อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยได้ผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปี 2562 ไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์ทุกประเภทเป็นอันดับที่ 11 ของโลก และเป็นอันดับที่ 5 ของเอเซีย และเมื่อเทียบเฉพาะอาเซียน ไทยยังเป็นอันดับ 1 อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 ที่ผ่านมาไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงเป็นจำนวนมาก เพราะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยเหลือการผลิตทั้งหมดเพียง 1,427,270 คัน ลดลง 29% แบ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศ 792,146 คัน (ลดลง 21%) และส่งออก 735,842 คัน (ลดลง 30%)
ขณะที่ปี 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้มีการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 1,680,000 คัน แบ่งเป็นการส่งออก 950,000 คัน
แนวโน้มปี 2565
สำหรับในปี 2565 แนวโน้มการผลิตรถยนต์เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนคนฉีดวัคซีนในประเทศไทยมากขึ้น และยังมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาในประเทศ นอกจากนี้ภาคธุรกิจเริ่มทยอยฟื้นตัวหลังจากคลายล็อกดาวน์จึงทำให้ความต้องการยานยนต์เพิ่มขึ้น
โดย นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของสมาชิกกลุ่มฯ ในปี 2565 โดยแยกเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ดังนี้
รถยนต์
ประมาณการการผลิตรถยนต์ในปี พ.ศ.2565 ประมาณ 1,800,000 คัน มากกว่าปี พ.ศ.2564 ซึ่งมีจำนวน 1,685,705 คัน เพิ่มขึ้น 114,295 คัน คิดเป็น 6.78% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,000,000 คัน เท่ากับ 55.56% ของยอดการผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 800,000 คัน เท่ากับ 44.45% ของยอดการผลิตทั้งหมด
• ผลิตเพื่อการส่งออก จำนวน 1,000,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 956,530 คัน เป็นจำนวน 43,470 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4.54% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จำนวน 800,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 729,175 คัน เป็นจำนวน 70,825 คัน หรือเพิ่มขึ้น 9.71% เนื่องจากยังกังวลเรื่องการระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยและในต่างประเทศ ซึ่งจะยังคงทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยและของประเทศคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
ประกอบกับการผลิตรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศบางแห่งขาดชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์บางชิ้น ทำให้ต้องชะลอการผลิตบางรุ่นลงชั่วคราว
รถจักรยานยนต์
ประมาณการการผลิตรถจักรยานยนต์ในปี พ.ศ.2565 ประมาณ 2,000,000 คัน มากกว่าปี พ.ศ.2564 ซึ่งมีจำนวน 1,780,654 คัน เพิ่มขึ้น 219,346 คัน คิดเป็น 12.31% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 350,000 คัน เท่ากับ 17.50% ของยอดการผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 1,650,000 คัน เท่ากับ 82.50% ของยอดการผลิตทั้งหมด
• ผลิตเพื่อการส่งออกจำนวน 350,000 คัน ลดลงจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 437,147 คัน เป็นจำนวน 87,147 คัน หรือลดลง 19.94%
• ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจำนวน 1,650,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 1,296,281 คัน เป็นจำนวน 306,493 คัน หรือเพิ่มขึ้น 22.81%
การผลักดันเป้าผลิตยานยนต์ของไทยในปี 2565 จะเริ่มทำให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องจับตาเป็นเรื่องของตัวแปรที่จะส่งผลต่อยอดการผลิตยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากซับไพรม์เชน เช่น ภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ หรือแม้กระทั่งการขนส่งสินค้า รวมไปถึงความต้องการยานยนต์ของภาคธุรกิจ เพราะทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในตัวแปรที่จะช่วยผลักดันยอดการผลิตยานยนต์ในประเทศ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องน่าจับตามองหลังจากคณะกรรมการอีวี (EV) ได้ประกาศเป้าหมายว่าภายในปี 2035 ไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไร้มลพิษ หรือยานยนต์ไฟฟ้า 100% ซึ่งแผนดังกล่าวจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องจับตาปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องด้วยเช่นเดียวกัน
ที่มา : ส.อ.ท.
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #อุตสาหกรรมยานยนต์ #รถยนต์ #รถจักรยานยนต์