ลองจินตนาการถึงธุรกิจที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงเต็มไปด้วยไอเดียสดใหม่ แต่เมื่อนำเสนอแนวคิดเหล่านั้นต่อผู้บริหารรุ่นเก่า กลับถูกปัดตกด้วยคำพูดที่คุ้นเคย “เรื่องแบบนี้…เคยลองแล้ว” หรือคำพูดที่ว่า “ไม่น่าจะเวิร์ก” ซึ่งคำพูดเหล่านี้ในแง่หนึ่งได้สะท้อนประสบการณ์อันล้ำค่าที่สั่งสมมา แต่ในอีกมุมหนึ่งก็กลายเป็น ‘TAGA’ ซึ่งมีความหมายว่า ข้อจำกัดทางความคิด ที่อาจเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
มารู้จักคำว่า TAGA : พันธนาการที่มองไม่เห็น
TAGA (箍) คำในภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึง “ห่วง” ที่ใช้รัดหรือยึดสิ่งของเข้าด้วยกัน โดยในโลกธุรกิจ TAGA ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำพูด แต่เป็น “กรอบความคิด” ที่จำกัดจินตนาการและความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งเปรียบได้กับ “กำแพง” ที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์ ความเชื่อ หรือความกลัว ทำให้เราไม่กล้าลองสิ่งใหม่ ๆ
จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาองค์กรต่าง ๆ ทำให้เราพบว่า TAGA ที่มาจากข้อจำกัดในตัวเอง คือรากฐานสำคัญของ “แรงต้านทาน” มีอิทธิพลอย่างมากในการขัดขวางการสร้างนวัตกรรมและการปฏิรูปองค์กร มันมักเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ทำให้ยากที่จะเอาชนะ แม้เราจะตระหนักถึงปัญหา แต่ก็ทำให้เราหาข้ออ้างไม่ลงมือทำ หรือปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง
แรงต้านทานและแรงขับเคลื่อน : สองขั้วที่ส่งผลต่อ “นวัตกรรม” อย่างไร ?
- แรงต้านทาน : อุปสรรคที่ต้องขจัด
แรงต้านทานมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่อคติ ความเฉื่อยชา ความไม่เชื่อมั่น ไปจนถึงความกลัวต่อความล้มเหลว แรงต้านทานเหล่านี้ทำให้องค์กรไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าทดลอง และไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง มันคือ “ห่วง” ที่รัดความคิดสร้างสรรค์และฉุดรั้งองค์กรให้หยุดนิ่ง
- แรงขับเคลื่อน : พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง
ขั้วตรงข้ามกับแรงต้านทานคือ “แรงขับเคลื่อน” พลังบวกที่ส่งเสริมนวัตกรรม มันคือการเปิดรับการเปลี่ยนแปลง ความกล้าเสี่ยง และการยอมรับวัฒนธรรมใหม่ ๆ แรงขับเคลื่อนคือพลังที่ผลักดันให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
การสร้างสรรค์นวัตกรรม ไม่ใช่แค่การเพิ่มแรงขับเคลื่อน แต่ต้องลดทอนแรงต้านทานที่คอยฉุดรั้ง การทำความเข้าใจและจัดการกับ TAGA จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะมันคือรากฐานของแรงต้านทานทั้งหมด เมื่อเราทลาย TAGA ได้ เราก็จะสามารถปลดปล่อยศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างเต็มที่ TAGA ไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว แต่มันสามารถซ่อนตัวอยู่ในความคิดของเราในหลากหลายรูปแบบ อาทิ
TAGA ทางความคิด
- TAGA สภาพแวดล้อม
เคยได้ยินคำพูดประมาณนี้ในการประชุมเพื่อระดมความคิดใหม่บ้างหรือไม่ “ตอนนี้ไม่พร้อมหรอก” “คู่แข่งเราก็ยังไม่ทำเลย” “ตลาดตอนนี้ผันผวนเกินไป” ผู้ที่มี TAGA ประเภทนี้มักอ้างถึงสภาพตลาด ฐานลูกค้า หรือเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย
- TAGA เรื่องอดีต
ประสบการณ์ในอดีตจาก หัวหน้าเก่า ความสำเร็จในอดีตกลายเป็นพันธนาการที่ทำให้ไม่กล้าลองสิ่งใหม่ ๆ แม้ว่าเวลาและสถานการณ์จะเปลี่ยนไปแล้ว คำพูดที่มักได้ยิน เช่น “เคยลองแล้ว แต่ไม่สำเร็จ” “เราไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน”
- TAGA ทรัพยากร
ข้อจำกัดด้านทรัพยากรกลายเป็นข้ออ้างในการไม่ลงมือทำ ทั้งที่จริงแล้วอาจมีทางออกอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้พิจารณา โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท
- TAGA ทรัพยากรบุคคล : “คนไม่พอ” มักได้ยินบ่อยเมื่อโครงการไม่สามารถเสร็จสิ้นได้ตามกำหนดเวลา
- TAGA เงินทุน : “งบประมาณไม่พอ” มักส่งผลให้การสนทนาจบลงด้วยการกล่าวถึงการขาดแคลนทางการเงินเป็นข้ออ้างในการไม่ดำเนินการ
- TAGA ทรัพยากรทางเทคนิค : “มันเป็นไปไม่ได้ทางเทคนิค” คำพูดที่มักได้ยินจากทีมวิศวกรรม ซึ่งอาจทำให้ไอเดียดี ๆ ต้องพับเก็บไปก่อนที่จะได้เริ่มต้น
- TAGA เวลา : “ไม่มีเวลาไปทำเรื่องพวกนี้” มักจะอ้างว่าไม่มีเวลาสำหรับขั้นตอนที่จำเป็น การวิจัย หรือโครงการใหม่ ๆ
TAGA ทางระบบ
ผู้คนมักตำหนิกฎระเบียบและขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่ความพยายามในการนำเสนอวิธีการเปลี่ยนแปลงระบบปัจจุบันก็มักพบกับการต่อต้าน เพราะคนส่วนใหญ่มักคุ้นชินกับระบบเดิม ๆ และไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง “ทำตามระเบียบก็พอแล้ว” “ระบบมันเป็นแบบนี้มานานแล้ว” “ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องลงทุนใหม่”องค์กรที่มีแนวคิดแบบนี้ การสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือการปฏิรูปจะเป็นเรื่องยากมาก
TAGA ของพวกเขา & TAGA ของฉัน
TAGA ของพวกเขาคือ การโทษคนอื่นว่าเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จ เช่น “หัวหน้าไม่สนับสนุน” “เพื่อนร่วมงานไม่ให้ความร่วมมือ” “ฝ่ายอื่นไม่เข้าใจ” คนประเภทนี้มักจะไม่เข้าร่วมความท้าทายใหม่ ๆ เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่า อะไรก็ตามที่พวกเขาทำอาจสูญเปล่า ตราบใดที่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือความจริงที่ว่า มีคนเชื่อจริง ๆ ว่าปัจจัยหลักที่ขัดขวางจากการทำสิ่งใหม่ ๆ เกิดจากคนอื่น นี่เป็นการกระทำที่ไม่รู้ตัว
ในขณะที่ TAGA ของฉันคือการอ้างว่า ตนเองไม่มีอำนาจหรือทรัพยากรเพียงพอที่จะทำอะไรได้ มักจะอ้างว่า “ฉันไม่มีอำนาจตัดสินใจ” “ฉันไม่ได้รับมอบหมายให้ทำเรื่องนี้” ทั้งสองอย่างนี้คือข้ออ้างที่ทำให้ไม่กล้าที่จะก้าวไปข้างหน้า และปิดกั้นโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
กรณีศึกษา จาก “ผู้ตาม” สู่ “ผู้นำ”
บริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ขนาดใหญ่รายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ผลิต Tier 2 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นในแนวปฏิบัติที่ว่า การติดต่อกับผู้ผลิตรถยนต์ เป็นหน้าที่ของลูกค้าซึ่งเป็นผู้ผลิต Tier 1 แนวทางนี้ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า และรักษาความราบรื่นในการดำเนินธุรกิจ โดย TAGA ในกรณีนี้คือ “การยึดติดกับแนวปฏิบัติเดิม” คือ เชื่อว่าการติดต่อโดยตรงกับผู้ผลิตรถยนต์นั้น “ไม่เหมาะสม” หรือ “อาจสร้างความไม่พอใจให้กับลูกค้าหลัก” ทำให้บริษัทพลาดโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจผู้ใช้งานอย่างแท้จริง
การเปลี่ยนแปลง : ก้าวข้ามข้อจำกัด สู่ความเข้าใจเชิงลึก
เมื่อทำความเข้าใจกับ TAGA แล้ว ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์มองเห็น “โอกาส” เพราะพวกเขาเชื่อว่า การทำความเข้าใจความต้องการของผู้ผลิตรถยนต์อย่างลึกซึ้ง จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง และสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของตน
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจผู้บริโภค ทีมพัฒนาจึงตัดสินใจก้าวข้ามแนวปฏิบัติเดิม และเริ่มเก็บข้อมูลโดยตรงจากผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าประทับใจ บริษัทไม่เพียงแต่สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังผู้ผลิตรถยนต์ได้กว้างขึ้น แต่ยังสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ร่วมกับลูกค้า Tier 1 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสำเร็จครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การก้าวข้ามแนวปฏิบัติ ไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มยอดขาย แต่มันคือการ “สร้างคุณค่า” ใหม่ให้กับตลาด และยกระดับบริษัทจาก “ผู้ตาม” สู่การเป็น “ผู้นำ”
การส่งเสริมนวัตกรรมในองค์กร
การส่งเสริมนวัตกรรมเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความเข้าใจในความท้าทาย การยอมรับความล้มเหลว และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยง นอกจากนี้ยังหมายถึงการสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวกที่ไม่มีแรงต้าน ทีมงานร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จ และใช้ความล้มเหลวเพื่อการเติบโต องค์กรสามารถรับประกันนวัตกรรมได้ โดยการวางระบบต่อไปนี้
- ความเป็นเจ้าของ : การมอบอำนาจให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและรับผิดชอบโครงการต่าง ๆ จะช่วยลด TAGA และกระตุ้นให้พวกเขามุ่งมั่นในการทำงานให้สำเร็จ
- การทำงานร่วมกัน : การเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นก่อนการนำระบบใหม่มาใช้ จะช่วยลด TAGA ทางระบบได้ เมื่อพนักงานรู้สึกว่าความคิดของพวกเขามีค่า
- สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย : การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจและส่งเสริมให้พนักงานมีความสุขกับการทำงาน แม้ว่าทรัพยากรอาจมีจำกัด แต่พนักงานที่มีความสุขมักจะพร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
- ข้อมูลที่เปิดเผย : การสนับสนุนการสนทนาและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเปิดเผย จะช่วยลดความคิดเชิงลบและส่งเสริมนวัตกรรม การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอ จะช่วยให้พนักงานมีความรู้สึกว่า พวกเขาได้รับความไว้วางใจและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
สร้างองค์กรแห่งนวัตกรรม
เมื่อทุกคนในองค์กรตระหนักถึง TAGA และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนความคิดของตนเอง การสนทนาก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ความคิดสร้างสรรค์จะไหลเวียนอย่างอิสระ และนวัตกรรมก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น องค์กรของคุณก็จะกลายเป็น “องค์กรแห่งนวัตกรรม” ที่พร้อมรับมือกับความท้าทาย และเติบโตอย่างยั่งยืน
ถึงเวลา…ปลดล็อกศักยภาพที่ซ่อนไว้
อย่าปล่อยให้ TAGA ขัดขวางความก้าวหน้าของคุณ ถึงเวลาแล้วที่คุณจะปลดล็อกศักยภาพที่ซ่อนไว้ และสร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า แต่จะเริ่มต้นอย่างไร ? คุณจะรู้ได้อย่างไรว่า TAGA กำลังฉุดรั้งองค์กรของคุณอยู่หรือไม่ ?
Innovative Drivers Survey เครื่องมือที่จะช่วยคุณวินิจฉัย TAGA ที่ซ่อนอยู่ในองค์กร และชี้ให้เห็น “แรงต้านทาน” และ “แรงขับเคลื่อน” ที่ส่งผลต่อนวัตกรรม ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ คุณจะได้รับข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็นต่อการตัดสินใจ และเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม
พร้อมที่จะปลดปล่อยศักยภาพขององค์กรคุณแล้วหรือยัง ?
ติดต่อเราวันนี้ที่ info@bcon.asia ทีมงานของเราพร้อมที่จะเป็นพันธมิตร ช่วยคุณก้าวข้ามขีดจำกัด และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่ออนาคตที่สดใส เพราะอนาคตขององค์กรคุณ เริ่มต้นจากการทลาย TAGA ในวันนี้
เขียนและเรียบเรียง : สาวิตรี ตรีอรุณ Sales Executives บริษัท Business Consultants South East Asia Co., Ltd
ติดตาม Business+ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business