Air Taxi

บริการ Air Taxi กำลังบูม

กำลังเป็นเรื่องน่าสนใจว่า บริการใหม่ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องการเดินทางในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป และสร้างความตื่นเต้นในวงการค้าโลก คือ Air Taxi (แอร์แท็กซี่) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีชื่อว่า eVTOL

Air Taxi

Air Taxi แก้ Pain Point การขนส่ง

ธุรกิจให้บริการแท็กซี่วิ่งบนฟ้า หรือ แอร์แท็กซี่ สำหรับการเดินทางสั้น ๆ ในเมืองใหญ่ ๆ นั้นได้เปิดให้บริการมานานแล้ว ซึ่งแต่เดิมใช้เฮลิคอปเตอร์เพื่อขนส่งนักธุรกิจและบุคคลสำคัญ แต่การพัฒนาทางเทคโนโลยีด้านยานบินอัตโนมัติใช้พลังงานไฟฟ้าได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และยังมีการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์ม Car sharing (คาร์ แชร์ริ่ง) ซึ่งเมื่อนำมาบูรณาการกัน ทำให้เกิดบริการแอร์แท็กซี่สมัยใหม่ที่เรียกใช้งานได้แบบออนดีมานด์ แถมยังมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับการใช้เฮลิคอปเตอร์แบบเก่า

บริการแอร์แท็กซี่ มาจากความต้องการปิด Pain Point ด้านการขนส่งในเมืองที่แออัด และได้ความสะดวกรวดเร็วที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บริการดังกล่าว เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ด้านการขนส่ง หรือที่เรียกว่า Urban Air Mobility โดยมีมูลค่าราว 318,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.627 ล้านล้านบาท) ในช่วง 20 ปีจากนี้

บริษัทยักษ์ใหญ่ซุ่มเป็นเบอร์ 1 ใน Mobility Company

เมื่อแนวคิดแอร์แท็กซี่เกิดขึ้น ก็มีหลายบริษัทชั้นนำต่างกำลังซุ่มพัฒนายานบินใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วโลกมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 170 บริษัทแล้ว รวมทั้งยักษ์ใหญ่อย่าง Boeing (โบอิ้ง), Airbus (แอร์บัส) หรือแม้แต่ Tech Companies อย่าง Uber (อูเบอร์) และล่าสุดบริษัทรถยนต์อย่าง Toyota (โตโยต้า) หรือ Hyundai (ฮุนได) ก็กระโดดลงมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งชิ้นเค้กในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน

เหตุผลของ Toyota และ Hyundai สำหรับการรุกเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้คือ มุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อน (Mobility Company) ซึ่งต่างจาก Uber ที่ต้องการจะขยายแพลตฟอร์มแชริ่งให้ครอบคลุมมากขึ้น

Air Taxi

 

ตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นที่หมายปองของบรรดาผู้ให้บริการแอร์แท็กซี่ ออนดีมานด์ มากที่สุด เนื่องจากภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้

โดยต้องย้อนอดีตไปในปี 2544 เริ่มจากองค์การนาช่าและภาคอุตสาหกรรรมการบินและอวกาศเอกชนอเมริกัน ร่วมกันทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเครือข่ายคมนาคมบนอากาศสำหรับเครื่องบินขนาดเล็ก (Small Aircraft Transportation System)

การผลักดันของนาซ่า ถือว่าเป็นการริเริ่มสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาโดรนสำหรับการขนส่งผู้โดยสารและเกิดผู้ประกอบการแอร์แท็กซี่ที่ใช้ยานบินสมัยใหม่อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2559

และผู้ที่ประกาศตัวว่าจะเป็นผู้ให้บริการแอร์แท็กซี่ ออนดีมานด์ รายแรก ๆ ในตลาดสหรัฐอเมริกา คือ Uber 

Uber Elevate ยานบินพลังงานไฟฟ้าของ Uber

2 ปีที่แล้ว Uber ได้เปิดเผยแบบร่างแนวคิดของยานบินที่ต้องการโดยระบุว่าจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้า บินขึ้นลงทางดิ่งและเสียงไม่ดัง และสามารถผลิตได้ในจำนวนมาก จึงได้มีการติดต่อบริษัทผู้ผลิตยานบินไป 7 บริษัท คือ Embaer, Joby, Juant, Pipistrel, Karem Aircraft, Aurora Flight Sciences และ Bell แต่สุดท้ายกลับเป็น Hyundai ค่ายรถยนต์จากเกาหลีใต้ที่เข้าร่วมในภายหลัง และได้เป็นพันธมิตรผู้ผลิตยานบินรายแรกในโครงการ Uber Elevate 

บนเวที CES ในลาสเวกัสเมื่อต้นวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา Hyundai ได้เปิดตัว ‘รถบินได้’ สำหรับการผลิตในเชิงพาณิชย์แล้วชื่อ S-AI โดยประกาศว่าจะมีการนำ ‘รถบินได้’ ของ Hyundai ไปใช้บินบนแพลตฟอร์มแอร์แท็กซี่ของ Uber ในเส้นทางการจราจรที่หนาแน่นในเมืองจากรถยนต์ ซึ่งบริการแอร์ แท็กซี่ จาก Uber มีราคาเดินทางระหว่าง 200-250 ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างที่บอกว่า ขณะนี้มีบริษัทมากกว่า 170 แห่งกำลังพัฒนาสินค้าร่วมในอุตสาหกรรมนี้ และด้วยราคาค่าเดินทางเริ่มต้นราว 200 ดอลลาร์สหรัฐ บางทีการนั่งเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบินเล็กแบบเดิม อาจจะหายไปจากน่านฟ้าเมืองใหญ่ในเวลาอีกไม่นานอย่างแน่นอน

 

Air Taxi
#Urban Air Mobility #Air Taxi #eVTOL #Uber #Hyundai #CES #Businessplus