SET

SET ปรับตัวลง โอกาสดีนักลงทุน?

ในการลงทุนแต่ละครั้งเรามักจะได้ยินประโยคนึงเสมอ คือ ‘การลงทุนมีความเสี่ยง’ โดยความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความไม่แน่นอนหรือโอกาสที่เราจะได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งความเสี่ยงและผลตอบแทนเป็นของคู่กัน ถ้าหากอยากได้ผลตอบแทนในครั้งละมาก ๆ ก็ต้องลงทุนเยอะและต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะตามมาให้ได้

สำหรับการลงทุนในปัจจุบันมีแพลตฟอร์ม และรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย โดยการลงทุนก็จะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น กองทุน หุ้น บิทคอยน์ ทองคำ ธุรกิจ แต่ความเสี่ยงที่จะเผชิญก็ไม่ได้ต่างกันมาก ซึ่งจากผลสำรวจตามช่วงวัยของการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นปี 2564 พบว่า ผู้ที่มีอายุช่วงระหว่าง 25-41 ปี หรือ Gen Y มีสัดส่วนการลงทุนกว่า 51% ส่วนผู้ที่มีอายุระหว่าง 42-56 ปี หรือ Gen X มีสัดส่วน 27%, ขณะที่ผู้ที่มีอายุระหว่าง 57 ปีขึ้นไป หรือ Baby boom&Postwar มีสัดส่วน 13%, ส่วนผู้ที่มีอายุระหว่าง 13-24 ปี หรือ Gen Z มีสัดส่วน 8% และอื่น ๆ มีสัดส่วนการลงทุน 1%

โดยหากพูดถึงความเสี่ยงที่ต้องเผชิญในการลงทุนหลัก ๆ ก็จะมี 6 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1.ความเสี่ยงจากตลาด (Market Risk), 2.ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk), 3.ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk), 4.ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest Rates Risk), ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Risk) และ 6.ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง

ล่าสุดภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปิดที่ระดับ 1,529.12 จุด ปรับลดลง 5% จากเดือนก่อนหน้า และลดลง 8.4% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยปรับไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในอาเซียน ทั้งนี้มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดหลักทรัพย์ SET และ mai อยู่ที่ 46,811 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 43.1%

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ดัชนีก็มีการปรับตัวลงอย่างหนัก ซึ่งปัจจัยที่กดดันทำให้ปรับตัวลงมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับ sentiment เชิงลบมาจากทางฝั่งของตลาดต่างประเทศที่เห็นได้ชัดเลยคือ การล้มของธนาคารใหญ่ในสหรัฐอเมริกา อย่าง Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้ Fintech และ Startup ตามมาด้วย Signature Bank และ First Republic ทำให้หุ้นกลุ่มแบงก์ไทยได้รับผลกระทบถูกเทขายออกมา เนื่องจากนักลงทุนเกิดความกังวลกลัวจะเป็นเหมือนต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และภาวะเศรษฐกิจที่ส่อแววถดถอย ส่งผลทำให้นักลงทุนเกิดการแพนิก

แต่ทั้งนี้จากข้อมูลอ้างอิงของตลาดหลักทรัพย์ไทย ในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่ามีเงินลงทุนไหลเข้ามายังตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องก็ตาม โดยผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวมทั้งปีอยู่ที่ 196,886 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่มีการเผยแพร่ข้อมูลนี้ในปี 2535 ก็เปรียบได้ว่าตลาดหุ้นไทยมีความแข็งแกร่งกว่าเพื่อนบ้านนั่นเอง

โดยทั่วไป เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ตลาดมีการปรับฐานลง นักลงทุนมักจะอาการแพนิก และรู้สึกว่าหากยังเลือกลงทุนอาจจะทำให้เกิดผลขาดทุน และผลตอบแทนที่ได้อาจจะลดน้อยลงในอนาคต จึงมีการหยุดการลงทุนเกิดขึ้น เหมือนกรณีของบิตคอยน์ที่เคยร่วงหลุด 20,000 ดอลลาห์ จากนักลงทุนทั่วโลกเทขายสินทรัพย์เสี่ยง หลังธนาคารกลางสหรัฐเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และลดวงเงินคิวอีลง นักลงทุนย้ายสินทรัพย์ไปลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงเวลานั้น

แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีนักลงทุนบางส่วนที่มองเห็นโอกาสจากสถานการณ์นี้ โดยมองว่าช่วงตลาดขาลง เป็นช่วงของการเข้าซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่น่าสนใจ อาทิ การแจกปันผลเป็นเงินหรือหุ้น ซึ่งนอกจากจะได้รับผลตอบแทนในระยะยาวแล้ว การได้หุ้นมาในราคาที่ต่ำลงจากปกติ และขายออกในช่วงขาขึ้น ยังทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลกำไรจากการลงทุนนี้อีกด้วย อย่างเช่น กรณีราคาของ KBANK อ้างอิงช่วงระหว่างวันที่ 17-20 เมษายน ราคาปรับตัวลงลึกถึง 7.35% ซึ่งราคาต่ำสุดอยู่ที่ 125 บาท ก่อนจะมีแรงซื้อกลับมาในวันที่ 21 เมษายน โดยปิดตลาดที่ราคา 128.50 บาท มูลค่าซื้อขายกว่า 3.77 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การลงทุนก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอดี และต้องหาโอกาสให้เจอ เช่นเดียวกับการลงทุนธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นบนช่วงภาวะวิกฤต และมีการสร้างผลตอบแทนให้มหาศาล ยกตัวอย่างเช่น ช่วงภาวะ COVID-19 ที่มีการปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมาก และหลายคนก็หันมาทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งธุรกิจที่เป็นกระแสช่วงนั้นและเป็นมาอย่างต่อเนื่องคือ ธุรกิจอาหาร ณ ที่อยู่อาศัย คือการทำอาหารในที่พักอาศัยและจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มดิลิเวอรีโดยไม่มีหน้าร้าน โดยเริ่มเป็นที่นิยมในช่วงที่หลายคนทำงานอยู่บ้าน หรือ work from home แต่ทั้งนี้ก็มีอีกหลายธุรกิจที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตต่าง ๆ อีกมากมาย จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการลงทุนที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

ดังนั้น ในการเลือกลงทุนแต่ละครั้ง จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้ดี และเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อให้การลงทุนสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวัง แม้ในยามที่ต้องเจอวิกฤตก็ตาม

.

ที่มา : SET Investnow, efin

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #SET #หุ้น #การลงทุน