่มพลังงานและภูมิคุ้มกันไปจนถึงการปรับปรุงการทำงานของการรับรู้และสุขภาพของลำไส้ ซึ่งแบรนด์ที่นำเสนอเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ทางร่างกาย และมีความแตกต่างจะทำให้เกิดการได้เปรียบในการแข่งขัน

2.ความมีเอกลักษณ์

ปัจจุบันผู้บริโภคกำลังมองหาเครื่องดื่มที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาจอยู่ในรูปแบบเครื่องดื่มที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการและความชอบส่วนบุคคล โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สิ่งนี้ช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์เครื่องดื่มที่บ้าน เช่น อุปกรณ์ชงคอมบูชา (Kombucha), ม็อกเทล เป็นต้น

ซึ่งการพัฒนาที่น่าสนใจในปี 2567 คือ การเพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่แนะนำการผสมผสานเฉพาะบุคคลและบริการสำหรับสมาชิก โดยแพลตฟอร์ม AI เหล่านี้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้ เช่น รสชาติที่ชอบ ข้อจำกัดด้านอาหาร เพื่อสร้างรสชาติให้มีความเป็นเอกลักษณ์

3.วัตถุดิบจากพืช

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความนิยมในอาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพืชเพิ่มขึ้นอย่างมาก ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าผู้บริโภคจะเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อตลอดปี 2566 แต่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มนมทางเลือกกลับมีการเติบโตที่โดดเด่น ซึ่งหมวดหมู่ดังกล่าวมียอดขายผ่าน Omni ในสหรัฐอเมริการวม 3.1 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยน้ำมะพร้าวเพิ่มขึ้น 12.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ น้ำมะนาวเพิ่มขึ้น 6.6%

4.ความยั่งยืน

ความยั่งยืนกลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับแบรนด์เครื่องดื่ม ซึ่งผู้บริโภคไม่เพียงแต่ตระหนักมากขึ้นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเลือกของพวกเขาเท่านั้น แต่กฎระเบียบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลแต่ละประเทศก็กำลังขยายครอบคลุมทั่วโลก ปัจจุบันแบรนด์เครื่องดื่มหลายแห่งได้ให้ความสำคัญกับการนำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้แล้ว โดยความพยายามเหล่านี้ไม่เพียงแต่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังปรับปรุงภาพลักษณ์ของแบรนด์และดึงดูดผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย สำหรับในปี 2567 แนวโน้มการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนจะเติบโตมากขึ้น

5.Global Gains

ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกามีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น สะท้อนให้เห็นได้จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับรสชาติที่แปลกใหม่และมีความเป็นสากล อย่างเครื่องดื่มที่ครั้งหนึ่งเคยหาได้ยากบนชั้นวางของในอเมริกา ปัจจุบันมีจำหน่ายทั้งทางออนไลน์และหน้าร้าน ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญ คือ การทำความเข้าใจตลาดเป้าหมาย และมุ่งเน้นความพยายามไปยังพื้นที่ที่มีโอกาสมากที่สุดอย่างชาญฉลาด ซึ่งหมายความว่า ต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับตลาดและอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องก่อนดำเนินการผลิต

.

ที่มา : nielseniq, zortout

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/ 

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #เครื่องดื่ม #อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม #เทรนด์เครื่องดื่ม