หลายคนน่าจะรู้จักเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ในฐานะนักธุรกิจผู้ก่อตั้งเครือซีพี ที่เป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-11 และอีกหลายธุรกิจ แต่รู้หรือไม่ว่าเมื่อปี 2551 หรือเกือบ 20 ปีก่อนเจ้าสัวธนินท์เคยบรรยายถึงทฤษฎีเศรษฐกิจมหภาคที่น่าสนใจไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาก่อน โดยทฤษฎีของเจ้าสัวเรียกว่า “ทฤษฎีสองสูง”
ที่มาของชื่อทฤษฎีนั้นมาจากความพยายามทำให้องค์ประกอบ 2 อย่างปรับตัวสูงขึ้นได้แก่
สูงที่ 1 คือ ราคาสินค้าเกษตร
สูงที่ 2 คือ ค่าแรงของแรงงานรวม
สำหรับทฤษฎีนี้ เจ้าสัวธนินท์ได้พูดถึงความสำคัญของทรัพยากรเกษตรของไทยในอนาคต โดยแนวคิดดังกล่าวส่งเสริมการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรเอง และยังเป็นการดึงดูดให้เกิดเกษตรกรหน้าใหม่ แต่รัฐบาลเองก็ควรควบคุมไม่ให้สินค้าเกษตรราคาถูกจากต่างประเทศสามารถเข้ามาตีตลาดในไทยได้ง่าย ๆ ด้วย
เพื่อให้เกิดการสอดคล้องกับราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น รัฐบาลยังควรปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงของแรงงานรวม เพื่อให้เกิดกำลังซื้อที่เพียงพอ แต่การปรับเพิ่มค่าแรงก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรชดเชยด้วยมาตรการที่จะช่วยเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รัฐบาลเองก็จะได้ประโยชน์กลับมา ในรูปแบบของเม็ดเงินภาษีที่เก็บได้มากขึ้น
ตามหลักทฤษฎีสองสูงของเจ้าสัวนี้ จะมีผู้ได้รับผลประโยชน์หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร พนักงานบริษัทผู้ประกอบการ ไปจนถึงรัฐบาลเอง จากการที่ผู้บริโภคมีกำลังจ่ายที่มากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจระดับประเทศ และทำให้รัฐบาลสามารถนำเงินภาษีที่เก็บได้มากขึ้นมาพัฒนาประเทศต่อด้วย
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว ทฤษฎีนี้อาจจะเป็นไปได้ยากและยังมีข้อควรระวังอยู่ โดยในกรณีที่ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพไม่ปรับขึ้นตาม ก็อาจเกิดกรณีที่ผู้บริโภคหันไปซื้อทางเลือกอื่นที่ราคาถูกกว่า ดังนั้นทางภาครัฐจึงควรมีมาตรการควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรให้ดีสอดคล้องกับราคาที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ การขึ้นค่าแรงก็อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชนและการลงทุนจากต่างชาติ ที่อาจหันไปตั้งบริษัทที่ประเทศอื่น ที่ค่าแรงถูกกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผลิตผลของแรงงานไม่ได้เพิ่มขึ้นตามค่าแรง อีกทั้งยังมีโอกาสทำให้เกิดเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ การจะทำตามทฤษฎีสองสูงนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง
ที่มา: สภาพัฒน์
ผู้เขียนและเรียบเรียง: พรบวร จิรภัทร์วงศ์
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS