ล้างหนี้ ‘กยศ.’ เป็นทางออกที่ดีจริงหรือ? ถอดมุมมองกูรูสหรัฐฯ ต่อภาพรวมเศรษฐกิจ หลัง ‘ไบเดน’ จ่อยกหนี้การศึกษากว่า 1.18 แสนล้านเหรียญ

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถือเป็นกองทุนที่ช่วยให้ใครหลาย ๆ คนได้มีโอกาสเล่าเรียนแม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องทุนทรัพย์ แต่ในมุมกลับกัน การกู้ยืมเงินก็ถือเป็นสร้างภาระให้แก่ผู้กู้ เช่นเดียวกันกับการกู้ยืมทั่ว ๆ ไป แต่ในกรณีของกยศ.นั้น ผู้กู้ยืมจะมีภาระดอกเบี้ยที่ถูกกว่า และมีความยืดหยุ่นในการผ่อนผันการชำระหนี้ได้มากกว่าการกู้ยืมทั่วไป

 

อย่างไรก็ดี แม้กยศ.จะมีดอกเบี้ยที่ถูกแสนถูกและมีความยืดหยุ่นในการชำระคืนมากขนาดไหนก็ตาม แต่ก็ยังพบว่ามีผู้กู้จำนวนไม่น้อยที่ ‘เบี้ยวหนี้’ จนเกิดเป็นกรณีฟ้องร้องให้ได้เห็นตามข่าวกันจนชินตา ซึ่งผู้กู้ที่ไม่ยอมชำระหนี้คืนบางรายอ้างเหตุผลว่าเงินกู้กยศ.มาจากภาษีประชาชนที่ตนมีสิทธิ์ใช้โดยไม่จำเป็นต้องคืน

 

ด้วยความคิดเช่นนี้จึงนำมาซึ่งกระแสการเชิญชวนร่วมลงนามในโลกออนไลน์ โดยเนื้อหาการล่ารายชื่อในครั้งนี้ระบุว่า เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายกองทุนกยศ.ต่อรัฐสภา โดยให้รัฐบาลมีกลไกเข้ามาเป็นลูกหนี้แทนผู้กู้หลังสำเร็จการศึกษา 2 ปี

 

แน่นอนว่าภายหลังเกิดแคมเปญนี้ขึ้นมา ก็ได้เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างขึ้นมาทันที โดยผู้คนส่วนใหญ่มองว่าการ ’ล้างหนี้กยศ.’ ไม่ใช่การสนับสนุนความเท่าเทียมในในการศึกษา แต่เป็นการส่งเสริมให้คน ‘ไร้ความรับผิดชอบ’ มากยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องชำระคืนหนี้ที่กู้ยืมไป อีกทั้งหลายคนยังมองว่าหากการ ’ล้างหนี้กยศ.’ เกิดขึ้นจริง สิ่งนี้จะถือเป็นความไม่เท่าเทียมที่แท้จริง เนื่องจากหลายครอบครัวต้องใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวในการศึกษาโดยไม่ได้ใช้เงินกู้ยืมเหมือนอย่างผู้กู้หลาย ๆ คน

 

ภายหลังแคมเปญดังกล่าวเกิดเป็นกระแส ทางกยศ.ก็ได้ออกมาแสดงความคิดต่อเรื่องนี้ โดยผู้จัดการ ‘กยศ.’ เปิดเผยว่า กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการในลักษณะทุนหมุนเวียนที่ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไร เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์โดยการให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี และให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้ว 6,217,458 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 696,802 ล้านบาท และกองทุนมีเงินหมุนเวียนจากการชำระคืนกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้กองทุนมีเงินให้นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องกู้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา โดยในปีการศึกษา 2565 กองทุนได้เตรียมเงินกว่า 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 600,000 ราย

 

ที่ผ่านมากองทุน กยศ. เป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสและช่วยเหลือผู้กู้ยืมมาโดยตลอด ซึ่งการยกเลิกหนี้ กยศ. ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา นอกจากจะส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินแล้วยังส่งผลต่อบรรทัดฐานของสังคมด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินของคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้จำนวน 3,458,429 ราย เป็นยอดหนี้คงเหลือจำนวน 337,857 ล้านบาท หากยกเลิกหนี้ดังกล่าวจะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา

 

ท่ามกลางกระแส ‘ล้างหนี้กยศ.’ ในบ้านเรา ขณะเดียวกันที่สหรัฐอเมริกาก็กำลังมีประเด็นในลักษณะเดียวกัน โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดเผยว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมช่วยล้างหนี้ให้แก่ผู้ที่เคยกู้ยืมเงินสำหรับการศึกษาหลายล้านคน ในวงเงิน 10,000 ดอลลาร์/ราย ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ได้ให้ไว้กับประชาชนในช่วงของการหาเสียงเมื่อปี 2563

 

โดย ‘ไบเดน’ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การ ‘ล้างหนี้’ ในครั้งนี้ เนื่องจากคนทำงานและชนชั้นกลางได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19  อีกทั้งยังได้ให้คำมั่นว่าจะไม่มีครัวเรือนที่มีรายได้สูงได้รับประโยชน์ โดยกล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์แผนนี้ นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่าจะไม่ขอโทษที่ช่วยคนอเมริกันที่ทำงานและชนชั้นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนกลุ่มเดิมที่โหวตให้ลดหย่อนภาษีมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่ให้ประโยชน์แก่ชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุดและบริษัทที่ใหญ่ที่สุด

 

สำหรับยอดคงเหลือของผู้ยืมถูกระงับตั้งแต่ช่วงเริ่มการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยผู้กู้ไม่ต้องชำระเงินสำหรับเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาของรัฐบาลกลางตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยสมาชิกพรรคเดโมแครตจำนวนมากได้ผลักดันให้ ‘ไบเดน’ ระงับหนี้มากถึง 50,000 ดอลลาร์ต่อผู้กู้

 

โดยฝ่าย ‘ไบเดน’ ได้อ้างอิงถึงค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยในอเมริกาว่ามีตัวเลขสูงกว่าประเทศร่ำรวยอื่น ๆ อย่างมาก และผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีหนี้เงินกู้นักเรียนจำนวน 1.75 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐบาลสหพันธรัฐ

 

ด้านทำเนียบขาว กล่าวว่า ฝ่ายบริหารจะขยายเวลาหยุดชั่วคราวที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของ COVID-19 ในการชำระคืนเงินกู้นักเรียนจนถึงสิ้นปี ในขณะที่ ‘ล้างหนี้’ การศึกษาจำนวน 10,000 ดอลลาร์ สำหรับผู้กู้รายเดียวที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 125,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือคู่สมรสที่มีรายได้น้อยกว่า 250,000 ดอลลาร์

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังยกหนี้มูลค่าสูงถึง 20,000 ดอลลาร์สำหรับนักเรียน 6 ล้านคน จากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำที่ได้รับทุน Pell จากรัฐบาลกลาง และเสนอกฎใหม่ที่ปกป้องรายได้บางส่วนจากแผนการชำระคืนและให้ยกหนี้จากยอดเงินกู้บางส่วนหลังจาก 10 ปีของการชำระคืน

 

ผลการศึกษาของธนาคารกลางสหรัฐ (New York Federal Reserve) แสดงให้เห็นว่าการตัดหนี้รัฐบาลกลาง 10,000 ดอลลาร์สำหรับนักเรียนทุกคนจะมีมูลค่า 321 พันล้านดอลลาร์ และขจัดยอดคงเหลือทั้งหมดสำหรับผู้กู้ 11.8 ล้านคน หรือ 31% ของทั้งหมด

 

เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของ ‘ไบเดน’ กล่าวว่าแผนดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้กู้นักศึกษามากถึง 43 ล้านคน โดยจะยกเลิกหนี้ทั้งหมดประมาณ 20 ล้านคน

 

อย่างไรก็ดี ภายหลังการประกาศดังกล่าวของ ‘ไบเดน’ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างขึ้นมาทันที โดยเฉพาะในกลุ่มกูรู ซึ่งถือเป็นมุมมองที่น่าสนใจที่สามารถนำมาเชื่อมโยงต่อประเด็น ‘ล้างหนี้กยศ.’ ในบ้านเราได้เช่นกัน

 

เริ่มด้วยนักเศรษฐศาสตร์บางรายกล่าวว่าการ ‘ล้างหนี้’ ในครั้งนี้อาจกระตุ้นเงินเฟ้อ อีกทั้งจะทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นหลายแสนล้านเหรียญ ซึ่งอาจมุ่งเป้าไปที่การซื้อบ้านและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่มีราคาสูง

 

ด้าน ‘Larry Summers’ อดีตรัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ผ่านช่องทาง Twitter ระบุว่า การปลดหนี้ ถือเป็นใช้ทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ได้ดีกว่าในการช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าเรียนในวิทยาลัยไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นเงินเฟ้อด้วยการเพิ่มค่าเล่าเรียน

 

ขณะเดียวกัน ‘เจสัน เฟอร์แมน’ ศาสตราจารย์แห่งฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นหัวหน้าสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจระหว่างการบริหารของ ‘โอบามา’ กล่าวว่า การยกเลิกหนี้จะทำให้อำนาจภาวะเงินฝืดของพระราชบัญญัติลดเงินเฟ้อเป็นโมฆะ เปรียบเสมือนการเทน้ำมันเบนซินประมาณครึ่งล้านล้านดอลลาร์ลงบนกองเพลิงที่ลุกไหม้อยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นการประมาท

 

อย่างไรก็ดี โฆษกทำเนียบขาว ‘คารีน ฌอง-ปิแอร์’ กล่าวว่า ฝ่ายบริหารมีอำนาจตามกฎหมายในการยกหนี้ให้ภายใต้กฎหมายที่อนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าวได้ในระหว่างภาวะฉุกเฉินระดับประเทศ เช่น การระบาดใหญ่ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ‘เฟด’ คาดการณ์ว่าการ ‘ล้างหนี้’ ในครั้งนี้นับรวมเป็นมูลค่ากว่า 1.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

 

ที่มา : Studentloan, Reuters

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

.

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #กยศ. #ล้างหนี้ #ล้างหนี้กยศ. #ไบเดน #โจไบเดน #สหรัฐฯ #สหรัฐฟล้างหนี้กยศ.