จัดระเบียบเศรษฐกิจตามโลกใหม่ ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

ต้องยอมรับว่าระบบเศรษฐกิจของโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างมาก ทำให้แผนธุรกิจแบบเดิม ๆ ไม่สามารถทำให้องค์กรที่ต้องการแสวงหาเพียง Maximize Profit สามารถอยู่ได้แบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวเสียแล้ว เพราะทรัพยากรของโลกในปัจจุบันเริ่มร่อยหรอ ไม่ได้อุดมสมบูรณ์เหมือนแบบที่เคยเป็นมา แต่สวนทางกับจำนวนประชากรโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จนเฉียดระดับ 8 พันล้านรายแล้ว นั่นทำให้ประชากรในหลายภูมิภาคเริ่มประสบกับภาวะขาดแคลนทรัพยากร ซึ่งย้อนกลับมาทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในจุดเปราะบาง ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ขยายวงกว้างขึ้น เป็นผลที่ทำให้สหประชาชาติต้องกำหนดเป็นเป้าหมายสู่การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนด้วยข้อกำหนดให้ทั่วโลกยึดเป็นหลักปฏิบัติทั้งหมด 17 ประการ ซึ่งส่งผลให้ความยั่งยืนกลายเป็นเป้าหมายใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ณ เวลานี้ และเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายระดับสากลได้นั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจใหม่อย่าง BCG โมเดล

องค์การสหประชาชาติ (UN) ชี้ว่าจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 2.4 พันล้านรายภายในปี 2080 จากปัจจุบันจำนวนประชากรโลกสูงกว่า 8 พันล้านราย ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของโลก เพราะปัจจุบันนี้ประชากรในหลายภูมิภาคเริ่มประสบกับภาวะขาดแคลนทรัพยากร เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นประเด็นนี้เป็นปัจจัยกระตุ้นให้องค์การสหประชาชาติ เร่งผลักดันเป้าหมายด้านความยั่งยืน
ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกขององค์กรสหประชาชาติรวม 193 ประเทศที่ได้ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals) ค.ศ. 2030 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างโลกที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อให้สามารถบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
.
โดยวาระการพัฒนาดังกล่าว ประกอบด้วย 17 เป้าหมายหลักและ 169 เป้าหมายย่อย สามารถจัดกลุ่มได้เป็น 5 มิติ คือ มิติการพัฒนาคน มิติสิ่งแวดล้อม มิติเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง มิติสันติภาพและความยุติธรรม และมิติความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา และเพื่อกระตุ้นให้แต่ละประเทศสมาชิกทำตามเป้าหมายจึงต้องให้จัดทำรายงานด้านความยั่งยืน และมีการจัดอันดับระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันเอง

อย่างไรก็ตามปัญหาด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมนั้น บางส่วนยังถูกมองว่าเป็นปัญหาสาธารณะ โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าหลาย ๆ คน หรือหลาย ๆ องค์กรต่างมองว่าภาระเหล่านี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐบาล ที่จะต้องเข้ามาแก้ไขและมองว่าบทบาทของภาคเอกชนคือการทำธุรกิจต่อไปเพียงแค่ทำตามกฏของธุรกิจ และเสียภาษีตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งความคิดเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ในสังคมจำนวนมาก โดยเฉพาะองค์กรที่ก่อตั้งมายาวนาน และมีธุรกิจแบบดั้งเดิม

แต่หากเรามองบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป จริง ๆ แล้วจะเห็นว่า บริษัทที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนนั้น จะมีจุดอ่อนในระยะยาว เพราะปัจจุบันมีกลุ่มคนที่เห็นสำคัญในเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนรุ่นใหม่ที่อยู่ใน Gen Z ที่เกิดในช่วงปี 1997 – 2009 เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ได้เผชิญกับวิกฤติมลพิษทางสภาพอากาศที่เกิดทั่วโลก และได้รับการปลูกฝังถึง Climate Change จากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ซึ่งจากการวิจัยพบว่ากลุ่มคน Gen Z กว่า 54% เต็มใจที่จะจ่ายสินค้าในราคาที่สูงขึ้นอีก 10% เพื่อสินค้าที่เขารู้สึกว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญอย่างมากเป็นเพราะ 62% ของคน Gen Z กำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงาน และจะมีกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังเห็นคน Gen Z ออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากภาคเอกชนไม่ให้ความสำคัญต่อความต้องการ และพฤติกรรมนี้ก็จะไม่มีโอกาสในการเพิ่มยอดขาย และในที่สุดก็จะต้องเผชิญกับปัญหาในอนาคต

นอกจากนี้ แล้วเมื่อดูข้อมูลในปี 2564 พบว่า มีกลุ่มคนที่ใส่ใจและปฏิบัติตัวเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นถึง 20% จากปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลสำรวจชี้ว่าประชากรในอาเซียนปัจจุบันกว่า 81% ของผู้บริโภคในยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จะเห็นได้ว่า มุมมองของประชาชนในปัจจุบันนี้ มองว่าภาคธุรกิจเปรียบเสมือนพลเมืองคนหนึ่งในสังคมตามแนวคิดการเป็นพลเมืองของธุรกิจ (Corporate Citizenship) บริษัทจึงมีสิทธิ หน้าที่ รวมถึงความรับผิดชอบที่นอกเหนือกว่าการกระทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งเพื่อให้เป้าหมายสู่ความยั่งยืนของประเทศชาติประสบความสำเร็จ รัฐบาลและภาคเอกชนจึงต้องช่วยเหลือและสนับสนุนกันอย่างเต็มที่

ทั่วโลกขับเคลื่อน SDGs เต็มรูปแบบ
ในส่วนของรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้เริ่มใช้มาตรการสนับสนุน และมาตการแกมบังคับ ไม่ว่าจะเป็น Economic incentives หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของภาคธุรกิจด้วยการใช้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นทั้งฝั่งผู้ผลิต และผู้บริโภค โดยที่ได้รับเป็นผลประโยชน์ทั้งตัวเงิน และการเข้าถึงตลาด เช่น มาตรการสนับสนุนทางการเงินให้กับบริษัทที่มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน หรือใช้รูปแบบของการเก็บภาษีสินค้าบางชนิดที่ไม่ส่งผลดีต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

โดยมาตรการสนับสนุนที่โดดเด่น อย่างเช่น สิงค์โปร์ที่มีการอุดหนุนผู้ประกอบการอาหารตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสนับสนุนเงินทุนในการส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงการส่งเสริมทางด้านการตลาดเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายมากยิ่งขึ้น หรือในกรณีของแคนาดา ที่มีเครดิตภาษีเพื่อสุขภาพ (health tax credit) สำหรับผู้ที่ทำกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพจะได้รับการลดหย่อนภาษี เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อบังคับ และมีบทลงโทษ ยกตัวอย่างเช่น อังกฤษมีกฎหมายแบนสินค้าในกลุ่มไขมัน น้ำตาล และเกลือในระดับสูง โดยห้ามไม่ให้วางสินค้าในพื้นที่ที่จะได้รับความสนใจในระดับสูง เช่น ห้ามวางสินค้าตามจุดทางเข้าร้าน จุดชำระเงิน หรือแสดงบนหน้า Homepage ในสื่อการซื้อขายออนไลน์ รวมไปถึงการห้ามออกโปรโมชั่นในสินค้าดังกล่าว ซึ่งมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นกลไกที่จะช่วยให้เป้าหมายความยั่งยืนประสบความสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น วัด KPI จากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่การจัดอันดับ SDG Index

ทั้งนี้ในปี 2022 ถือเป็นปีที่ 7 ภายหลัง ประเทศสมาชิกทั้ง 193 ประเทศได้มีการรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในปี 2558 และถือเป็นปีที่ 7 ของการเผยแพร่ “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “Sustainable Development Report (SDR)” ด้วยการให้สมาชิกต้องรายงานการศึกษาและประเมินความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs ของแต่ละประเทศ และการส่งรายงานนี้มาพร้อมกับการจัดอันดับ SDG Index ประจำปี ซึ่งข้อมูลที่ได้เผยแพร่นี้ที่ถือได้ว่าเป็นการรายงานผลที่ให้ข้อมูลสถานการณ์ SDGs ที่เป็นปัจจุบันที่สุดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังสามารถนำมาจัดอันดับผลการดำเนินงานด้าน SDGs ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกอีกด้วย

ซึ่งคะแนนความก้าวหน้าในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจสังคม ได้แก่ SDG 1 (ขจัดความยากจน) และ SDG 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ถดถอยตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อย (Low-income Countries: LICs) และประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing States: SIDS) รวมไปถึงการฟื้นตัวคืนจากวิกฤตต่าง ๆ ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าในกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางเหล่านี้เพราะมีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินที่น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

อย่างไรก็ตามในปี 2022 อาจจะยังเป็นฝันร้าย เพราะวิกฤตระดับโลกอย่าง COVID-19 ยังคงที่ทำให้อัตราความก้าวหน้าในการบรรลุ SDGs ที่ปรากฏในรายงานปี 2565 นี้ยังคงหยุดนิ่ง ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นการย่ำอยู่กับที่เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยคะแนนรวม SDG Index อยู่ที่ 66.0 คะแนน ลดลงจากปี 2563 หลัก ๆ แล้วเป็นผลกระทบที่มาจากโรคระบาด รวมถึงวิกฤตความมั่นคง และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ทีนี้เรามาดูกันว่า ประเทศสมาชิกประเทศใดที่มีศักยภาพสูงที่สุด โดยวัดจากผลแนวโน้มคะแนน SDG Index เฉลี่ยโลก ตั้งแต่ปี 2010 – 2021
10 อันดับแรกของโลก ใน SDG Index ปี 2022
1. ฟินแลนด์
2. เดนมาร์ก
3. สวีเดน
4. นอร์เวย์
5. ออสเตรีย
6. เยอรมนี
7. ฝรั่งเศส
8. สวิตเซอร์แลนด์
9. ไอร์แลนด์
10. เอสโตเนีย
ที่มา : sdgmove สำรวจและเรียบเรียงโดย Business+

จะเห็นได้ว่า 10 อันดับแรกของ SDG Index ปี 2565 นี้ล้วนเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรปทั้งหมด เหมือนกับในปี 2021 และประเทศท้ายตารางยังคงเป็นประเทศแอฟริกาเขตใต้ทะเลทรายซาฮาราที่มีความยากจน

ส่วนในมุมของประเทศไทยนั้น ตามรายงานปี 2565 พบว่า อันดับ SDG Index ของไทย อยู่ที่อันดับ 44 จากทั้งหมด 163 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำลงมาจากดับ 43 โดยที่ในการจัดอันดับปี 2564 มีคะแนน SDG Index อยู่ที่ 74.1 คะแนน ลดลงจากปี 2564 เล็กน้อยเพียง 0.1 คะแนน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมคะแนน SDG Index ระดับโลกที่ลดลงเรื่อยมาตั้งแต่วิกฤต COVID-19

แต่เมื่อเทียบในระดับทวีปเอเชีย พบว่าไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ โดยไทยได้อันดับ SDG Index เป็นอันดับที่ 3 ของเอเชีย ซึ่งที่ 1 ของเอเชียเป็นของญี่ปุ่น และอันดับ 2 เป็นเกาหลีใต้ ขณะที่เมื่อมองในมุมของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เราจะเห็นว่าไทยเป็นที่ 1 ติดต่อกัน 5 ปีต่อเนื่อง (2562 – 2565)

โดยเป้าหมาย SDGs สำหรับประเทศไทยนั้นมีเป้าหมาย SDGs ที่อยู่ในสถานะบรรลุแล้วตั้งแต่รายงานปี 2562 ทั้งหมด เพียง 1 เป้าหมาย คือ SDG1 (ขจัดความยากจน) แต่ในแง่ของความยากจนตามรายงานเรื่องสถานการณ์ความยากจนความเหลื่อมล้ำปี 2563 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่ามีประชากรที่ถือว่าเป็นคนจน 68.4% และคิดเป็นจำนวนคนจน 4.8 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า และประเทศไทยยังมีเป้าหมาย SDGs ที่อยู่ในสถานะมีความท้าทายมากอีกจำนวน 5 เป้าหมาย นั่นคือ SDG2 (ยุติความหิวโหย) SDG3 (สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย) SDG14 (อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) SDG15 (ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน) และ SDG16 (ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)

นอกจากนี้ยังมีการให้คะแนนความมุ่งมั่นและความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs เพื่อติดตามว่ารัฐบาลในแต่ละประเทศได้ผนวกรวม SDGs เข้าไปในการทำงานมากน้อยเพียงใด โดยพิจารณาจากตัวชี้วัด ได้แก่

– มีการแถลงการณ์ทางการระดับสูงเกี่ยวกับ SDGs
– มีการผนวก SDGs เข้าไปในยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานระดับประเทศ
– มีการผนวก SDGs เข้าไปในงบประมาณระดับชาติ
– มีการติดตามและประเมินผล SDGs ระดับชาติ
– มีการกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพในการดำเนินงาน SDGs
– มีการผนวก SDGs เข้าไปในแผนฟื้นฟูโควิด-19 ระดับชาติ

ซึ่งในปีนี้ผลสำรวจจากกว่า 60 ประเทศ ประเมิน และให้คะแนนความมุ่งมั่น ตามช่วงลำดับคะแนน ตั้งแต่ 0-40 คะแนน เท่ากับ ระดับต่ำมาก 40-50 คะแนน เท่ากับ ระดับต่ำ 50-65 คะแนน เท่ากับ ระดับปานกลาง 65-80 คะแนน เท่ากับ ระดับสูง และ 80-100 คะแนน เท่ากับ ระดับสูงมาก

โดยประเทศไทยได้คะแนนความมุ่งมั่นและความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs อยู่ที่ช่วงระดับปานกลาง (65-80) ร่วมกับอีก 23 ประเทศ แต่พบว่ายังไม่มีประเทศที่ได้คะแนนไปถึงระดับสูงมาก อย่างไรก็ตาม มีทั้งหมด 15 ประเทศที่มีคะแนนถึงช่วงระดับสูง ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรีย เบนิน โคลอมเบีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ ไนจีเรีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์

‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’ ของไทยเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย
ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ประเทศไทยได้กำหนดให้ ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’ หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ตั้งแต่ต้นปี 2021 ที่ผ่านมา และโมเดลเศรษฐกิจนี้เองที่ถูกคาดหมายว่าจะสามารถพาไทยไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

ก่อนจะไปดูว่า โมเดลที่ว่านี้จะสามารถขับเคลื่อนไทยไปตามเป้าหมายได้หรือไม่นั้น เราต้องเข้าใจกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ‘BCG’ กันก่อน โดยที่ BCG ตามข้อมูลของ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุเอาไว้ว่าเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่พัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทยคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นการเชื่อมโยงหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยต้องใช้ความร่วมมือทั้งประชาชน เอกชน รัฐบาล และเครือข่ายต่างประเทศ

ซึ่งโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทำหน้าที่พัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) จากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม โดยที่กิจกรรมหลักภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย การอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม รวมถึงบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์และบริโภค อย่างยั่งยืน รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ของทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ หรือแม้แต่การสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ภาคเกษตรที่เป็นต้นน้ำ จนถึงภาคการผลิตและบริการ

ทั้งนี้ตามแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 อยู่บนพื้นฐานของ 4 + 1 ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ 1.เกษตรและอาหาร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

โดยมีการประเมินว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG มีศักยภาพเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของ GDP ในอีก 6 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว

BCG โมเดลของกระทรวงอุตสาหกรรม
สำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีแผนการขับเคลื่อนดังนี้
– กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ยาและการแพทย์ พลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ มีเป้าหมายเป็นรูปธรรมคือ เป้าหมายระยะสั้นในปี 2565 คาดหมายให้มีอัตราการเติบโตอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขึ้น 3% ไปจนถึงปี 2570 อัตราการเติบโตอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขึ้น 10% มูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มสะสมเป็น 190,000 ล้านบาท

ด้วยกลไกการขับเคลื่อนเช่น การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพย่อยสลาได้ทางชีวภาพ / การลงทุนเทคโนโลยีชีวภาพ การส่งเสริมสินเชื่อ และการพัฒนากำลังคนและความสามารถด้วยการสร้างศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ

– อุตสาหกรรมพลาสติก ยางรถยนต์ วัสดุก่อสร้าง เหล็กและโลหะอื่น ๆ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เซลล์แสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ปี 2565 มีIndustrial Symbiosis 5 พื้นที่อุตสาหกรรม มีกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ 100% และเป้าหมายระยะยาวคือในปี 2569 มี Industrial Symbiosis 15 พื้นที่อุตสาหกรรม และเป็น Zero Waste
โดยมีกลไกขับเคลื่อนคือ การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยการการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก ITC : ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล อีกทั้งใช้มาตรการส่งเสริมด้านเงินทุน สิทธิประโยชน์และรางวัล รวมไปถึงมาตรฐาน กฎหมาย กฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนา BCG มาตรฐานเศรษฐหมุนเวียน

ขณะที่อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ ก็จะเน้นกลไกขับเคลื่อน 6 ข้อ ได้แก่
1. การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
2. เงินทุน สิทธิประโยชน์และรางวัล
3. การพัฒนากำลังคนและความสามารถ
4. บ่มเพาะ สร้าง และยกระดับผู้ประกอบการและรูปแบบธุรกิจใหม่
5. มาตรฐาน กฎหมาย กฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนา BCG
6. การสร้างและพัฒนาตลาด ด้วย i-mall แพลตฟอร์มตลาดอุตสาหกรรมออนไลน์

ทั้งนี้เพื่อตอบคำถามว่า โมเดลเศรษฐกิจนี้จะขับเคลื่อนประเทศไทยจากประเทศรายได้ปานกลางให้กลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2580 ได้สำเร็จหรือไม่นั้น เราต้องย้อนกลับดูข้อมูลที่บ่งบอกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ทรัพยากร และความหลากหลายทางชีวภาพสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลของการพัฒนาของดัชนีมวลรวม (GDP) ในช่วงดังกล่าวต้องแลกด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากร และการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ ยกตัวอย่างทรัพยากรของประเทศไทยที่ถูกใช้และร่อยหรอไป คือ ก๊าซธรรมชาติ โดยที่ประเทศไทยมีปริมาณสำรองอยู่ที่ 6.3 TCF คิดเป็น R/P : Reserves to Production Ratio (ปริมาณสำรอง) ใช้ได้นาน 5 ปี ซึ่งค่าเฉลี่ยนี้ถูกคำนวณไปตั้งแต่ปี 2022 ขณะที่ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในโลกเราคาดว่าจะมีให้ใช้อีกเพียง 50 ปี เท่านั้น

นอกจากนี้การใช้ทรัพยากรยังก่อให้เกิดของเหลือทิ้งที่สร้างมลพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ จึงต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะทำมากได้น้อย เนื่องจากไม่สามารถสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรได้เต็มศักยภาพ เกิดการพัฒนาแบบกระจุกตัว และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เป็นอย่างมาก

ดังนั้น หลักการของ BCG ที่เน้นกลไกคือการใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ที่จะทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ และการเพิ่มมูลค่าให้กับภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม และเป็นประโยชน์ต่อตัวธุรกิจ สังคม และต่อสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่าง Circular Economy กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ได้ถูกนำหลักการมาใช้กับภาคการผลิตเพื่อลดการใช้ทรัพยากรและรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยกตัวเช่น มาตรการเรื่องแร่ใยหินที่ใช้ทำผ้าเบรก ลดสารโลหะหนักในกระบวนการทำสี รวมถึงลดการใช้สารตะกั่วในวัสดุอะลูมิเนียม และพัฒนามาจนถึงการออกแบบและการวิจัยพัฒนา เช่น การใช้แพลตฟอร์มเดียวกันในการพัฒนารถหลายรูปแบบและหลายขุมพลัง ซึ่งเป็นแนวทางของบริษัทในการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ รวมถึงรถพลังงานใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
ดังนั้น ‘Business+’ มองว่า BCG โมเดลที่เน้นการสร้างมูลค่าให้กับภาคอุตสาหกรรมจึงถือว่าเป็นแผนการพัฒนาที่มาถูกทาง แต่การจะสัมฤทธิ์ผลได้จริง ๆ นั้น ต้องอาศัยการร่วมมือของทั้งประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ส่วนในแง่ของภาคธุรกิจแล้ว ต้องใช้หลักการดำเนินธุรกิจด้วยการคำนึงถึงสมดุล 3 ด้านที่ยึดมิติความยั่งยืน คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมและการรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุลระหว่างการมีอยู่และใช้ไปเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus