ซึ่งหากย้อนกลับไปนับตั้งแต่จุดกำเนิดของไอทีวีนั้น เกิดจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ซึ่งในขณะนั้นเกิดเหตุการนองเลือด ที่ประชาชนคนไทยได้ประท้วง และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งเป็นการรัฐประหารรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ จนนำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม
โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากแต่ขณะนั้น ประเทศไทยมีสื่อโทรทัศน์เพียง 5 ช่อง นั่นคือ ช่อง 3 ,ททบ.5 ,ช่อง 7 (BBTV), ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.และสทท. ซึ่งทั้ง 5 ช่องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐบาล ดังนั้น จึงไม่มีการรายงานข่าวเหตุการณ์นองเลือดตามความจริง ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ประชาชนจึงเรียกร้องให้มีทีวีเสรีที่ไม่ขึ้นกับรัฐบาลเพราะต้องการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นกลาง
ทางธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัท สหศินิมา จำกัด และบริษัทอื่นๆที่เกี่ยวข้องจึงได้เกิดเป็นแนวคิดการตั้งทีวีเสรี และก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในวันที่ 9 พฤษภาคม 2538 เริ่มออกอากาศวันแรก 1 กรกฎาคม 2539 เวลา 19.00 น. โดยผู้ประกาศข่าวคู่แรกคือ กิตติ สิงหาปัด และ เทพชัย หย่อง หากนับเวลาตั้งแต่การออกอากาศวันแรกจนถึงยุติออกอากาศ 7 มีนาคม 2550 (จากปัญหาสัมปทาน) คิดเป็นระยะเวลาการออกอากาศ 10 ปี 8 เดือน 6 วัน 5 ชั่วโมง
โดย iTV ถือว่ามีกลยุทธ์การบริหารที่โดดเด่นเป็นอย่างมากจนทำให้สามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดจาก 5 ช่องหลักมาได้ ทั้งจาก Positioning ความเป็นรายการข่าวที่รวดเร็ว เป็นกลาง และนำเสนออย่างตรงไปตรงมา
ซึ่ง ‘Business+’ สรุปกลยุทธ์การบริหารของ iTV จนกลายเป็นทีวีที่คุ้นหูคุ้นตากันอย่างดีเอาไว้ 5 ข้อดังนี้
- เน้นภาพลักษณ์การนำเสนอข่าวสาร และสาระอย่างเสรี ตรงไปตรงมา (ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐฯ)
- นำเสนอข่าวรวดเร็วฉับไว
- ในช่วงแรกมีรายการข่าว และรายการสารคดีเชิงข่าวอย่างเป็นเอกลักษณ์ด้วยข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน
- ตั้งชื่อรายการข่าวพ่วงชื่อสถานีทุกครั้ง เช่น ข่าวเช้าไอทีวี, ข่าวเที่ยงไอทีวี และข่าวค่ำไอทีวี เพื่อสร้างตัวตน และสร้างการรับรู้ต่อผู้ชม
- ใช้การส่งสัญญาณจากยอดอาคารใบหยก 2 และมีสถานีเครือข่ายทั้งสิ้น 52 แห่งทั่วประเทศ ทำให้กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีเครือข่ายมากที่สุดครอบคลุมผู้รับชมเกือบ 98% ของประเทศ
โดยจุดเด่นที่ทำให้ภาพจำของไอทีวีเกิดขึ้นได้นั้น เริ่มต้นจากการนำเสนอข่าวภาคค่ำประจำวัน ซึ่งพ่วงชื่อสถานีเรียกทุกครั้ง ทั้งข่าวเช้าไอทีวี, ข่าวเที่ยงไอทีวี และข่าวค่ำไอทีวี ซึ่งการตั้งชื่อแบบนี้เพื่อทำให้ชื่อไอทีวีติดหูผู้คน จนกลายเป็นคำที่ต่างคุ้นเคยว่า “3,5,7,9,11 และ iTV”
นอกจากนี้การคัดเลือกผู้ประกาศข่าวของสถานีไอทีวี (ITV) ไม่ว่าจะเป็น คุณกิตติ สิงหาปัด คุณเทพชัย หย่อง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวในขณะนั้น รวมไปถึงในยุคที่คุณไตรภพ ลิมปพัทธ์ เข้ามาบริหาร ก็ยังคงจุดเด่นด้านคาแรกเตอร์ผู้ประกาศและพิธีกรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะคุณไตรภพ ลิมปพัทธ์ ซึ่งเป็นทั้งพิธีกร และเป็นหนึ่งในอดีตประธาน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไอทีวีช่วงปี 2547-2549
นอกจากนี้ยังมีพิธีกรอีกหลายท่านที่ขณะนี้เป็นผู้มีชื่อเสียงอย่างมาก ไม่ว่าจะคุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย หรือ คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ก็ล้วนแต่เลยเป็นพิธีกรข่าวจากโทรทัศน์ไอทีวีทั้งนั้น
นอกจากนี้หลังจากสามารถทำให้รายการข่าวมีชื่อเสียงติดหูคนได้แล้วนั้น ในช่วงที่ คุณไตรภพ ได้เข้ามาเป็นผู้บริหารไอทีวีก็ได้ปรับผังรายการโดยเน้นวาไรตี้มากขึ้นส่งผลให้ไอทีวีสามารถขยายไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆได้มากมาย โดยมีการนำรายการทั้งหมดจาก บจก.บอร์นฯ (ไตรภพนั่ง กรรมการผู้จัดการ) ได้แก่ ทไวไลท์ รวมไปถึงนำรายการที่ออกอากาศในช่อง 3 เช่น เกมเศรษฐี, วอท อีส อิท? อะไรกันนี่ และจู๊กบ็อกซ์เกม มาออกอากาศทางไอทีวีด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นความสำเร็จของโทรทัศน์ไอทีวีในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามไอทีวีหยุดดำเนินการธุรกิจสถานีโทรทัศน์ไอทีวีตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 2550 หลังจากถูกบอกเลิกสัมปทาน และถูกฟ้องให้ชำระหนี้ และส่งมอบทรัพย์สินที่ คืนให้ สปน. โดยฐานะการเงินปัจจุบันนั้นไอทีวีมีหนี้สินรวมราว 2,892 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงติดลบราว 1,626 ล้านบาท และมีรายได้จากดอกเบี้ยของตราสารหนี้และเงินลงทุนเท่านั้น (ไม่ใช่รายได้จากกิจกรรมหารายได้จากองค์กร) แต่ประเด็นของคลิปเสียงและรายงานการประชุมนั้น ยังคงเป็นประเด็นที่เราต้องจับตากันต่อไป