ATSI บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ AMATA มองหาแนวโน้มความเป็นไปได้ในธุรกิจใหม่ ๆ มุ่งหวังสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ ATSI ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การศึกษา มองหาแนวโน้มความเป็นไปได้ในธุรกิจใหม่ ๆ
โดยเปิดเผยข้อมูลโครงการ AMATA Smart City หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการนำประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และเครือข่ายในการพัฒนากลยุทธ์ที่จะช่วยเสริมสร้างความเข็มแข็งด้านศักยภาพ บทบาทริเริ่ม เพื่อการบรรลุจุดมุ่งหมายของทั้ง 2 ฝ่าย มุ่งหวังต่อยอดตลาดในเมียนมาร์ เวียดนาม และลาว และสร้างความแข้มแข็งให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
อมตะ พัฒนา Smart City ด้วยวิสัยทัศน์ในการจัดเตรียมระบบโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงแบบครบวงจร สำหรับโรงงานและบริษัทที่ทำวิจัยและพัฒนาที่เข้ามาลงทุน ทั้งในโครงการอมตะประเทศไทย และโครงการอมตะต่างประเทศ อมตะมีความยินดีที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ขยายตลาดไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ตามที่อมตะมีโครงการอยู่
“การพัฒนาของเทคโนโลยี ทำให้การทำธุรกิจในโลกปัจจุบันแบ่งออกเป็น โลกดิจิทัล (Digital World) และโลกกายภาพ (Physical World) และด้วยตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน เราเชื่อว่ามีโอกาสมากมายที่ AMATA Smart City สามารถเป็นพันธมิตรกับ บริษัทนวัตกรรมชั้นนำระดับโลกและจากประเทศไทย” Ms. Lena Ng ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าว
“ตามที่ประเทศไทยเป็นประธานของอาเซียนในปีนี้ อมตะรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงนวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรซึ่งเป็นบริษัทนวัตกรรมระดับโลก และบริษัทจากประเทศไทย ความร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยในครั้งนี้ จะเป็นโมเดลสำคัญที่มีส่วนช่วยสนับสนุนบริษัทไทยที่มีศักยภาพ” Ms. Lena Ng กล่าว
ทินกร เหล่าเราวิโรจน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ ATSI กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว โดยทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยให้ไปสู่จุดหมาย มีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะมีการจัดตั้งโครงการ AMATA-ATSI Digital Innovation Platform เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายในการร่วมขับเคลื่อนดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 และเป็นการรองรับโครงการ AMATA Smart City ประยุกต์ธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยที่เหมาะสมให้กับโรงงานที่อยู่ในพื้นที่ของอมตะ และให้เป็นไปตามระบบ ATSI Ecosystem ประกอบด้วย Industrial & Factory, Education & E-Learning, Tourism & Hospitality, Retail & Wholesale, Transportation & Logistic, Backbone Business & General Software Solution ทั้งนี้เพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านผู้คนสู่สังคมดิจิทัล ร่วมขับเคลื่อนดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ขยายธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยไปต่างประเทศ ทั้งในประเทศเมียนมาร์ เวียดนาม และลาว โดยมีแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันในแบบ Virtual team
ยุวดี แซ่โก่ย เลขาธิการ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ ATSI กล่าวเสริมว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวจะมีการพัฒนาคนสู่ Digital Workforce แบบครบวงจร โดยผ่านเครื่องมือ Digital Learning Tools โดยมุ่งประโยชน์ในการสร้าง Business Model ระหว่าง อมตะ และATSI ทำให้เกิด Benefit Sharing ร่วมกัน สามารถพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรของโรงงานในพื้นที่อมตะ ให้มีทักษะทั้งในด้านการปฏิบัติงานตามสาขาวิชาชีพ และทักษะด้านอื่น ๆ ในการทำงานและการดำเนินชีวิต ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ถึง 30 เมษายน 2564 ซึ่งหลังจากนั้นการต่ออายุของเอ็มโอยูอาจจะขยายโดยการเขียนข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย ในการสนับสนุนการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ต่อไป