Allianz Ayudhya Unlocking Women’s Potential
สถานการณ์ความเท่าเทียมทางเพศในตลาดแรงงานของไทยในปัจจุบัน นับว่ามีพัฒนาการที่ดีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลของ World Bank ระบุว่า ในปี 2023 อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของแรงงานเพศชายอยู่ที่ 75.6% ส่วนแรงงานเพศหญิงอยู่ที่ 59.2% ซึ่งถึงแม้ว่าสัดส่วนแรงงานเพศหญิงจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่ก็ต้องบอกว่า ปัจจุบันแรงงานเพศหญิงก็ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่างในการทำงานอยู่ เมื่อเทียบกับแรงงานเพศชาย
อลิอันซ์ เอเชียแปซิฟิก ซึ่งตระหนักถึงความท้าทายต่าง ๆ ที่แรงงานเพศหญิงเผชิญในตลาดแรงงาน และเล็งเห็นศักยภาพผู้หญิงในอุตสาหกรรมประกันภัย โดยอลิอันซ์มีสัดส่วนหัวหน้าตัวแทนและตัวแทนเป็นผู้หญิงที่ 59% และผู้เข้ารอบคัดเลือก Million Dollar Roundtable (MDRT) มากกว่า 61% เป็นผู้หญิง โดย MDRT คือคุณวุฒิที่ปรึกษาด้านการเงินในระดับสากล ซึ่งได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
ทั้งนี้ อลิอันซ์มีนโยบายการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่มีการแบ่งแยก และให้ความสำคัญกับการดึงศักยภาพของตัวแทน ผ่านการจัดการฝึกอบรมและการสนับสนุนด้านการศึกษา อีกทั้งยังส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและมีการให้เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับบุคลากรโดยไม่แบ่งแยก และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกในธุรกิจ
ตัวแทนของความพยายามในการผลักดันศักยภาพในตัวของผู้หญิงของบริษัทนั้น คงเป็นใครไม่ได้นอกจากคุณปิยะวรรณ ยามะรัต คุณพนิตนาฎ ทวีโภค และคุณกุลนันทน์ จันทะปา ตัวแทนขายประกันของบริษัทที่ต่างใช้ความสามารถและความพยายามจนสามารถประสบความสำเร็จ มีชีวิตในแบบที่ตัวเองอยากจะเป็นได้
จุดเปลี่ยนของชีวิต
เคยมีคนกล่าวไว้ว่า ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน คำกล่าวนี้เป็นเรื่องจริงสำหรับคุณพนิตนาฎ ทวีโภค หรือคุณส้ม ที่ทำงานเป็นลูกเรือให้กับสายการบินแห่งหนึ่งมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี จนกระทั่งตรวจพบว่าตนเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE จากการตั้งท้อง ซึ่งสำหรับคุณส้มนั้น เรื่องนี้ถือว่าเป็น “จุดเปลี่ยนของชีวิต” เลยก็ว่าได้
“พอเป็น (SLE) ค่าใช้จ่ายก็เยอะมาก แต่ส้มไม่มีประกันสุขภาพ เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส้มต้องเป็นคนแบกรับไว้ทั้งหมดคนเดียว” คุณส้มกล่าว โดยภายหลังจากที่ตรวจพบว่าเป็นโรค SLE คุณส้มก็ไม่สามารถทำประกันสุขภาพได้อีกต่อไป ถึงแม้ว่าตัวคุณส้มจะต้องการซื้อประกันสุขภาพแค่ไหน
ประสบการณ์ครั้งนี้เองก็ได้ทำให้คุณส้มเห็นถึงความสำคัญของการทำประกันสุขภาพไว้แต่เนิ่น ๆ ดังนั้นจึงตัดสินใจลาออกจากการทำงานเป็นลูกเรือ เพื่อมาทำงานในวงการประกันแทน เพื่อที่จะได้ใช้เรื่องราวของตัวเองเป็นตัวอย่างให้แก่คนที่ยังไม่มีประกันสุขภาพไว้รองรับในวันที่พบเหตุไม่คาดฝัน โดยสาเหตุที่เลือกทำงานกับบริษัท Allianz Ayudhya ก็เพราะมีคนรู้จักชักชวนให้มาทำ
แต่พอเปลี่ยนสายงานแล้ว คุณส้มยอมรับว่าตัวเองมีจุดเริ่มต้นที่ต่ำกว่าพนักงานใหม่อื่น ๆ ในองค์กร จากการที่ตัวเองมีข้อจำกัดด้านสุขภาพ เพราะเป็นโรค SLE อีกทั้งยังเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ต้องรับภาระเลี้ยงดูแลลูกชายเพียงคนเดียว
อย่างไรก็ตาม คุณส้มก็ใช้ประสบการณ์การทำงานเป็นลูกเรือ ที่เน้นการให้บริการลูกค้าของสายการบินแห่งหนึ่งมามากกว่า 10 ปี มาปรับใช้ให้เข้ากับอาชีพใหม่ อีกทั้งยังมีความเข้าใจเพนพอยต์ต่าง ๆ และรู้วิธีการเข้าหากลุ่มลูกค้าที่เป็นลูกเรือเหมือนกันอีกด้วย ทำให้ในปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าหลัก ๆ ของคุณส้มก็คือกลุ่มลูกเรือสายการบิน
ประกอบกับการทำงานที่ Allianz Ayudhya ที่ทำให้คุณส้มได้ฝึกสกิลหลายอย่าง นอกเหนือจากทักษะด้านการวางแผนการเงิน ตั้งแต่ทักษะการฟังไปจนถึงการขับรถ รวมถึงการที่บริษัทมีมาตรฐานเป็นองค์กรสากล ที่มีการคัดกรองพนักงานจากความสามารถเท่านั้น ก็ทำให้คุณส้มสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองถูกแบ่งแยกเพราะเป็นผู้หญิงแต่อย่างใด ทำให้ปัจจุบัน คุณส้มยอมรับว่าตัวเองมีความสุขและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานในระดับหนึ่งแล้ว
“เราไม่เคยมีความรู้สึกเลยว่าการที่เราเป็นผู้หญิงทำให้ทำงานยากกว่าผู้ชาย ไม่เลย ยิ่งเป็นผู้หญิงยิ่งง่ายกว่าใหญ่เลย เพราะเราสามารถอ่อนโยนได้ เราสามารถแข็งแกร่งได้ในคนเดียวกัน เพราะฉะนั้นส้มมองว่ามันเป็นจุดได้เปรียบ” คุณส้มกล่าว
เรียกได้ว่า คุณส้มเป็นหนึ่งในตัวอย่างของคนที่ไม่ยอมให้ข้อจำกัดด้านสุขภาพมาบั่นทอนตัวเองจริง ๆ ซึ่งพอถามถึงเป้าหมายในการทำงานแล้ว คุณส้มเปิดเผยว่า ตนเองจะพยายามทำงานอย่างหนักเพื่อไต่เต้าขึ้นไปจนถึงตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายขายของ Allianz Ayudhya เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นว่า แม้แต่ตัวคุณส้มที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง ยังสามารถพยายามจนประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นเราจึงต้องลองพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ให้เต็มที่บ้าง
“ชีวิตมันสั้นมากเกินกว่าที่จะมานั่งคิดว่ากลัวหรือไม่กล้า อยากให้ลองลุยให้สุด เพราะเราเท่านั้นที่เป็นคนรับผิดชอบชีวิตเราเอง” คุณส้มกล่าว
จากคุณแม่ฟูลไทม์สู่งานประจำอีกครั้ง
คุณปิยะวรรณ ยามะรัต หรือคุณกิ๊ฟ เรียกได้ว่าเป็น “ผู้หญิงแกร่ง” คนหนึ่ง เพราะเคยทำงานระดับผู้บริหารเป็นเวลาถึงประมาณ 10 ปี ในองค์กรใหญ่แห่งหนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็ต้องผันตัวไปเป็นคุณแม่มือใหม่ หลังจากที่ตั้งท้องลูกแฝดหญิงสอง ทำให้ต้องลาออกมาเป็น “คุณแม่ฟูลไทม์” อยู่ดูแลลูกที่บ้าน ซึ่งถึงแม้การเปลี่ยนบทบาทครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่คุณกิ๊ฟต้องการในช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณแม่มือใหม่ท่านนี้กลับรู้สึกขาดหายอะไรบางอย่าง
“การเป็นคุณแม่ฟูลไทม์มันคือความฝัน แต่สุดท้ายแล้ว การเป็นคุณแม่ฟูลไทม์แล้วไม่ได้ทำงานเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเราไม่มีคุณค่าในตนเอง” คุณกิ๊ฟได้กล่าวไว้
สถานการณ์ของคุณกิ๊ฟน่าจะคล้าย ๆ กับผู้หญิงอีกหลายคนที่จำเป็นหรือเลือกที่จะลาออกจากงานประจำ เพื่อมาเลี้ยงลูกแบบเต็มเวลา
ภายหลังจากที่คลอดลูกแล้ว คุณกิ๊ฟก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการมีประกันให้กับสมาชิกในครอบครัวทุกคน ประกอบกับการที่มีคนรู้จักได้ชักชวนคุณกิ๊ฟเข้าสู่วงการอาชีพประกัน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณกิ๊ฟได้เข้ามาทำงานกับ Allianz Ayudhya จนถึงทุกวันนี้
แต่ก็ต้องบอกว่า การกลับเข้ามาทำงานในช่วงแรก ๆ หลังจากที่ห่างหายมานับปีย่อมเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะคนที่เคยเป็นระดับบริหารอย่างคุณกิ๊ฟ ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าทำงานที่นี่ คุณกิ๊ฟก็ได้ปรับมายด์เซ็ตลองเอาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซนและทำงานอย่างหนัก เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพครั้งนี้ ซึ่งก็นับเป็นโชคดีที่คุณกิ๊ฟมีครอบครัวที่สนับสนุน ในขณะที่หนึ่งในข้อดีของอาชีพนี้ก็คือ การสามารถยืดหยุ่นเวลาการทำงานได้และทำงานที่ไหนก็ได้ ซึ่งตอบโจทย์คุณกิ๊ฟ ที่ต้องรับหน้าที่คุณแม่คอยดูแลลูกแฝดสองที่บ้านด้วย
โดยคุณกิ๊ฟเชื่อว่า ความก้าวหน้าในอาชีพนี้วัดกันที่ความพยายามและวินัยในการพัฒนาตัวเอง โดยที่แต่ละคนที่เข้ามาทำงานในสายงานนี้ จะไม่ได้มีแต้มต่อแตกต่างจากผู้เริ่มต้นคนอื่น ๆ เท่าไรนัก
“เทียบกับลักษณะของบันไดงู คนที่เข้ามาในอาชีพนี้ มันเริ่มต้นที่จุดเดียวกันคือจุดข้างล่างสุด แต่การที่คุณจะก้าวขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความสามารถว่า คุณจะขยัน มีวินัย จะรับผิดชอบ คุณจะพัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง นี่คือสิ่งที่ทำให้อาชีพนี้เป็นอาชีพที่มหัศจรรย์” คุณกิ๊ฟกล่าว
มาถึงวันนี้ ก็เรียกได้ว่า คุณกิ๊ฟได้ก้าวมาถึงจุดที่พึงพอใจกับหน้าที่การงานแล้ว เพราะที่ผ่านมา คุณกิ๊ฟเชื่อว่า ตนเองได้เรียนรู้หลายอย่างจากการทำงานกับองค์กร Allianz Ayudhya และยังสามารถพัฒนาความมีวินัย รวมถึงการมีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานได้ดี โดยหนึ่งในโมเมนต์ที่ทำให้คุณกิ๊ฟรู้สึกภูมิใจมากที่สุดก็คือ การที่ได้ยินลูกแฝดทั้งสองคนแสดงความสนอกสนใจในหน้าที่การงานของคุณแม่
“เราสามารถเป็นโรลโมเดลให้ลูกฝาแฝดหญิงสองคนได้ พอบอกว่า เดี๋ยวคุณแม่จะไปประชุม ขึ้นเวที ลูกทุกคนก็จะพูดว่า โชคดีนะคุณแม่ แล้วก็อยากมานั่งทำงานด้วย กิ๊ฟรู้สึกว่าการที่ได้เป็นโรลโมเดลให้กับคนใกล้ตัวอย่างลูกหรือใครก็แล้วแต่ มันจะส่งต่อไปเหมือนลูกกลิ้งให้กับคนรอบข้างได้ แล้วกิ๊ฟก็มั่นใจว่า สิ่งที่กิ๊ฟทำมันจะเป็นการEmpowerให้กับผู้หญิงรุ่นต่อไปได้” คุณกิ๊ฟกล่าวทิ้งท้าย
ความสุขส่งต่อสู่จากรุ่นสู่รุ่น
หากเทียบกับคุณส้มและคุณกิ๊ฟแล้ว เส้นทางชีวิตก่อนเข้ามาทำงานใน Allianz Ayudhya ของคุณกุลนันทน์ จันทะปา หรือคุณแยม อาจค่อนข้างแตกต่างพอสมควร เพราะภายหลังจากสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด สาขาธุรกิจระหว่างประเทศแล้ว คุณแยมก็ได้เข้าทำงานที่บริษัทประกันแห่งนี้ตามรอยคุณแม่ที่รับหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้บริหารของบริษัท
“ช่วงนั้นเรายังอยู่ปี 3 คุณแม่ที่เป็นผู้บริหารในธุรกิจนี้ ชวนเข้ามาฟัง(บรรยาย)เรื่องของการวางแผนเกษียณ เพราะว่าอยากให้มาเรียนรู้ เพราะแม่แยมเองมองว่าสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะไปทำงานในอาชีพไหนก็ตาม ยังไงเราก็ต้องเรียนรู้เรื่องของการวางแผนการเงิน” คุณแยมเล่าถึงประสบการณ์กับคุณแม่ ที่จุดประกายให้คุณแยมเริ่มสนใจการวางแผนการเงิน จนตัดสินใจเข้ามาทำงานใน Allianz Ayudhya เพราะเชื่อว่า การทำงานสายอาชีพนี้จะทำให้ตัวเองสามารถประสบความสำเร็จได้เร็ว และวางแผนการเงินในอนาคตให้ตัวเองและลูกที่เพิ่งเกิดได้ง่าย
จากวันแรกที่คุณแยมเข้ามาทำงานในบริษัทก็นับเป็นเวลา 7 ปีแล้ว โดยระหว่างการทำงานกับ Allianz Ayudhya คุณแยมได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายจากบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการภาษี การเงินการลงทุน การวางแผนการเงินในอนาคต รวมไปถึงทักษะในชีวิตประจำวัน อย่างทักษะการคิดวิเคราะห์ และทักษะการพูดอย่างมีประสิทธิภาพ
“แยมรู้สึกการทำงานตรงนี้มันไม่ใช่แค่งาน แต่คือแยมได้ใช้ชีวิตไปแล้วจนเกือบทั้งหมด 7 ปีที่ทำงานมานี่ ทุกอย่างมันคือชีวิตแบบที่แยมต้องการเลย คือชีวิตในฝัน แยมเรียนจบธุรกิจระหว่างประเทศมาก็เคยเขียนลิสต์ว่าเราต้องการอะไรบ้าง ต้องการบ้านตอนอายุเท่านี้ ต้องการรถตอนอายุเท่านี้ ต้องการเที่ยวรอบโลก ต้องการซื้อของอะไรก็ตาม เราทำได้หมดแล้ว” คุณแยมเล่าพร้อมกับเสริม ตนเองรู้สึกมีความสุขที่ได้เลือกทำงานที่ Allianz Ayudhya และได้เลือกใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ
เมื่อตัวคุณแยมมีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่แล้ว คุณแยมก็เล่าว่าสิ่งที่อยากจะทำต่อไปในอนาคตก็คือ การส่งต่อความรู้นี้ให้คนอื่นต่อไป หรือ “การโคลนนิ่ง” คนแบบตัวเองให้มากขึ้น เพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถยืนหยัดด้วยตัวเอง เพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงมีการวางแผนด้านการเงินที่รอบคอบไว้ใช้สำหรับอนาคต โดยไม่เดือดร้อนใคร เพราะสำหรับตัวคุณแยมเองก็จำเป็นต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัว ในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยวตั้งแต่อายุยังน้อย
“อาชีพนี้มันทำให้แม้ว่าเราจะเป็นผู้หญิงตัวคนเดียว แต่เราก็สามารถที่จะยืนอยู่ได้ด้วยตัวของเราเอง แล้วก็ทำได้ดีด้วย ไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับเรา อย่างแยมเองที่มีลูกตอนอายุประมาณ 22 ปี เป็นตำหนิในชีวิตและเป็นจุดบกพร่องอะไรในตัวเรา ที่ทำให้เรารู้สึกเราทำอะไรไม่ได้เลยหรือสำเร็จไม่ได้เลย” คุณแยมกล่าวทิ้งท้าย
เรื่องราวชีวิตของคุณแยม คุณส้ม และคุณกิ๊ฟนี้ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้หญิงเก่ง ที่สามารถทำงานอย่างหนักจนสามารถประสบความสำเร็จ เป็นที่พึ่งให้ทั้งตัวเองและคนรอบข้างได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาพแวดล้อมในการทำงานมีส่วนสำคัญอย่างมากกับความสำเร็จของบุคลากร ถ้าองค์กรให้ความสำคัญกับการดึงศักยภาพของพนักงานโดยไม่แบ่งแยก ผ่านการใช้เครื่องมือต่าง ๆ แล้ว บุคลากรทุกคนก็จะสามารถเติบโตได้อย่างไม่มีขีดจำกัด
เขียนและเรียบเรียง : พรบวร จิรภัทร์วงศ์
ติดตาม Business+ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business