Hyper Aged Japan

ถอดกลยุทธ์รัฐบาล ‘ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’ 2 ประเทศที่รับมือผลกระทบ Aged Society ได้จริง!!

ในปี 2565 จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยสูงถึง 12.12 ล้านคน ดังนั้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก เราจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่น่าสนใจของต่างประเทศ คือ “การนำผู้สูงอายุกลับเข้ามาทำงานใหม่”

โดยครั้งนี้ ‘Business+’จะมาวิเคราะห์กลยุทธ์นี้ด้วยทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ที่ใช้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย ปัจจัยการผลิต 2 อย่างคือ ทุน และ แรงงาน หรือที่เรียกว่า Solow growth model โดยที่ทฤษฏีนี้มีรายละเอียดอีกมายมาย แต่ครั้งนี้เราจะหยิบยกมาอธิบายเพียงบางส่วนที่สอดคล้องกับแนวความคิดที่ประเทศต่าง ๆ จะนำกลุ่มผู้สูงอายุกลับเข้ามาทำงานใหม่

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า แบบจำลองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโซโล (Solow growth model) นั้นจะศึกษาเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงด้วย ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว (GDP per Capita) หรือรายได้เฉลี่ยต่อคน นั่นเอง และเราจะหยิบมาพูดเพียง 2 ปัจจัย ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ ตามแนวคิดของ Solow growth model คือ การออมเงินเพื่อการลงทุน และเทคโนโลยี หรืออะไรก็ตามที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพแรงงาน (ในที่นี้คือ ผู้สูงอายุ)

โดย “การออมเงิน” จะส่งผลต่อเศรษฐกิจดังนี้ หากคนในประเทศออมเงินด้วยการฝากธนาคาร ทางธนาคารก็จะนำเงินที่ได้รับจากคนเหล่านี้ไปปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจ โดยที่ภาคธุรกิจจะนำเงินจำนวนนี้ไปใช้เพื่อลงทุนทำธุรกิจ โดยเจ้าของธุรกิจจะตัดสินใจว่าในช่วงนั้น ควรจะลงทุนมาก หรือน้อย ส่วนหนึ่งก็จะขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยเป็นต้นทุนของเงินที่ทำการกู้มาจากธนาคาร

ซึ่งในบางช่วงเราจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง นั่นเป็นเพราะธนาคารขาดเงินให้ภาคธุรกิจ หรือให้คนกู้ ธนาคารจึงขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อจูงใจให้คนนำเงินไปฝากธนาคาร แต่ถ้าหากคนมีการออมเงินจำนวนมากธนาคารก็จะมีเงินสำหรับการปล่อยกู้มาก จึงสามารถปล่อยกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อต้องการให้ภาคธุรกิจลงทุนมากขึ้น ซึ่งการที่ภาคธุรกิจลงทุนเพิ่มขึ้นก็จะส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

ส่วน การเพิ่มหรือลดประสิทธิภาพแรงงาน จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ดังนี้ หากเราเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแรงงานไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามจะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น เช่น การจัดฝึกอบรมเสริมทักษะความรู้ให้กับแรงงาน  ,การใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแรงงาน ขณะที่ในทางตรงข้ามหากเกิดวิกฤติต่างๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพแรงงาน ก็จะทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถดถอย โดยในเนื้อหานี้เราจะยกตัวอย่างปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพแรงงานคือ ภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society)

ซึ่งประเทศใดก็ตามที่เกิดภาวะสังคมผู้สูงวัย ก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น เดิมแรงงานกลุ่มหนึ่งมีค่าแรงวันละ 400 บาท และสามารถผลิตสินค้าได้วันละ 10 ชิ้น และหากมีการซื้อขายสินค้าเหล่านี้ก็จะรวมอยู่ในรายได้ของประเทศชาติ ส่งผลดีต่อรายได้ประชาชาติหรือผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) แต่เมื่อแรงงานกลุ่มนี้เกษียณอายุก็หมายความว่าแรงงานกลุ่มนี้ไม่มีรายได้ และผลิตสินค้าไม่ได้เลย เสมือนว่าประสิทธิภาพแรงงานเฉลี่ยทั้งประเทศลดลง และประเทศขาดแคลนรายได้ และยิ่งไปกว่านั้น หากผู้สูงอายุกลุ่มที่เกษียณอายุไปไม่มีรายได้ และไม่มีเงินออมก็เท่ากับว่าคนเหล่านี้จะต้องพึ่งพาบุตรหลานที่เป็นกำลังแรงงานมาดูแล ทำให้รายจ่ายครัวเรือนเหล่านี้สูงขึ้น และเงินออมของครัวเรือนลดลง

จะเห็นได้ว่าภาวะผู้สูงอายุส่งผลต่อทั้งประสิทธิภาพแรงงานและการออมของครัวเรือน จึงทำให้ GDP ลดลง แต่จำนวนประชากรที่เป็นตัวหารยังมีจำนวนเท่าเดิมเพราะเป็นแรงงานกลุ่มเดิม ดังนั้น GDP per Capita จึงลดลงตาม

ดังนั้น เมื่อสังคมผู้สูงอายุเกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศ หนึ่งในวิธีที่ถูกนำมาแก้ไขคือ การนำผู้สูงอายุที่เกษียณไปแล้วกลับเข้ามาทำงาน ซึ่งการกลับเข้ามาทำงานนี้หมายถึงว่าแรงงานกลุ่มนี้ที่ไม่มีรายได้และผลิตสินค้าไม่ได้เลย ก็จะกลับมามีรายได้และสามารถผลิตสินค้าได้ใหม่ถึงแม้รายได้และจำนวนสินค้าที่ผลิตได้จะไม่เท่าก่อนเกษียณ เพราะปัญหาด้านสุขภาพ ความแข็งแรงของร่างกายลดลงไปตามอายุ แต่การกลับเข้ามาทำงานในวัยเกษียณ ก็ยังดีกว่าไม่ทำงานเลย ซึ่งจะทำให้ประเทศขาดรายได้ เราจึงสามารถสรุปได้ว่า แนวคิดการนำกลุ่มผู้สูงอายุกลับเข้ามาทำงานใหม่ก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตขึ้นได้จริง เพียงแต่รัฐบาลจะต้องมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นรถขนส่งสาธารณะ หรือการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น ทางเดินสำหรับผู้สูงอายุ ราวจับบันได หรือแม้กระทั่งห้องน้ำที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ และที่สำคัญที่สุดคือ สวัสดิการที่จูงใจให้ผู้สูงอายุกลับเข้ามาทำงานใหม่อีกครั้ง

โดยในบทความนี้ ‘Business+’จะหยิบยกตัวอย่างกรณีศึกษาแนวทางแก้ปัญหาของประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่มีสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุอย่างโดดเด่น และสามารถนำมาเป็นต้นแบบให้กับหลาย ๆ ประเทศได้

‘ญี่ปุ่น’กับการทุ่มงบมหาศาลแก้ปัญหา Hyper Aged Society

ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2513 จนกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2537 และกลายเป็น Hyper-Aged Society ในปี 2550 ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นทุ่มเงินจำนวนมหาศาลสำหรับแก้ปัญหาสังคมสูงวัย โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามออกมาตราการต่างๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุยาวไปจนถึงอายุ 65 ปี และการจูงใจที่รัฐบาลได้ให้กับแรงงานสูงอายุนั้น มากเพียงพอที่จะทำให้แรงงานเหล่านั้น อยากกลับมาทำงานแม้เกษียณอายุไปแล้ว จนทำให้การพบเห็นผู้สูงอายุญี่ปุ่นยังคงทำงานอยู่ให้เห็นเป็นเรื่องชินตาของคนต่างประเทศ

โดยมาตรการของประเทศญี่ปุ่นที่น่าสนใจนั้นแบ่งออกป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ

1. การขยายอายุเกษียณในระบบประกันสังคมตามกฎหมายบำนาญของแรงงาน
2. กฎหมายการจ้างงานผู้สูงอายุ

3. มาตราการเสริมต่าง ๆ

สำหรับการขยายอายุเกษียณในระบบประกันสังคมตามกฎหมายบำนาญของแรงงานนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการขยายระยะเวลาเกษียณอายุเป็น 65 ปี ในระบบประกันสังคมตามกฎหมายบำนาญสำหรับแรงงานญี่ปุ่น (National Pension System) โดยปรับบำนาญพื้นฐาน (basic pension) จากเดิมคนญี่ปุ่นทุกคนที่อายุ 20 ปี ถึง 59 ปี ต้องเข้ารับประกันตนแล้วจะได้รับบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่ปัจจุบันได้ปรับให้เป็น 65 ปี ซึ่งตรงนี้จะทำให้แรงงานมีแรงจูงใจ หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่าแกมบังคับให้ทำงานไปจนถึงอายุ 65 ปี เพื่อรับบำนาญนั่นเอง ขณะที่ได้ทำการปรับบำนาญสำหรับลูกจ้าง (Employee Pension) ด้วยเช่นกัน ทั้งบำนาญสวัสดิการ (Welfare pension) และบำนาญสำรองเลี้ยงชีพ (Mutual aid pension)  ได้ถูกปรับเพิ่มอายุเกษียณเป็น 65 ปี ส่วนของประเทศไทย ยังอยู่ที่ 60 ปี แม้จะมีแนวคิดให้ขยายเป็น 63 ปี แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังถูกผ่อนผันออกไปก่อน

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ออกกฎหมายการจ้างงานผู้สูงอายุ ด้วยการใช้กฎหมายการจ้างงานผู้สูงอายุ 2 ฉบับ เพื่อบังคับใช้กับนายจ้าง คือ กฎหมายความมั่นคงด้านการจ้างงานผู้สูงอายุปี พ.ศ. 2514 (Law Concerning Stabilization of Older Persons1971) และกฎหมายมาตราการการจ้างงาน ปี พ.ศ.2509 (Employment Measure Laws 1996)

โดยกฏหมายดังกล่าวกำหนดให้ภาคเอกชนส่งเสริมการจ้างงานที่มั่นคง โดยภาคเอกชนต้องขยายเวลาเกษียณอายุลูกจ้างเป็น 65 ปี และยังมีมาตราการช่วยเหลือการสมัครงานใหม่ โดยเอกชนต้องช่วยจัดหางานใหม่ให้กับแรงงานที่มีอายุ 45-65 ปีที่จะถูกเลิกจ้างในบริษัทของตน

นอกจากนี้ยังมีโครงการศูนย์ทรัพยากรมนุษย์สูงวัย (Silver Human Resources Centers) เพื่อจัดหางานชั่วคราวระยะสั้น (10วันต่อเดือน) หรืองานลักษณะเบา (20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) รวมถึงการให้คำแนะนำและจัดฝึกอบรมให้กับผู้สูงอายุอีกด้วย โดยงานประเภทนี้จะจูงใจให้ผู้สูงอายุกลับมาทำงาน เพราะเป็นงานที่ไม่เหนื่อย และใช้เวลาทำงานน้อย เหมาะสำหรับสุขภาพร่างกายของคนที่มีอายุ

นอกจากทั้ง 2 ส่วนหลัก ๆ แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีการออกมาตราการเสริม ด้วยการขอความร่วมมือจากชุมชน และยังใช้มาตราการหลายรูปแบบเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย อย่างเช่น การเพิ่มสถานที่ทำงานให้ผู้สูงอายุเข้าทำงานได้โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องอายุ  การเพิ่มสถานที่ให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานท้องถิ่น หรือ กิจกรรมทางสังคมได้ ขณะที่รัฐบาลมีการให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการในการจ้างงานผู้สูงอายุเป็นอย่างดีอีกด้วย

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการดำเนินการนโยบายต่างๆเพื่อนำกลุ่มผู้สูงอายุกลับเข้ามาทำงานอย่างจริงจัง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 และดำเนินโครงการเต็มปีในปี 2560 ซึ่ง ‘Business+’ ได้วิเคราะห์ข้อมูลจาก World Bank และพบว่าค่า GDP per capita ของประเทศญี่ปุ่นในปี 2560 อยู่ที่ 38,834.1 เหรียญสหรัฐ (ระหว่างดำเนินนโยบาย) และในปี 2561 เพิ่มขึ้นมาที่ 39,727.1 เหรียญสหรัฐ (หลังดำเนินนโยบาย) เท่ากับว่า ภายหลังดำเนินนโยบาย GDP per capita มีค่าสูงขึ้น 893 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นการเติบโต 2.3% ซึ่งถือว่าสูงมากทีเดียว ซึ่งเป็นไปตามทฤษฏีการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานในประเทศภายใต้แนวคิดของ  Solow growth model เท่ากับว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา Aged Society ไปแล้ว

ดังนั้น ถึงแม้ว่าขณะนี้ญี่ปุ่นจะกลายเป็น Hyper Aged Society แต่หากดำเนินโครงการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง ญี่ปุ่นเองก็จะได้รับผลกระทบน้อยลง และตัวเลขทางเศรษฐกิจก็ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย

หากใครเคยไปเที่ยวที่เมืองอาคิตะ (Akita) ที่อยู่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ก็จะเห็นว่าเป็นเมืองที่มีผู้สูงอายุออกมาทำงานกันอย่างมากมาย ทั้งคนขับรถโดยสาร ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งคนงาน ก็มีผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุเป็นเพราะ เมืองอาคิตะเป็นเมืองที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดของญี่ปุ่น โดยอายุเฉลี่ยของคนที่เมืองนี้อยู่ที่ 53 ปี แต่การมีผู้สูงอายุจำนวนมากก็ไม่ได้ทำให้เมืองนี้เป็นเมืองที่เติบโตช้า หรือล้าหลัง แต่กลับกลายเป็นเมืองที่ว่ากันว่าจะเป็นต้นแบบในอนาคตสำหรับโลกที่กำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเลยทีเดียว

 

‘เกาหลีใต้’ ต้นแบบนโยบาย Aged Society แม้งบประมาณจำกัด

ทีนี้เราหันมาดูประเทศเกาหลีกับการแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุกันบ้าง ในเกาหลีใต้จะเรียกสังคมผู้สูงอายุว่า Aging Friendly Industry หรือ ‘สังคมที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ’ โดยในปี 2562 จำนวนผู้สูงอายุของเกาหลีใต้ที่มีอายุเกิน 65 ปี อยู่ที่ 14.9% เท่ากับว่า เกาหลีใต้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เร็วกว่าไทย 2 ปี และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น Hyper Aging Society ภายในปี 2569

โดยในช่วงแรกเกาหลีใต้พยามแก้ไขปัญหาตามประเทศญี่ปุ่นแต่กลับไม่ได้ผลเนื่องจากนโยบายที่ญี่ปุ่นใช้แต่ละนโยบายใช้งบประมาณมหาศาล แต่เกาหลีใต้เองมีงบประมาณจำกัด อีกทั้งเกาหลีใต้ยังประสบปัญหา “ผู้สูงอายุยากจน”ทำให้การแก้ปัญหาของเกาหลีใต้ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาเกาหลีใต้ออกแบบนโยบายใหม่เพื่อมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้ชุมชนต่างๆมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและจะเน้นการให้บริการแทนตัวเงินกับผู้สูงอายุ โดยโครงการที่น่าสนใจคือ “ศูนย์สวัสดิ์การสังคมในชุมชน” ซึ่งเป็นศูนย์ที่รัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดตั้งศูนย์สวัสดิ์การสังคมภายในชุมชนในปี 2549 จำนวน 4 แห่ง เพื่อเป็นตัวกลางระหว่างชุมชนกับผู้สูงอายุ โดยรัฐบาลจะขอความร่วมมือกับร้านค้าและธุระกิจต่างๆภายในชุมชนเพื่อให้มีการจัดบริการต่างๆฟรีให้กับผู้สูงอายุ เช่น ร้านตัดแว่นให้ผู้สูงอายุฟรี 2 คน ต่อเดือน ,การแจกข้าวให้กับผู้สูงอายุ และอื่นๆ จนในปี 2565 โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และมีการขยายตัวออกไปในชุมชนต่างๆ กว่า 500 แห่งซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการลดภาระรายจ่ายผู้สูงอายุทำให้ครัวเรือนสามารถออมเงินได้สูงขึ้น โดยอัตราส่วนระดับการออมรวมทั้งประเทศต่อ GDP (Gross domestic savings % of GDP) ของเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี 2549-2564 สูงกว่าญี่ปุ่นมาโดยตลอด และปี 2564 สูงถึง 35.7% ขณะที่ญี่ปุ่นปี 2564 เท่ากับ 24.7% (ข้อมูลจาก World Bank ปี 2564) ซึ่งการออมเงินที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้ผู้สูงอายุมีเงินใช้จ่ายในยามจำเป็นมากขึ้น

ทีนี้มาดูผลสำเร็จของการดำเนินนโยบายของเกาหลีใต้กันบ้าง จากข้อมูลของ World Bank พบว่าค่า GDP per capita ของเกาหลีใต้ในปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่อยู่ระหว่างดำเนินนโยบายผู้สูงอายุอยู่ที่ 21,743.5 เหรียญสหรัฐ ต่อมาในปี 2550 หลังดำเนินนโยบายได้  1 ปี GDP per capita ขยับขึ้นมาที่ 24,086.4 เหรียญสหรัฐฯ จะเห็นว่าหลังดำเนินนโยบาย GDP per capita มีค่าสูงขึ้น 2,342.90 เหรียญสหรัฐ คิดเป็น 10.78 % ซึ่งส่งผลดีต่อการเจริญเติบทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เป็นอย่างมากเลยทีเดียว

หลังจากเห็นความสำเร็จในของทั้ง 2 ประเทศแล้ว ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยกันบ้าง โดยเราวิเคราะห์ด้วยการเปรียบเทียบงบประมาณรายจ่ายภาครัฐของไทยในปี 2566 กับญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยพบว่าประเทศไทยใช้งบประมาณอยู่ที่ 3.19 ล้านล้านบาท ส่วนญี่ปุ่นใช้งบประมาณ 29.74 ล้านล้านบาท (499.00 พันล้านเหรียญ) และเกาหลีใต้ 15.97 ล้านล้านบาท (639.00 ล้านล้านวอน)

เท่ากับว่าจะเห็นได้ว่าประเทศไทยใช้งบประมาณต่ำกว่าญี่ปุ่นถึง 9.34 เท่าตัว และต่ำกว่าเกาหลีใต้ 5.01 เท่า ดังนั้น จากกรณีศึกษานโยบายของทั้ง 2 ประเทศแล้ว ไทยเราอาจจะเหมาะกับการให้สวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงินมากกว่า เพราะเราคล้ายคลึงกับเกาหลีใต้ คือ มีงบประมาณที่มีจำกัด ดังนั้น นโยบายที่เราใช้จำเป็นต้องมีการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนนอกเหนือจากการใช้งบประมาณรายจ่ายภาครัฐเพียงอย่างเดียว

สำหรับเนื้อหาด้านผลกระทบในแง่มุมต่าง ๆ และประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับสงคมผู้สูงอายุอื่นๆ ‘Business+’ จะมานำเสนอในคอนเทนต์ไปกับแคมเปญพิเศษ “The Coming of a Hyper-aged Society” เฒ่าทันความสูงวัย ก่อนไทยเข้า Hyper-Aged ซึ่งสามารถรอติดตามอ่านกันได้ที่แฟนเพจ และเว็บไซต์ของ Business+https://www.thebusinessplus.com/hyper_aged/?version=Bplus1