“ยา” ถือเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ขั้นพื้นฐาน ทุกบ้านทุกครัวเรือนจำเป็นต้องมียาสามัญประจำบ้าน นั่นจึงทำให้สินค้าประเภทยามีอำนาจต่อรองกับผู้บริโภคสูง อย่างไรก็ตามราคายาแต่ละชนิดก็แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ยี่ห้อ ถึงแม้จะเป็นตัวยาเดียวกัน สาเหตุมาจากแหล่งการผลิต หรือนำเข้าที่แตกต่างกัน ดังนั้นยาในปัจจุบันจึงมีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ โดยเฉพาะยาแก้ปวด ‘พาราเซตามอล’ ซึ่งตอนนี้มีบริษัทในประเทศไทยหลายเจ้าออกมาผลิตและจำหน่ายเอง
ก่อนที่จะไปเจาะข้อมูลผู้ผลิตและจำหน่ายยาพาราเซตามอล เราต้องมาทำความรู้จักกันก่อนว่า ‘พาราเซตามอล’ (Paracetamol) คือชื่อสามัญทางยา ส่วน ไทลินอล ซาร่า พาราแคพ และอื่นๆ ที่มีวางขายโดยทั่วไปเป็นชื่อการค้า หรือ ยี่ห้อ ซึ่งไม่ว่าเราจะเลือกกินยี่ห้อไหนก็มีฤทธิ์เป็นยาแก้ปวดลดไข้เหมือนกันเพราะมีตัวยาเหมือนกัน และพาราเซตามอลเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้ได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่เมื่อใช้ในขนาดที่เหมาะสม
อธิบายง่ายๆ ยี่ห้อของยาพาราเซตามอลก็เหมือนกับเราเลือกดื่มน้ำเปล่าที่ในปัจจุบันมีให้เลือกหลายยี่ห้อตามร้านสะดวกซื้อ ซึ่งไม่ว่าจะน้ำยี่ห้ออะไรก็คือน้ำเปล่าเหมือนกัน
แต่ยี่ห้อของพาราเซตามอลนั้น เป็นที่ถกเถียงกันมาโดยตลอดว่าทำไมแต่ละคนถึงได้ผลลัพท์ที่ต่างกันแม้จะเป็นตัวยาที่เหมือนกันก็ตาม ซึ่งตามความจริงแล้วยาพาราแต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างกันที่แหล่งวัตถุดิบและสูตรที่ใช้ในการผลิตยา ซึ่งความแตกต่างนี้อาจส่งผลต่อระยะเวลาในการแตกตัวของเม็ดยา การละลายของผงยา การดูดซึมตัวยา และการออกฤทธิ์รักษาที่แตกต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น เพราะทุกเจ้าล้วนแต่ผลิตตามมาตรฐานที่กำหนดเอาไว้
ซึ่งวัตถุดิบ และสูตรที่ใช้ผลิตที่ต่างกันนี่แหละทำให้ยาแต่ละยี่ห้อมีราคาแตกต่างกันตามไปด้วย หากเราสำรวจยาพาราที่มีวางขายโดยร้านขายยาทั่วไปในประเทศไทยจะมีเจ้าหลักๆ ทั้งหมด 7 เจ้าที่หาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อ หรือร้ายขายยาทั่วไป คือ ไทลินอล , ซาร่า , เบลลา พารา,บาคามอล ,ซีมอล ,พาราแคพ ,มายมอล ทีนี้เรามาดูกันว่าแต่ละเจ้าที่วางขายราคาอยู่ที่เม็ดละกี่บาท และทั้งปีบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้มีรายได้ และกำไรเท่าไหร่กันบ้างจากการสำรวจข้อมูลและลงพื้นที่ของ Business Plus
จะเห็นได้ว่า 7 ยี่ห้อของพาราเซตามอล ที่หาซื้อได้ง่ายนั้น มีเพียงแค่ ไทลินอล ที่เป็นบริษัทต่างชาติ โดยไทลินอล นั้นเป็นแบรนด์ของ บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของสหรัฐอเมริกา และเข้ามาตีตลาดในไทย ด้วยการจ้าง บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ผลิต ซึ่งในมุมการผลิตแล้ว โอลิค (ประเทศไทย) มีรายได้ทั้งหมด 1,339,19 ล้านบาท ส่วน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) มีรายได้สูงถึง 5,103 ล้านบาทในฐานะผู้จำหน่าย ซึ่งการเป็นแบรนด์ต่างชาติที่อาจจะต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบ หรือสูตรการผลิตยาที่แตกต่างกันนี่แหละทำให้ไทลินอล มีราคาเฉลี่ยต่อเม็ดที่สูงกว่าทุกแบรนด์ ราคาอยู่ที่ 1.7 บาทต่อเม็ด เทียบกับแบรนด์ไทยราคาสูงสุดไม่เกิน 1.5 บาทต่อเม็ด
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยนั้น ยังเป็นที่น่าจับตามองถึงการเติบโตในปี 2568 เพราะตลาดยาในประเทศไทยมีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าตลาดประมาณ 2.33-2.38 แสนล้านบาท ด้าน บล.กรุงศรี มองว่า อุตสาหกรรมยาของไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2568-2570 มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศจะขยายตัวเฉลี่ย 6-7% ต่อปี แต่ยังมีความท้าทายจากการที่ผู้ผลิตยาของไทยขาดศักยภาพในการผลิตยาที่ซับซ้อนหรือยาที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีระดับสูง รวมถึงภาระต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงโรงงานตามมาตรฐานโลก และการลงทุนพัฒนานวัตกรรมหรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตยาเพื่อบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางของผู้ประกอบการทั่วโลก
ที่มา : pharmahof , corpusx , krungsri
Data Analytics By Business Plus
#BusinessPlus
#เทรนด์ธุรกิจ
#ตลาดยาพาราเซตามอล