3 กลยุทธ์แบรนด์เครื่องสำอางไทย ‘Beauty Buffet’ใช้รับมือพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค COVID-19

หลายคนคงจะคุ้นเคยกับแบรนด์เครื่องสำอาง ‘Beauty Buffet’ ที่มีสาขามากมายทั้งในห้างสรรพสินค้าอย่าง เซ็นทรัล บิ๊กซี ละอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งแบรนด์ Beauty Buffet เป็นแบรนด์ภายใต้ บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น และมีแบรนด์เครื่องสำอางนอกจาก Beauty Buffet อีก คือ บิวตี้ คอทเทจ (BEAUTY COTTAGE), และ เมด อิน เนเจอร์ (MADE IN NATURE)

บิวตี้ คอมมูนิตี้ ถือว่าได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เป็นอย่างมาก เนื่องจากสัดส่วนรายได้เฉลี่ยต่อเดือนในช่วงก่อนเกิด COVID-19 มาจากการจำหน่ายสินค้าในประเทศ 50% และส่งออกไป 50% ซึ่งเมื่อเจาะเข้าไปในสัดส่วนส่งออก พบว่า ลูกค้าจากประเทศจีนสูงถึง 80% ของสัดส่วนการส่งออก

ดังนั้นในช่วงที่นักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ จะได้รับผลกระทบ เพราะส่วนใหญ่ชาวจีนมักจะหิ้วสินค้าแบรนด์ Beauty Buffet กลับไปจำนวนมาก ขณะที่ด้านการส่งออกก็ยังเจอความท้าทายเนื่องจากปัจจุบันกลุ่มลูกค้าในประเทศจีนเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยหันมาใช้สินค้าจีนมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลจีนส่งเสริมให้คนใช้สินค้าแบรนด์จีน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายมากขึ้น ทำให้ความนิยมในสินค้าต่างประเทศลดลง เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ บิวตี้ คอมมูนิตี้ ต้องกลับมาทำการตลาดใหม่อีกครั้ง

ผลกระทบดังกล่าวสะท้อนออกมาจากผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนของปี 2564 ที่ผ่านมา มีรายได้ 294.52 ล้านบาท ลดลง 50.31% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 และขาดทุนสุทธิ 72.33 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนลดลงจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 123.79 ล้านบาท

สำหรับสัดส่วนรายได้ปี 2564 แบ่งเป็นรายได้จากร้านค้าปลีก 42.39% ต่างประเทศ 36.27% อีคอมเมิร์ช 11.47% โมเดิร์นเทรด 3.90% เจเนอรัลเทรด 2.15% และอื่น ๆ 3.82% จากผลขาดทุนสุทธิส่งผลให้บริษัทมีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) -11.88% และมีอัตราส่วนผลตอบแทนจากสินทรัพย์ -9.35% อย่างไรก็ตามบริษัทยังถือว่ามีสภาพคล่องด้านการเงินค่อนข้างดี

โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 0.26 เท่า และอัตราส่วนสภาพคล่อง ค่อนข้างสูงที่ 5.14 เท่า แสดงให้เห็นว่าบริษัทยังมีสภาพคล่องดี สินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน เท่ากับว่า สินทรัพย์ขณะนี้เพียงพอที่จะจ่ายหนี้ระยะสั้น

ล่าสุด บริษัทได้แถลงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2565 โดยทำให้ ‘Business+’ คาดการณ์ว่า บริษัทแห่งนี้จะสามารถล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ทั้งหมด 34.43 ล้านบาท ได้เกือบทั้งหมดได้ในปี 2565

ซึ่ง ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิวตี้ คอมมูนิตี้ เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทวางเป้าหมายผลประกอบการกลับมามีกำไร มีฐานะการเงิน กระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง คาดว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 65% หรือ อยู่ที่ประมาณ 680 ล้านบาท และรักษาอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 10% โดยสัดส่วนรายได้แบ่งตามช่องทางการจัดจำหน่าย ประกอบด้วย ช่องทางต่างประเทศ 37% ช่องทางค้าปลีก (Retail) 27% ช่องทางค้าส่ง (Trading) 24 % และช่องทาง E-Commerce 12%

โดยกำหนดกลยุทธ์เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ โดยเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน และพัฒนาธุรกิจให้กลับมาแข็งแกร่งภายใน 3 ปี โดยในปีนี้จะเริ่มจาก 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

1. พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ (Re Model) โดยปรับเพิ่มช่องทางจำหน่ายหลักจากร้าน BEAUTY BUFFET เป็นการพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดแมสอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านตัวแทนจำหน่าย 13 รายใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งจะเน้นการขยายจุดจำหน่ายสู่ร้าน General Trade ทั้งในรูปแบบวางจำหน่ายสินค้าในร้านค้าและรูปแบบ Store in Store ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศรวม 8,600 แห่ง พร้อมทั้งเน้นการกระจายสินค้าเข้าสู่ร้าน Modern Trade รวม 6,000 แห่ง และเพิ่มสินค้าใหม่ในจุดจำหน่ายเดิม
.
2. ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ (Refresh Branding) โดย BEAUTY BUFFET SHOP จะเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ให้มีความทันสมัย เป็น Professional ด้านผลิตภัณฑ์ การแนะนำเกี่ยวกับความงามอย่างครบวงจร สำหรับกลุ่มลูกค้าทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งขณะนี้บริษัทได้ทยอยปรับปรุงสาขาไปแล้วจำนวน 3 แห่ง คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ทั้ง 50 แห่งทั่วประเทศ ภายในไตรมาส 2/65

ซึ่งช่องทาง E-Commerce จะเน้นเพิ่มความสามารถการนำเสนอสินค้ากับกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น พัฒนาระบบบริหารจัดการสินค้าให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพิ่มแพลตฟอร์มการเข้าถึงสินค้าให้มีความหลากหลาย

ส่วนช่องทางตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าวางจำหน่ายใน 13 ประเทศ (จีน ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม พม่า ลาว มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ อินเดีย ญี่ปุ่น) ในปีนี้จะเน้นกระจายสินค้าเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ และทำการตลาดให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในวงกว้างร่วมกับตัวแทนจำหน่ายมากขึ้น

ขณะที่โมเดลการขายแบบ Product License ในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของ BEAUTY ปัจจุบันมีสินค้าทั้งสกินแคร์และเมคอัพ ที่ตัวแทนนำไปผลิตและจำหน่ายรวม 12 รายการ คาดว่าในปีนี้มีโอกาสเติบโตมากขึ้น เนื่องจากสามารถออกสินค้าได้รวดเร็ว ลดขั้นตอน ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า-ส่งออก และตรงความต้องการของกลุ่มลูกค้า บริษัทมีแผนขยายตัวแทนจำหน่ายและจำนวนรายการสินค้าที่ให้ License เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

3. ปรับโครงสร้างบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ (Re Structuring) โดย BEAUTY ยังมีการปรับโครงสร้างการดำเนินงาน การบริหาร (Re Structuring) ครั้งใหญ่ ลดขนาดองค์กรให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ และสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิต การขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหารได้อย่างต่อเนื่อง และการบริหารจัดการตัวแทนจำหน่าย เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อขยายตลาดตาม Business Model ใหม่ต่อไป

จากกลยุทธ์หลักทั้ง 3 ข้อ ทำให้เห็นว่า เป้าหมายพลิกกลับมาเป็นกำไรของ บิวตี้ คอมมูนิตี้ อาจจะไม่ยากเย็นนัก โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างธุรกิจที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง แลแผนการขยายช่องทางขายออนไลน์ซึ่งเหมาะกับยุค COVID-19 ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยจะส่งผลดีต่อกำไรสุทธิในอนาคต

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : SET, BEAUTY

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง #เครื่องสำอาง #Beauty Buffet #Beauty