“เบทาโกร” จับมือ ม.เกษตร และกรมอุทยานฯ ดำเนินโครงการอนุรักษ์ เพาะพันธุ์ และเพิ่มประชากรไก่ป่า มุ่งรักษาแหล่งพันธุกรรม และสร้างความมั่นคงทางอาหาร

“บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)” ร่วมกับ “คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” และ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ร่วมสืบสานพระราชปณิธานของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” เกี่ยวกับการส่งเสริมการเพาะขยายพันธุ์ไก่ป่า และปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติ เพื่อเป็นคลังอาหาร และต่อยอดเป็นความมั่นคงทางอาหารของชุมชน โดยร่วมกันดำเนิน “โครงการอนุรักษ์ เพาะพันธุ์ และเพิ่มประชากรไก่ป่าคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อรักษาแหล่งพันธุกรรมและความมั่นคงทางอาหาร” โดยมี “นายจักริน แต้ไพสิฐพงษ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร สำนักบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) “ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “ว่าที่ รต.วีระศักดิ์ ว่องทรง” ผู้แทนอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ “รศ.ดร.อภิสิฏร์ ศงสะเสน” คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมแถลงข่าวโครงการ ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สำหรับโครงการอนุรักษ์ เพาะพันธุ์ และเพิ่มประชากรไก่ป่าคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อรักษาแหล่งพันธุกรรมและความมั่นคงทางอาหารที่เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงานในครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนการเพิ่มจำนวนไก่ป่าที่ได้รับการตรวจสอบแหล่งพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีจีโนมมิกส์ แล้วปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเป็นคลังอาหารของชุมชนต่อไป

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา “คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” และ “สำนักบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)” ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนิน “โครงการอนุรักษ์ เพาะพันธุ์ และเพิ่มประชากรไก่ป่า ไก่พื้นเมือง และไก่ประจำถิ่นเพื่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน” เพื่อเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และระบบนิเวศในธรรมชาติ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชน รวมถึงการส่งเสริมพัฒนางานวิชาการ บุคลากร การศึกษาวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางด้านพันธุกรรมไก่ป่า ไก่พื้นเมือง และไก่ประจำถิ่น ตลอดจนการเผยแพร่องค์ความรู้ออกสู่สาธารณะ