กลุ่ม Gen Z หรือคนรุ่นใหม่จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและบุคลากรหลักของทุกองค์กรในอนาคต ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการจัดสรรเวลาระหว่างการทำงานกับการพักผ่อนอย่างสมดุล นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นอย่างมาก ดังนั้น องค์กรที่คนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเลือกเข้าทำงานด้วยต้องสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ และเป็นองค์กรที่ตระหนักถึงการดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างแท้จริง ทางฝั่งดูแลทรัพยากรบุคคลจึงต้องมีแนวทางที่จะดูแลพนักงานร่วมไปกับการพัฒนาทักษะและเสริมทัศนคติที่สอดคล้องกับองค์กร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักร่วมกัน
คุณศรัณยา เทียนถาวร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เอไอเอ ประเทศไทย เปิดเผยว่า บุคลากรถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กร ดังนั้น AIA จึงให้ความสำคัญกับการดูแลและพัฒนาพนักงานที่เปรียบเสมือนเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ด้วยแนวคิด WorkWell with AIA ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีโครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมให้พนักงานบรรลุเป้าหมายด้านการมีความเป็นอยู่ที่ดี ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภายใจ สุขภาพทางการเงิน และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข
โดยหลักการปฏิบัติเรื่องบุคลากรของ AIA มี 4 แกนหลักสำคัญที่ยึดโยงกับเรื่องของ ESG นั่นคือ
- LIVE WELL ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับสุขภาพกายของพนักงาน ผ่านการส่งเสริมด้านการออกกำลังกาย การตรวจสุขภาพ โภชนาการที่เป็นประโยชน์ และการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน
- THINK WELL ที่ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพใจ ผ่านการส่งเสริมพนักงานให้ตระหนักรู้ในสุขภาพใจของตนเอง ด้วยการจัดหาเครื่องมือต่าง ๆ ในด้านการให้ความรู้ การชี้แนะ และช่วยแก้ไขปัญหา ให้คำปรึกษา รวมถึงแนะนำผู้ให้บริการด้านสุขภาพใจ ตลอดจนการส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ให้พนักงาน เพื่อให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพใจของตนเอง
- PLAN WELL คือการให้ความสำคัญกับสุขภาพทางการเงิน ยกระดับความรู้ทางการเงิน จัดหาเครื่องมือที่ช่วยให้พนักงานสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง และให้พนักงานรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยวางแผน และบริหารจัดการด้านการเงินในแต่ละช่วงวัยของชีวิต เช่น การวางแผนเกษียณอายุ และการให้ความรู้ทางด้านภาษีกับพนักงาน
- FEEL WELL การให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางสังคม โดยเสริมสร้างให้พนักงานเห็นคุณค่าในตนเองด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร สร้างเครือข่ายที่สนับสนุนการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในวงกว้าง และปลูกฝังให้พนักงานรู้สึกภูมิใจที่ได้อยู่ในองค์กร
“การที่เราอยู่ในอุตสาหกรรมประกันชีวิต เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการดูแลสุขภาพกายของพนักงานของเรา มากกว่าองค์กรอื่น ๆ อย่างน้อยเราต้องมีโครงการสนับสนุนและปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้เหนือกว่าตลาด ไม่ว่าจะเป็นการมีฟิตเนสที่ได้มาตรฐานภายในองค์กร การสร้างความสมดุลในการใช้เวลาในการออกกำลังกายกับการทำงาน หรือพร้อมกับการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นเรื่องปกติในองค์กร” คุณศรัณยากล่าว
นอกจากการให้ความสำคัญด้านสุขภาพกายอย่างมากแล้ว ในช่วง 1-2 ปีนี้ AIA ได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพใจให้กับพนักงานมากขึ้น โดย AIA เชื่อใน Work-Life Integration ซึ่งเป็นการผสมผสานงานกับการใช้ชีวิตเข้าด้วยกัน เพราะเชื่อว่าพนักงานแต่ละคนก็มีความต้องการและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในปัจจุบัน บริษัทฯ จึงมีรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น และยังเป็นรูปแบบการทำงานแบบ Hybrid นั่นคือ สามารถ Work From Home ได้ โดยพนักงานสามารถจัดสรรเวลาได้ด้วยตนเอง
“ยังมีอีกหลายโครงการที่เราต้องการให้พนักงานจัดเวลาการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวให้สมดุลสำหรับตัวเอง อย่างเช่น ในทุก ๆ 2 เดือนเราจะมีโครงการ Early Lights off ซึ่งจะมี 1 วันที่ให้พนักงานกลับบ้านก่อนเวลาเลิกงาน โดยหลักการคือ Your time is Quality time. เพื่อให้พนักงานสามารถใช้เวลาไปกับสิ่งที่อยากทำ หรือมีเวลาให้กับครอบครัว และสิ่งที่ตนเองสนใจเพิ่มขึ้น”
คุณศรัณยามองว่า พนักงานเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้บริษัทฯ ไปถึงเป้าหมายทางธุรกิจ เพราะการพัฒนาสินค้าให้ใกล้เคียง หรือลอกเลียนแบบกันสามารถทำได้ง่ายกว่า แต่การที่พนักงานมีประสิทธิภาพถือเป็น Asset ที่สำคัญและมีคุณค่าต่อองค์กร โดยที่คู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ดังนั้น ทางฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องเข้าใจและให้ความสำคัญเรื่องประสิทธิภาพ ทักษะและความเป็นอยู่ของพนักงานให้มากที่สุด
พัฒนาทักษะพนักงานฉบับ AIA
นอกจากการให้ความสำคัญกับสุขภาพกาย สุขภาพใจ และความเป็นอยู่ของพนักงานแล้ว บริษัทฯ มีการส่งเสริมและสนับสนุนด้านทักษะของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ Leadership Essentials คือทักษะสำคัญ 3 ด้าน ที่ผู้นำในทุกระดับจำเป็นต้องมี เพื่อขับเคลื่อนในเรื่องของการทำงานร่วมกันเป็นทีม ที่ทุกคนมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งทักษะความเป็นผู้นำของเอไอเอทั้ง 3 ด้านนี้ ประกอบด้วย
- Clarity คือความชัดเจนเรื่องของความคาดหวัง โดยที่หัวหน้างานต้องสามารถสื่อสารกับพนักงานได้ว่า มีความคาดหวังอะไร เพื่อให้พนักงานเข้าใจว่า สิ่งที่หัวหน้างานคาดหวังสามารถเชื่อมโยงอย่างไรกับเป้าหมายภาพใหญ่ของธุรกิจ นั่นคือ What is expected of me เพื่อให้พนักงานเห็นถึงความสำคัญและบทบาทของตนเองที่จะส่งผลไปถึงความสำเร็จของบริษัท
- Courage คือความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง AIA เป็นองค์กรที่เชื่อในการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงจะนำมาสู่สิ่งที่ดีขึ้น เมื่อตลาดมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ จึงทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถหยุดนิ่งได้ ต้องพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ห่างจากคู่แข่ง ดังนั้น DNA ของพนักงาน AIA คือ Believe in better และบริษัทฯ ต้องมองหาคนที่เชื่อในการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงจะนำมาสู่สิ่งที่ดีขึ้น โดยยึดหลักการในการดำเนินงาน Do the right thing, in the right way, with the right people, the right results will come.
- Humanity คือการมีมนุษยธรรม โดย AIA ให้ความสำคัญเรื่องความเป็นธรรม หัวหน้างานควรต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม อาจจะไม่เป็นหัวหน้าที่ใจดี แต่เป็นหัวหน้าที่น่าเคารพ ตลอดจนปฏิบัติกับน้อง ๆ ในทีมหรือเพื่อนร่วมงานอย่างเข้าอกเข้าใจ
“เรามีโปรแกรม inclusive leadership ที่ทำให้พนักงานเข้าใจในความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Generation และพื้นฐานความต้องการที่แตกต่าง จึงต้องทำความเข้าใจกันว่า แต่ละคนต้องการอะไร เพื่อเป้าหมายเดียวกัน ที่สำคัญต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถลองผิดลองถูก ดังนั้น เราต้องเปิดรับการเสนอไอเดียหรือความคิดริเริ่มในการทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า โดยตั้งอยู่ในความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ากับองค์กร”
ขณะที่การ Up-skills และ Re-skills ให้กับพนักงานนั้น AIA มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะของพนักงานในด้าน Technology, Digital, Analytics (TDA) โดยเราคำนึงถึงความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บริษัทฯ จึงต้องวางแผนว่า จะทำอย่างไรให้บุคลากรของบริษัทฯ เข้าใจตลาด และความรวดเร็วต่อความต้องการของลูกค้า ด้วยการใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล และนำมาวิเคราะห์
นอกจากการส่งเสริมด้านทักษะและการกล้าแสดงความคิดเห็นแล้ว AIA ยังสนับสนุนเรื่องการสร้างความร่วมมือระหว่างทีม โดยมีการทำงานในรูปแบบ Tribe ซึ่งแต่ละโครงการจะไม่มีเจ้าภาพหรือหน่วยงานใดรับผิดชอบเพียงบุคคลหรือฝ่ายงานเดียว แต่ต้องนำคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมกันทำงาน เพื่อให้สามารถมองภาพได้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการทำงาน และมองเห็น Output คืออะไร เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการลูกค้าให้เร็วขึ้น
“Journey ของ AIA คือการดูแลพนักงานให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่อีกสิ่งที่สำคัญคือ ธุรกิจเราเป็นเรื่องของคน ดังนั้น เราต้องสรรหาคนให้ถูกต้อง พัฒนาคนให้ถูกต้อง และทำให้คนมีส่วนร่วม รู้สึกภูมิใจที่จะอยู่กับเราต่อไปโดยไม่ได้มีการแบ่งแยกว่า จะต้องมีพนักงานอายุเท่าไหร่หรือเพศใด เพราะเราไม่แบ่งแยกและไม่มีกฎเกณฑ์ด้านอายุและประสบการณ์ แต่มุ่งเน้นที่การสนับสนุนความหลากหลาย การอยู่ร่วมกัน การเปิดโอกาสพัฒนาทักษะและการเรียนรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง และรุ่นน้องสู่รุ่นพี่ เพื่อความสำเร็จของตัวพนักงาน และองค์กร” คุณศรัณยากล่าวในตอนท้าย
ในมุมมองของ ‘Business+’ AIA เป็นองค์กรที่ทันสมัย ทั้งในมุมของความยืดหยุ่นในการทำงาน การพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้กับพนักงาน และให้ความสำคัญกับกลุ่มคนทุก Generation เพื่อให้มีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันแบบไม่แบ่งแยก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้องค์กรได้รับผลลัพธ์กลับมาในรูปแบบของประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด ขณะที่การเป็นหนึ่งในบริษัทต้นแบบที่มีแบบแผนที่ชัดเจนด้าน ESG และสร้างความตระหนักตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคมให้กับพนักงาน ทำให้เราได้เห็นการเติบโตของ AIA บนวิถีของความยั่งยืน จึงไม่แปลกใจที่ AIA เป็นหนึ่งในบริษัทอันดับต้น ๆ ที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุด