วิเคราะห์จุดเด่น 3 แบรนด์หมาล่าสัญชาติไทยที่ฮิตในเด็ก Gen Z

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจหมาล่าในประเทศไทยเติบโตแบบติดเทอร์โบ จากอาหารเฉพาะกลุ่มในย่านคนจีน สู่เมนูยอดฮิตที่คนรุ่นใหม่เลือกเป็นมื้อโปรด โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่ไม่ได้เลือกเพียงแค่รสชาติเผ็ดชาลิ้น แต่ยังมองหา ‘’ประสบการณ์ใหม่ๆ’’

ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การกินนอกบ้านในยุคปัจจุบัน

ซึ่งตอนนี้ Business+ ได้รวบร่วมข้อมูลของร้านหมาล่าในไทยพบว่ามี 3 แบรนด์สัญชาติไทยที่กำลังเป็นที่ชื่นชอบในกลุ่ม Gen Z อย่างชัดเจน โดยมีจุดร่วมที่น่าสนใจ คือราคาจับต้องได้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 200-500 บาท รสชาติจัดจ้านถูกปาก และประสบการณ์ในร้านที่ “แตกต่าง” จากร้านอาหารทั่วไป

มาเริ่มกันที่แบรนด์แรก Chinda Hotpot สุกี้หมาล่าดั้งเดิมที่เคยเป็นดาวรุ่ง

นำเสนอภาพลักษณ์แบบร้านจีนดั้งเดิม ด้วยบรรยากาศอบอุ่นเหมือนนั่งกินข้าวที่บ้าน ใช้โทนสีแดงอ่อน แสงไฟนวล และที่นั่งแบบบาร์สำหรับลูกค้าที่มาเดี่ยว

จุดเด่นของ Chinda Hotpot
– น้ำซุปหมาล่าเข้มข้น

– วัตถุดิบคัดคุณภาพ

– ราคาย่อมเยา เหมาะกับนักเรียน นักศึกษา

แบรนด์ Chinda Hotpot มีถึง 42 สาขา ทั่วประเทศ โดยมากกว่า 90% เป็นระบบแฟรนไชส์ แต่สิ่งที่เคยเป็นจุดแข็งกลับกลายเป็นข้อจำกัด เพราะรายได้จาก 2 สาขาหลักในปีล่าสุดลดลงจาก 18.7 ล้านบาท เหลือเพียง 8.87 ล้านบาท พร้อมกำไรที่หดเหลือเพียง 293,678 บาท สะท้อนว่าความยั่งยืนอาจไม่ได้มาจากการขยายสาขาอย่างเดียว แต่ต้องมาพร้อมกับการบริหารคุณภาพอย่างใกล้ชิดด้วย

 

HOTPOTMAN หมาล่าสไตล์บุฟเฟต์ ที่ร้อนแรงทั้งรสชาติและรายได้

HOTPOTMAN คือแบรนด์น้องใหม่ที่มาแรงสุดในช่วง 2 ปีหลัง เปิดตัวด้วยจุดยืนชัดเจนว่าเป็น หมาล่าสไตล์บุฟเฟต์ สำหรับคนเมืองที่ต้องการประสบการณ์แบบครบเครื่อง

ความโดดเด่นของ HOTPOTMAN

-น้ำซุปหมาล่ารสเข้มข้น

-น้ำจิ้ม DIY ปรุงเองตามใจ

-เมนูครบทั้งของสด ลูกชิ้น ของทอด

-ดีไซน์ร้านโมเดิร์นโทนดำแดงน่านั่ง

-มีที่จอดรถ และที่นั่งรองรับ

แบรนด์นี้ไม่มีระบบแฟรนไชส์ ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพได้ดี และนั่นสะท้อนออกมาในตัวเลข รายได้ปีล่าสุดพุ่งทะลุ 244.6 ล้านบาท พร้อมกำไรสุทธิ 9.27 ล้านบาท  เติบโตแบบไฟลุกไม่แพ้ซุปในหม้อ

 

ส่วนแบรนด์สุดท้าย Yijia Sukimala หมาล่าสายพานที่ไวรัลได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าโฆษณา

อี้จา สุกี้หมาล่าสายพาน คืออีกหนึ่งแบรนด์ที่มาแรงในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะบน TikTok ที่ผู้คนแชร์ประสบการณ์กินแบบหยิบเอง ถ่ายเอง รีวิวเอง จนกลายเป็นแบรนด์ที่สร้างการตลาดจาก “ความประทับใจของลูกค้า”

จุดขายหลักของ Yijia Sukimala

-สายพานหมุนหยิบวัตถุดิบได้เอง

-น้ำซุปต้นตำหลับเสฉวนแท้

-น้ำจิ้มสูตรลับเฉพาะ

-ที่นั่งหลากหลาย ทั้งโซฟา โต๊ะกลุ่ม และบาร์เดี่ยว

ผลลัพธ์ของ Yijia Sukimala คือรายได้เพิ่มจาก 5.47 ล้านบาทในปี 2566 เป็น 14.32 ล้านบาทในปี 2567 กำไรสุทธิอยู่ที่ 414,795 บาท ซึ่งแม้ยังไม่มากเท่าคู่แข่ง แต่สะท้อนพลังของแบรนด์ที่เริ่มต้นจากความเข้าใจผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

 

จากบทวิเคราะห์ทั้งหมด จะเห็นว่าแบรนด์หมาล่าที่กำลังเติบโตในตลาด Gen Z ไม่ได้อาศัยแค่สูตรซุปที่ดี หรือวัตถุดิบที่หลากหลาย

แต่พวกเขาเข้าใจว่า

ลูกค้ารุ่นใหม่ต้องการประสบการณ์มากกว่ามื้ออาหาร

ทำเลที่ดี + บรรยากาศโดนใจ มีผลต่อการตัดสินใจพอๆ กับรสชาติ

การออกแบบร้านให้ “ถ่ายรูปได้ – แชร์ได้ – ไวรัลได้” ช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนโดยไม่ต้องลงทุนโฆษณา

การควบคุมคุณภาพและไม่ขยายแบบแฟรนไชส์เกินควบคุม คือหัวใจสำคัญของแบรนด์ที่ยืนระยะได้

 

ร้านไหนที่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ก่อน ย่อมมีโอกาสเป็นแบรนด์ที่ถูกพูดถึง ไม่ใช่แค่ในวงการอาหาร…

แต่กลายเป็นแบรนด์ในใจของคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมกลับมาอีกครั้ง และบอกต่ออย่างเต็มใจ

ที่มา :  Wongnai, DBD, HOTPOTMAN, Chinda Hotpot, Yijia Sukimala

ติดตาม Business+ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829