เงินเฟ้อ-บาทอ่อนค่าจะแก้ปัญหาอย่างไร? ฟังเสียงผู้ประกอบการส่วนใหญ่ กับสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องทำ!!

อย่างที่ ‘Business+’ ได้เกาะติด และนำเสนอข่าวมาตลอดว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ 2 ปัญหาหลักๆ ในตอนนี้ นั่นคือ อัตราเงินเฟ้อ และการอ่อนตัวของค่าเงินบาท ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน โดยอัตราเงินเฟ้อจะทำให้ต้นทุนของภาคการผลิตสูงขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าจะกระทบต่อการนำเข้าสินค้า และกระทบในแง่ของภาระหนี้สินต่างประเทศ

ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทางธปท.จะเร่งแก้ปัญหาด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นัดที่ใกล้จะถึงที่สุดคือการประชุมในวันที่ 10 ส.ค. โดยมีหลายฝ่ายได้ออกมาให้ความเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเกิดจากต้นทุนน้ำมัน ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธปท.จะไม่ได้ช่วยอะไร เพราะต่อให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปราคาน้ำมันก็ไม่ได้ปรับลง

แต่จริงๆ แล้วสาเหตุที่ธปท.จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย นั่นเป็นเพราะหว่า หากเราปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ในขณะที่สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว (คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 3.4% ภายในสิ้นปี) จะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทของเราอ่อนค่า และจะก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อแบงก์ชาติในอนาคต ดังนั้น ธปท.จึงต้องรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศไม่ให้ห่างกันจนมากเกินไป

เมื่อดูมุมมองของธปท. ไปแล้วทีนี้เรามาดูกันบ้างว่า ในมุมมองของผู้ประกอบการ ต้องการให้แก้ไขอะไรมากที่สุด

โดยอ้างอิงข้อมูลชุดล่าสุดจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ได้เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll เดือนก.ค.2565 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งคำถามว่า ภาคอุตสาหกรรมจะรับมือกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างไร?

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 209 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด

โดยคำถามที่น่าสนใจคือ ภาคอุตสาหกรรมมีแนวทางหลักในการรับมือต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างไร? พบว่า คำตอบที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 คือ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ โดยมีผู้ลงคะแนนให้มากถึง 33.0%

ส่วนอันดับที่ 2 คือ อยากให้เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน และปรับการบริหารกระแสเงินสดใหม่ ด้วยสัดส่วน 19.6% ส่วนอันดับที่ 3 อยากให้ปรับวิธีการบริหารกระแสเงินสด เช่น กู้ระยะยาว 18.7% แทนการกู้เงินเบิกเกินบัญชี OD ส่วนอันดับที่ 4 ชะลอการลงทุน 18.7%
และอันดับที่ 5 ต้องการเปลี่ยนวิธีการลงทุน เช่น ระดมทุนจากผู้ถือหุ้นในบริษัท 7.2%

ส่วนคำถามที่ว่า ภาครัฐควรมีมาตรการ/นโยบาย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างไร? พบว่า ผู้ประกอบการเห็นด้วยกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ต้องเป็นการขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่อันดับที่ 2 คือ ต้องการให้ภาครัฐใช้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) นอกจากนั้นเป็นการแนะนำให้สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ และเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate loan) รวมถึงมาตรการช่วยเหลือทางภาษีทั่วไป 45.5%

ทีนี้มาดูประเด็นของค่าเงินบาทที่ผู้ประกอบการมองว่าเหมาะสมกันบ้าง ตอนนี้เราจะเห็นว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าไปแตะ 36 บาท แต่ผู้ประกอบการมองว่า ค่าเงินบาทที่เหมาะสมสำหรับภาคอุตสาหกรรมควรอยู่ในระดับ 32 – 34 บาท / ดอลลาร์ สรอ.

และส่วนใหญ่มองว่า ภาคอุตสาหกรรมควรรับมือกับผลกระทบจากค่าเงินบาท ด้วยการ ทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน และเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

ขณะที่มีความเห็นว่า ภาครัฐควรเข้ามากำกับดูแลการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท และมาตรการป้องปราม หรือจำกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท รวมไปถึงช่วยส่งเสริมการใช้วัตถุดิบและสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ

สำหรับในมุมมองของ ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า ถึงแม้การอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถด้านราคาในการส่งออกสินค้าไทย แต่อีกมุมหนึ่งก็ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนพลังงาน สินค้าและวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งภาครัฐควรให้ความสำคัญในการกำกับดูแลการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท และมาตรการป้องปรามหรือจำกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท

โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสนกับการดำเนินธุรกิจควรอยู่ที่ระดับ 32 – 34 บาท ต่อ ดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังได้แนะให้ผู้ประกอบการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินบาทที่อ่อนค่า เช่น การซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) หรือการซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Option Contract)

ที่มา : FTI

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจ #อุตสาหกรรม #FTI