The Success Story of The Month ‘ฉัตรชัย ศิริไล’ กับ Mission สำคัญในการพลิกบทบาท ธ.ก.ส. สู่ธนาคารยุคใหม่

The Success Story of The Month By ‘Business+’ฉบับเดือนเมษายน 2567 จะพาผู้อ่านมาพบกับบทสัมภาษณ์สุดพิเศษจาก คุณฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เข้ามาพลิกบทบาทสำคัญของ ธ.ก.ส. ไปสู่ธนาคารยุคใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่การปรับ Mindset ของบุคลากรในองค์กร เพื่อช่วยลูกค้าตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้า และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคการเกษตร 

ทั้งนี้หากจะกล่าวถึงธนาคารที่ยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกรในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน อย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภาพจำที่ผู้คนมักนึกถึงคือการเป็นผู้สนับสนุนทางด้านการเงินที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจภาคการเกษตรให้สามารถดำเนินต่อไปได้แม้ในวันที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ธ.ก.ส. ไม่เพียงเป็นผู้สนับสนุนทางด้านการเงินให้กับเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นที่จะนำเอาองค์ความรู้ไปช่วยส่งเสริมและพัฒนาภาคการเกษตรให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้การบริหารของ ‘คุณฉัตรชัย ศิริไล’ ซึ่งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเพื่อยกระดับองค์กรตามพันธกิจของ ธ.ก.ส. ในการเป็น “ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน” แข็งแกร่งมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเป็นสถาบันการเงินที่มีความแข็งแรงและมั่นคง

โดย คุณฉัตรชัย ศิริไล เปิดเผยกับ Business+ ถึงภาพรวมผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชี 2566 (1 เม.ย. 66 – 31 มี.ค. 67) ระบุว่า ในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา (11 เดือน) มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,825 ล้านบาท มีอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ ได้แก่ NPLs/Loan ร้อยละ 5.89 ROA ร้อยละ 0.39 Cost to Income ร้อยละ 37.74 และ BIS Ratio ร้อยละ 12.75 ซึ่งผลการดำเนินงานที่กล่าวมาทั้งหมด แสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินการไปในทิศทางที่ดีขึ้น และดีกว่าเป้าหมาย อันเป็นผลจากการบริหารสภาพคล่อง การบริหารต้นทุนเงิน และต้นทุนดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

การดำเนินงานในรอบปีบัญชี 2566 ธนาคารได้มุ่งเน้นไปที่การคุมตัวเลข NPLs เป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมาตัวเลข NPLs ของ ธ.ก.ส. ค่อนข้างแกว่งตัวทุก ๆ 3 เดือน โดยก่อนหน้านี้เคยขึ้นไปแตะที่ระดับสูงสุดอยู่ที่ 12% ขณะที่ปัจจุบันปรับลดลงมาอยู่ที่ 5.8% ซึ่งเป้าหมายสิ้นปีบัญชี ณ มีนาคม 2567 อยู่ที่ประมาณ 5.5% ดังนั้น การดำเนินงานต่อจากนี้คือการรักษาระดับตัวเลข NPLs ให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงเกิน 4%

เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของ ธ.ก.ส. ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง จึงเป็นเรื่องยากหากจะทำการปรับลดตัวเลข NPLs ให้ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญจึงเป็นเรื่องของการบริหาร NPLs ไม่ให้ปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูง ซึ่งได้มีการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการดูแลบัญชีลูกค้า ได้แก่ ระบบ End to End Process และระบบ LPS (Loan Processing System) พร้อมทั้งนำ Dashboard มาใช้ในการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของลูกค้า เพื่อช่วยในการควบคุมกระแสเงินสดจากการชำระหนี้ที่ตรงตามสัญญาของลูกค้า

“ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทยอยนำระบบขึ้นเป็นเฟส ๆ ซึ่งหากระบบสมบูรณ์จนสามารถนำมาใช้ได้ครบสมบูรณ์ จะช่วยทำให้ธนาคารรู้จักคาแรกเตอร์ของลูกค้าแต่ละรายมากขึ้น ทำให้ธนาคารสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยให้การบริหาร NPLs เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งหลักการของการนำระบบนี้มาใช้คือการที่ธนาคารสามารถเชื่อมโยง และเฝ้าสังเกตลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น”

บริหารพอร์ตสินเชื่อบนหลักการ “การผสมผสาน”

สำหรับตัวเลขพอร์ตสินเชื่อของ ธ.ก.ส. พบว่า สินเชื่อสถาบันและผู้ประกอบการ ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นอกภาคการเกษตร องค์กรกองทุนหมู่บ้าน ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มไม่เป็นทางการ และสถาบันการเงินชุมชน มีสินเชื่อที่เติบโตเป็นพิเศษ คือ พอร์ตสินเชื่อสหกรณ์นอกภาคเกษตร ซึ่งเติบโตจำนวน 21,300 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 26 ก.พ. 2567)

โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ใช้บริการสินเชื่อเพื่อกระตุ้นธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ (CO-OP Active Growth) มีลักษณะกู้เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนให้สมาชิกสหกรณ์กู้เงิน โดยฝ่ายกิจการสาขาภาคที่เติบโตได้ดี 3 อันดับแรก ได้แก่ ฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ฝอบ.) เติบโต 4,861 ล้านบาท, ฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (ฝอล.) เติบโต 4,152 ล้านบาท และฝ่ายกิจการสาขาภาคใต้ตอนล่าง (ฝตล.) เติบโต 3,412 ล้านบาท

ขณะที่สินเชื่อรายย่อย ทั้งประเภทเกษตรกรและบุคคลทั่วไป มีการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 26,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.พ. 2567) โดยประเภทผลผลิตที่สำคัญและเติบโตอย่างเห็นได้ชัด คือ ผลผลิตข้าว มียอดเติบโตสินเชื่อถึง 9,164 ล้านบาท คิดเป็น 35.24% ของการเติบโตสินเชื่อในกลุ่มนี้ ซึ่งการจ่ายสินเชื่อผลผลิตข้าวมีทั้งเงินลงทุนระยะยาวและเงินหมุนเวียนเพื่อประกอบอาชีพการเกษตร โดยผลการดำเนินการจ่ายสินเชื่อสูงสุดอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

ส่วนสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ประกอบไปด้วยลูกค้า 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (S1), กลุ่มเกษตรกรและบุคคลทั่วไป (S2) และกลุ่มผู้ประกอบการนิติบุคคล (S3) ในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา มีการเติบโตอยู่ในระดับปานกลาง โดยมียอดปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท

เนื่องจากลูกค้าในกลุ่ม S1, S2 เป็นกลุ่มที่ยังคงต้องได้รับการช่วยเหลือ การบริหารจัดการสินเชื่อของลูกค้าในกลุ่มนี้จึงเป็นไปในลักษณะของการดูแลอย่างใกล้ชิด ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับปรุงกระบวนการการดำเนินสินเชื่อรายใหญ่ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งก็คือกลุ่ม S3 โดยมีการขยายพอร์ตสินเชื่อลูกค้าในกลุ่มนี้เพิ่ม เพื่อเป็นการผสมผสานพอร์ตสินเชื่อให้มีกลุ่มลูกค้าที่แข็งแรงเพิ่มเข้ามา ไม่ใช่มีแค่กลุ่มเปราะบางเท่านั้น

สำหรับเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อในรอบปีบัญชี 2567 (1 เม.ย. 67 – 31 มี.ค. 68) คาดว่าจะเติบโตประมาณ 3% จากระดับ 1.6 ล้านบาท ในรอบปีบัญชี 2566

บริหารองค์กรควบคู่การทำ ESG

คุณฉัตรชัย กล่าวถึงการดำเนินงานที่ยังคงให้ความสำคัญกับหลัก ESG ซึ่งครอบคลุมทั้งในแง่ของการบริหารจัดการภายใน กระบวนการทำงาน และการออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการดูแลชุมชน โดยแบ่งเป็น

E (Environmental) – เปิดตัวโครงการ BAAC Carbon Credit และการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย จากชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 400 ตันคาร์บอน (ที่ได้รับการรับรองปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเครดิต เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566) โดย ธ.ก.ส. รับซื้อในราคากึ่ง CSR ตันละ 3,000 บาท คิดเป็นเงินรวม 1.2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนชุมชนในการดูแลสิ่งแวดล้อม

ตอบโจทย์เป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี ค.ศ. 2065 พร้อมทั้งขยายผลการสร้างคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ไปยังชุมชนธนาคารต้นไม้ ทั้ง 6,800 ชุมชน และสนับสนุนการปลูกป่าเพิ่มอีกปีละ 108,000 ต้น โดยตั้งเป้าหมายสร้างปริมาณการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตอีกกว่า 510,000 ตันคาร์บอน ภายใน 5 ปี

S (Social) – เข้าไปช่วยในเรื่องของการทำการเกษตรสมัยใหม่ให้กับโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้วิชาการภาคการเกษตร เพื่อนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับไปแบ่งปันกับสมาชิกในครอบครัวในการต่อยอดการทำเกษตรกรรมต่อไป

G (Governance) – มีการปรับกระบวนการทำงานให้เข้ากับหลักสากล คือ มาตรฐานอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องของการแก้ไขตามสถานการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกระบวนการปล่อยสินเชื่อให้เป็นระบบดิจิทัลมากยิ่งขึ้น เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจ และเพิ่มประสิทธิภาพด้านความรวดเร็ว รวมถึงการปรับโครงสร้างธนาคาร ทำ Data Cleansing และการนำระบบ End to End Process และระบบ LPS (Loan Processing System) มาใช้ในการบริหารจัดการ

ขณะเดียวกันก็ได้มีการเข้าไปส่งเสริมให้องค์ความรู้ในเรื่องของการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร โดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในภาคการเกษตรมากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์ข้าวพร้อมทาน (Ready to Eat) ที่ดำเนินการขายผ่านสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าวให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการขายข้าวเปลือก (เพิ่มรูปจาน รูปแก้ว ในหน้าเดียวกับรูปข้าวอุ่นอิ่มให้หน่อยค่ะ)

โดยเป้าหมายในปีบัญชีถัดไปคือ ลูกค้ารายย่อยที่อยู่ในช่วงของการพักหนี้ ซึ่งมีอยู่ราว 2 ล้านกว่าราย ต้องได้รับการฟื้นฟูศักยภาพเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม หรือลดต้นทุนลงราว 15%

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้รับรางวัล Thailand Quality Class Plus ด้าน Societal Contribution ประจำปี 2566 จากงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 21 (Thailand Quality Award 2022) จัดขึ้นโดยสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งรางวัลดังกล่าว ถือเป็นรางวัลใหม่ที่สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติพิจารณามอบให้กับองค์กรที่สมัครขอรับการตรวจประเมินตามเกณฑ์ TQA และ ธ.ก.ส. เป็นองค์กรแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว สะท้อนถึงการขับเคลื่อนงานในด้านการยกระดับชุมชน สังคม โดย ธ.ก.ส. วางนโยบายสู่การเป็นแกนกลางการเกษตร (Essence of Agriculture) มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในทุกมิติ ทั้งด้านแหล่งเงินทุน (Funding) เทคโนโลยี (Technology) องค์ความรู้และการตลาด (Knowledge and Marketing) และการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added)

โดยร่วมมือกับพันธมิตรและเครือข่ายในการให้ความรู้ เสริมศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเกษตรกร การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาสู่การทำการเกษตรสมัยใหม่ หรือเกษตรอัจฉริยะ ที่สามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การสร้างการเติบโตใหม่ทางด้านธุรกิจในกลุ่ม Smart Farmer, Agri-Tech และ Startup รวมถึงการดึงคนรุ่นใหม่กลับมาต่อยอดและสานต่อธุรกิจเกษตร เพื่อสร้างความหลากหลายในตัวผลิตภัณฑ์ ที่ตรงกับความต้องการของตลาด การยกระดับสินค้าสู่มาตรฐาน เพื่อสร้าง Value Added และนำไปจำหน่ายในตลาดที่มีกำลังซื้อสูง

การทำธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) การเชื่อมโยงธุรกิจเกษตรและจับคู่ตลาด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และแก้ไขปัญหาหนี้สินในชุมชน ควบคู่กับการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การสนับสนุนการปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่ ทั้งบนหัวไร่ปลายนาและการปลูกป่าในชุมชน การสนับสนุนการทำ Zero Waste และการรับซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตจากชุมชนธนาคารต้นไม้ เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้สมัครขอรับการตรวจประเมินตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปี 2562 และได้รับรางวัล TQC หรือรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ในปี 2562 – 2563 รับรางวัล TQC Plus ด้าน Customer ในปี 2564 และ รางวัล TQC Plus ด้าน People ในปี 2565 ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้มีการนำรายงานผลการตรวจประเมินในแต่ละปีมาใช้ในการปรับปรุงและยกระดับการบริหารจัดการองค์กรให้ดียิ่งขึ้น จนนำมาสู่รางวัล TQC Plus ด้าน Societal Contribution ในปี 2566

นอกจากนี้ คุณฉัตรชัย ยังเผยหลักการบริหารจัดการในแบบฉบับของตน และเป้าหมายในการบริหารองค์กรต่อจากนี้ว่า “หลักการบริหารคนในองค์กรของผมคือ Direction ต้องชัด อธิบายให้เคลียร์ เดินไปข้างหน้าด้วยกัน ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน พรุ่งนี้ก็ทำให้ดีขึ้นไปอีก ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในมิติของการบริหารจัดการต่อจากนี้ หลักใหญ่คือการทำให้งบดุลแข็งแรงขึ้น ควบคู่ไปกับการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยแก้ปัญหา และปรับกระบวนการโอเปอเรชันของธนาคารให้เข้าสู่มาตรฐานสากล ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยน Mindset ของบุคลากรภายในองค์กร ควบคู่ไปกับการสื่อสารไปยังบุคคลภายนอกให้รู้ว่า ธ.ก.ส. มีหน้าที่และบทบาทอะไร ไม่ใช่แค่การถูกกำหนดให้อยู่ภายในภาคการเกษตรหรือภาคการผลิตอีกแล้ว แต่ต้องใช้เทคโนโลยี ใช้องค์ความรู้เข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตรให้สามารถขายออกได้ โดยการทำให้ห่วงโซ่การผลิตสั้นลง คือ เกษตรกรสามารถขายสินค้าได้โดยตรง สร้าง Wealth สำเร็จ

สำหรับมุมมองของ Business+ ที่มีต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องยอมรับว่าภาพจำที่มีต่อธนาคารแห่งนี้คือบทบาทการเป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุนให้กับภาคการเกษตร แต่จากการสัมภาษณ์พิเศษของ คุณฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำให้เกิดการรับรู้และเข้าใจในบทบาทที่แท้จริงของ ธ.ก.ส. มากขึ้น ว่านอกจากการสนับสนุนด้านการเงินให้กับภาคการเกษตรแล้ว ยังมีบทบาทในการเสริมองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเพื่อสร้าง Value Added ผลิตผลทางการเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

ซึ่งทั้งหมดนี้ ‘คุณฉัตรชัย’ ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาองค์กรในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบ End to End Process และระบบ LPS (Loan Processing System) มาช่วยในการควบคุมในส่วนของตัวเลข NPLs ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือการนำเอาเทคโนโลยีด้านการผลิตมาช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นบทบาทที่สำคัญที่คาดหวังผลลัพธ์ในการเป็น “ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน” ทั้งสิ้น

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี
ติดตาม Business+ ได้ในช่องทางอื่นๆ ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS