ส่องงบแบงก์ไตรมาส 1/67 เปิดศักราชใหม่ใครปังกว่ากัน

สิ้นสุดการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 กลุ่มธนาคารซึ่งเป็นกลุ่มแรกในการประเดิมประกาศงบการเงินก็ได้ประกาศผลการดำเนินงานออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว Business+ จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลมาให้เห็นภาพว่าในไตรมาส 1/2567 นี้ ธนาคารไหนที่สามารถทำผลงานให้กับก้าวแรกของปีได้ดีกว่ากัน โดยไล่เรียงจากผู้ที่ทำกำไรได้มากที่สุด (วัดจากเปอร์เซ็นต์) ดังนี้

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 13,485.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,744.66 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 25.55% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิที่ 10,741.06 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 3,653 ล้านบาท หรือ 10.47% มาอยู่ที่ 38,528 ล้านบาท ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ย

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 5,333.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,039.27 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24.2% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิที่ 4,294.52 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 6.6% จากไตรมาส 1 ปี 2566 จากระดับ 13,502 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 11,078.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,011.85 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.05% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิที่ 10,066.60 ล้านบาท เป็นผลจากรายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัว 15.4% จากพอร์ตสินเชื่อที่เติบโตอย่างระมัดระวัง

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 10,523.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 394.36 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.89% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิที่ 10,129.29 ล้านบาท จากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากรายได้จากการลงทุน ประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากบริการประกันผ่านธนาคารและกองทุนรวมเติบโตดีจากไตรมาสก่อน ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 47.1%

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB (ธนาคารไทยพาณิชย์) มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 11,281.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 285.64 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิที่ 10,995.38 ล้านบาท โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 31,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% เป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิและรายได้จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 2.1% จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในธุรกิจสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารไทยพาณิชย์ และการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลของบริษัทลูกอื่น ๆ

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 1,733.02 ล้านบาท ลดลง 59.56 ล้านบาท หรือลดลง 3.32% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิที่ 1,792.58 ล้านบาท โดยสาเหตุมาจากการชะลอตัวลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่เพิ่มขึ้น

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 7,542.61 ล้านบาท ลดลง 1,133.68 ล้านบาท หรือลดลง 13.07% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิที่ 8,676.29 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่จํานวน 39,981 ล้านบาท ลดลงจํานวน 1,104 ล้านบาท หรือ 37.31% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566 ที่มีรายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 10,864 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 12,686 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,759 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 60.04% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566 ที่มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 7,927 ล้านบาท

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 626.11 ล้านบาท ลดลง 204.02 ล้านบาท หรือลดลง 24.58% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิที่ 830.13 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน 8.4% และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน 11.8% สุทธิกับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 36.9%

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 1,506.02 ล้านบาท ลดลง 578.84 ล้านบาท หรือลดลง 27.76% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิที่ 2,084.86 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากรายได้จากการดำเนินงานรวมในไตรมาส 1 ปี 2567 มีจำนวน 6,832 ล้านบาท ปรับลดลง 1.6% จากไตรมาส 1 ปี 2566 อีกทั้งรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 1,579 ล้านบาท ปรับลดลง 8.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 จากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่ปรับลดลง 16.4% หากเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 โดยหลักจากรายได้ค่านายหน้าประกันที่ปรับลดลงตามการชะลอตัวของสินเชื่อปล่อยใหม่ รวมถึงรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ตามภาวะตลาดทุนที่ยังคงซบเซา โดยมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพยฯ ยังอยู่ในระดับอ่อนตัวและปรับลดลง 31.4% หากเทียบกับมูลค่าการซื้อขายในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ประเมินกำไรสุทธิรวมปี 2567 กลุ่มธนาคารอยู่ที่ 1.94 แสนล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.4% เทียบกับปี 2566 โดยมีสาเหตุหลักมาจากฐานขนาดใหญ่ในปี 2566 และผลกระทบเชิงบวกน้อยลงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับปี 2566 นอกจากนี้ แนวทางการดำเนินธุรกิจปี 2567 ที่ธนาคารต่างๆ มีความระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับการเติบโตของสินเชื่อ โดย NIM มีตั้งแต่แบบคงที่ไปจนถึงแบบสัญญา Non-NII และการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ในระดับต่ำเพียงหลักเดียว และรักษา ECL และต้นทุนเครดิตในระดับสูง สำหรับปี 2568-2569 คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตที่ 5.0% ต่อปี ตามสมมติฐานเชิงอนุรักษ์นิยม การเติบโตของสินเชื่อ และรายได้ค่าธรรมเนียม

ที่มา : set, บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #งบแบงก์ #กลุ่มแบงก์ #ธนาคาร #กลุ่มธนาคาร #งบธนาคาร #SCB #KBANK #KK #KTB #BBL #TTB #TISCO #CIMBT #BAY #ธนาคารกรุงไทย #ธนาคารกรุงเทพ #ธนาคารไทยพาณิชย์