รู้จัก ‘เบทาโกร’ บริษัทรายได้เฉียดแสนล้าน เจ้าของแบรนด์ ‘S-Pure’ และ ‘Betagro’ ที่กินเรียบห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์อาหารไม่แพ้ ‘ซีพี’

ถึงเวลาที่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารครบวงจรที่เราคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดีกับชื่อแบรนด์ ‘เบทาโกร’ และ ‘เอสเพียว’ ได้ยื่นหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อ ก.ล.ต. เพื่อขายหุ้น IPO จำนวน 500 ล้านหุ้น (25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้ว) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น (SET) ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

โดย เบทาโกร จะเข้าตลาดหุ้นด้วยเกณฑ์เข้าจดทะเบียน Profit test ซึ่งรายได้และกำไรสุทธิในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถือว่ามีการเติบโตโดดเด่น

– ปี 2562 มีรายได้รวม 75,188.4 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,267.5 ล้านบาท
– ปี 2563 มีรายได้จำนวน 80,631.5 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,341.0 ล้านบาท
– ปี 2564 มีรายได้จำนวน 86,743.7 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 839.0 ล้านบาท

ในปี 2564 มีสินทรัพย์รวม 57,475.1 ล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินรวม 41,952.9 ล้านบาท

โดย เบทาโกร บริหารงานภายใต้ตระกูล ‘แต้ไพสิฐพงษ์’ ในเชิงอุตสาหกรรมถือว่าเป็นคู่แข่งของเครือ CP ของ ‘เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์’ เพียงแต่เบทาโกรนั้น ยังมีส่วนแบ่งการตลาดน้อยกว่า CP เมื่อเทียบรายได้กับ CPF (เฉพาะธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และอาหาร) มีรายได้ปี 2564 อยู่ที่ 512,704 ล้านบาท

จะเห็นว่า รายได้ของเบทาโกร ยังค่อนข้างน้อยกว่า CPF เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการเข้าตลาดหุ้นในครั้งนี้จะเปิดทางให้เบทาโกร มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นเบทาโกรจะมีเงินสำหรับการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อจะนำไปต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจกลุ่มธุรกิจอาหารเพื่อการบริโภคซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับเบทาโกรได้สูงที่สุดในธุรกิจทั้งหมด

ทั้งนี้ เบทาโกร เริ่มต้นประกอบธุรกิจอาหารสัตว์ในปี 2510 และขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจปศุสัตว์ และธุรกิจอาหารในปี 2515 จนกระทั่งในปี 2539 ได้ขยายการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องโดยครอบคลุมในทุกด้านของห่วงโซ่คุณค่าอาหารไปจนถึงธุรกิจอื่น ๆ

ข้อมูลล่าสุดพบว่า ณ สิ้นปี 2564 เบทาโกร เป็นผู้ดำเนินงานโรงงานอาหารสัตว์ 9 แห่ง ฟาร์ม 4,829 แห่ง (ประกอบไปด้วย ฟาร์มที่เป็นเจ้าของเองทั้งหมด 61 แห่ง และอีก 4,768 แห่งเป็นฟาร์มเกษตรพันธสัญญา) ขณะที่มีโรงชำแหละสัตว์ 13 แห่ง และโรงงานแปรรูป 12 แห่งสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง 1 แห่ง และโรงงานผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ 1 แห่ง

สำหรับในประเทศกัมพูชา เบทาโกร เป็นผู้ดำเนินงานโรงงานอาหารสัตว์ 1 แห่ง และฟาร์ม 331 แห่ง (ประกอบไปด้วยฟาร์ม 8 แห่งซึ่งเป็นฟาร์มที่เช่ามา และอีก 323 แห่งซึ่งเป็นฟาร์มเกษตรพันธสัญญา) และในประเทศลาวเป็นผู้ดำเนินงานฟาร์ม 131 แห่ง (ประกอบไปด้วยฟาร์ม 3 แห่งซึ่งเป็นฟาร์มที่เช่ามา และอีก 128 แห่งซึ่งเป็นฟาร์มเกษตรพันธสัญญา) และโรงชำแหละสัตว์ 1 แห่ง

นอกจากนี้ เบทาโกร ยังได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา ศูนย์นวัตกรรมการเกษตร ศูนย์นวัตกรรมอาหาร และศูนย์นวัตกรรมสัตว์เลี้ยงเพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ และเพิ่มผลิตภาพ และประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทฯ

สำหรับธุรกิจในเครือของ เบทาโกร แบ่งออกได้เป็น 9 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่

1. กลุ่มธุรกิจเกษตร : การผลิตอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ และสารเสริมสำหรับสัตว์ อุปกรณ์และเครื่องมือฟาร์มที่หลากหลาย และการให้บริการห้องปฏิบัติการ

2. กลุ่มธุรกิจอาหารเพื่อการบริโภค : การผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารในบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย อันได้แก่ เนื้อสด ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งปรุงสุก และผลิตภัณฑ์อาหารปรุงสุก และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน

3. กลุ่มธุรกิจส่งออก : การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารส่งออกไปยังต่างประเทศ

4. กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ชนิดไม่แบ่งบรรจุ : การผลิตและการจัดจำหน่ายเนื้อสัตว์ในปริมาณมากให้แก่ช่องทางค้าปลีกแบบดั้งเดิมในประเทศไทย

5. กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์จากสัตว์และผลิตภัณฑ์พลอยได้และอาหารอื่น ๆ : การจำหน่ายชิ้นส่วนของสัตว์ที่เหลือจากกระบวนการชำแหละ และการผลิตและจำหน่ายโปรตีนทางเลือกจากพืช

6. กลุ่มธุรกิจปศุสัตว์ : การจำหน่ายปศุสัตว์ให้แก่ฟาร์มและผู้แปรรูปอาหารรายอื่น ๆ ในประเทศไทย

7. กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ : การประกอบธุรกิจในประเทศกัมพูชา ประเทศลาว และประเทศเมียนมา เพื่อการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึง อาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ อุปกรณ์ฟาร์ม และผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงสุกร สัตว์ปีก ไข่ไก่ เนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารแปรรูป

8. กลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง : การผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง ขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยง

9. กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เกี่ยวกับการฝึกอบรมและสัมมนา และธุรกิจเพื่อสังคมของบริษัทฯ ซึ่งขายอุปกรณ์ฟาร์มไก่ไข่ รวมถึงให้บริการให้คำปรึกษา

จะเห็นได้ว่า เบทาโกร เป็นผู้ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และอาหารครบวงจรชั้นนำในประเทศไทย ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์สุกร สัตว์ปีก และไข่ไก่ อาหารแปรรูปที่เกี่ยวข้อง และอาหารสัตว์เลี้ยงไม่แพ้ ‘เครือซีพี’

รวมถึงยังมีการจัดจำหน่ายอุปกรณ์ฟาร์ม และการดำเนินงานด้านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง โดยมีรูปแบบการทำธุรกิจแบบครบวงจรที่ครอบคลุมในหลายด้านของห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ (Value Chain) ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเพาะเลี้ยง และจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์สัตว์ การทำฟาร์มเชิงพาณิชย์ การชำแหละและการแปรรูปเนื้อสัตว์ ไปจนถึงการขายโรงงานผลิตและแปรรูปอาหาร ตลอดจนความสามารถในการวิจัย

จุดเด่นเรื่องความครบวงจรทำให้บริษัทแห่งนี้มีจุดแข็งเป็นอย่างมากที่จะสามารถควบคุมประสิทธิภาพ และควบคุมทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่าของอาหาร ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพ และบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และเป็นที่น่าจับตาว่า เบทาโกร ภายใต้การดูแลจาก ‘บล.เกียรตินาคินภัทร’ และ ‘บล.บัวหลวง’ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินจะได้รับการตอบรับดีแค่ไหนสำหรับการระดมทุนในครั้งนี้ และแผนการขยายธุรกิจด้วยการเข้าตลาดหุ้นจะทำให้เบทาโกร ขยับเข้าใกล้เครือซีพีไปอีกขั้นได้หรือเปล่า?

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : SET, กลต.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เบทาโกร #เอสเพียว #ตลาดหุ้น #STOCK #หุ้น #ตลาดหุ้น