สหรัฐฯ จ่อแบน ‘TikTok’ วิตกกระทบความมั่นคงของชาติ

‘TikTok’ ถือเป็นสื่อโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีกลุ่มผู้ใช้บริการที่หลากหลาย ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ที่ต่างก็นำเสนอคอนเทนต์ต่าง ๆ ของตัวเองผ่านทางช่องทางดังกล่าว ดูเผิน ๆ ก็เหมือนจะเป็นแค่เพียงสื่อให้ความบันเทิงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเท่านั้น แต่หากจะมองอีกด้าน ‘TikTok’ ก็ถือเป็นอีกช่องทางที่อาจจะสร้างความไม่ปลอดภัยให้กับผู้ใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลของตนเองมากเกินไป หรือการลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจากการรับชมคอนเทนต์ต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มนี้

 

นอกจากนี้ ยังดูเหมือนจะมีเรื่องที่ใหญ่มากกว่านี้หลายเท่า เมื่อทางการสหรัฐอเมริกามองว่า ‘TikTok’ อาจเป็นภัยความมั่นคงต่อประเทศ จนถึงขั้นต้องสั่งแบนการใช้งานเลยทีเดียว

 

โดยฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ เสนอให้แบน ‘TikTok’ อ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ซึ่งร่างกฎหมายนี้เป็นการเคลื่อนไหวล่าสุดของสหรัฐฯ ต่อ ‘TikTok’ ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท ‘ByteDance’ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน

 

ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้อํานวยการ ‘FBI’ แสดงความกังวลว่าจีนอาจใช้แอปพลิเคชันนี้เพื่อส่งผลกระทบต่อผู้ใช้หรือควบคุมเครื่องมือสื่อสารของผู้ใช้บริการ โดยหลายรัฐในสหรัฐฯ ได้สั่งห้ามใช้อุปกรณ์ราชการในการเข้าใช้งาน ‘TikTok’

 

‘TikTok’ ซึ่งมีผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านคนในสหรัฐฯ กล่าวว่ามาตรการเป็น “การห้ามที่มีแรงจูงใจทางการเมืองและไม่ได้ช่วยส่งเสริมความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา”

 

ขณะเดียวกัน ‘TikTok’ ระบุว่า บริษัทกำลังพัฒนาแผนเพื่อรักษาความปลอดภัยแพลตฟอร์มในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบความมั่นคงแห่งชาติที่เริ่มขึ้นภายใต้อดีตประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

 

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ได้มีกรณีการฟ้องร้องเกิดขึ้นกับ ‘TikTok’ โดยรัฐอินเดียนาในเรื่องความปลอดภัยมาก่อน โดย

 

ด้าน ‘เคทลิน ชิน’ นักวิจัยจากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติ ซึ่งเป็นคลังสมองในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า การโจมตีทางการเมืองต่อ ‘TikTok’ แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะแบน ‘TikTok’ ทั่วประเทศในระยะสั้น โดยชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าโดยทั่วไปจะเห็นว่าจําเป็นต้องมีการแก้ไขบางอย่าง แต่ฝ่ายนิติบัญญัติก็ดําเนินไปอย่างช้า ๆ ในการอัปเดตความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและกฎความพอเหมาะของเนื้อหาในสหรัฐอเมริกา

 

โดย ‘เคทลิน’ กล่าวเสริมว่าจนถึงขณะนี้ความกังวลของผู้คนเกี่ยวกับ ‘TikTok’ และจีน ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของการใช้ในทางที่ผิดมากกว่า ซึ่งจากมุมมองของ ‘เคทลิน’ มองว่าการหยุดการดําเนินงานของบริษัทอย่าง ‘TikTok’ เพียงบริษัทเดียว ไม่สามารถปิดช่องว่างของปัญหาด้านความปลอดภัยได้ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าเว็บไซต์อื่น ๆ อีกมากมายที่มีการรวบรวมข้อมูลที่คล้ายกัน

 

อย่างไรก็ดี พบว่าออสเตรเลียและประเทศอื่น ๆ ก็มีการเรียกร้องให้แบน ‘TikTok’ ด้วยเช่นกัน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ไต้หวันก็เริ่มสั่งห้ามใช้งาน ‘TikTok’ บนอุปกรณ์สาธารณะ

 

ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกา เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ‘TikTok’ เผชิญกับการแบนตามคำสั่งของ ‘ทรัมป์’ ที่สั่งห้ามการดาวน์โหลดใหม่ แต่ผู้พิพากษาได้ปิดกั้นมาตรการดังกล่าว และไม่เคยมีผลบังคับใช้ และในที่สุดประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ ก็เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวในปี 2563

 

ขณะที่คณะกรรมการการลงทุนจากต่างประเทศในสหรัฐฯ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการเป็นเจ้าของชาวต่างชาติในสหรัฐฯ ได้สั่งให้ ‘ByteDance’ ขาย ‘TikTok’ ซึ่งการเจรจาของบริษัทกับหน่วยงานดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่

 

ด้าน ‘มาร์โก รูบิโอ’ สมาชิกพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนร่างกฎหมายนี้ กล่าวว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคเดโมแครตอย่างน้อยหนึ่งคน โดยร่างกฎหมายของนี้จะปิดกั้นและห้ามการทําธุรกรรมทั้งหมดของบริษัทโซเชียลมีเดียใด ๆ ภายในหรือภายใต้อิทธิพลของจีน รัสเซีย และประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

“นี่ไม่ใช่วิดีโอสร้างสรรค์ แต่เป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและผู้ใหญ่ชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนทุกวัน‘มาร์โก’ กล่าว

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

 

ที่มา : BBC

 

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #TikTok #แบนTikTok #สหรัฐฯ #สหรัฐอเมริกา #ข้อมูลส่วนบุคคล #กระทบความมั่นคงชาติ