ธุรกิจอาหาร

เปิดรายชื่อ 5 บริษัทที่ ‘มั่งคั่ง’ ที่สุด และมั่งคั่งน้อยที่สุดในกลุ่มธุรกิจอาหาร

หากเราจัดอันดับบริษัทในกลุ่มธุรกิจอาหารของไทยในตลาดหุ้นไทยที่รายได้มากที่สุด 5 อันดับแรก คงหนีไม่พ้น เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) , เบทาโกร (BTG) , ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG), น้ำมันพืชไทย (TVO) ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมาทั้ง 5 บริษัทนี้ทำรายได้รวมกัน 936,709 ล้านบาท คิดเป็น 72% ของรายได้รวมทุกบริษัทในกลุ่มซึ่งอยู่ที่ 1,299,495 ล้านบาท แต่ถ้าหากเราพูดกันที่ความ ‘มั่งคั่ง’ เรากลับพบว่ารายชื่อนั้นไม่ได้เหมือนการจัดอันดับจากรายได้ซะทีเดียว

ซึ่งก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าความมั่งคั่งส่วนบุคคลในมุมมองของนักการเงินแล้ว คือ การคนๆ หนึ่งมีอิสระภาพทางการเงินสูง ดังนั้น ตัวเลขของความมั่งคั่ง คือสินทรัพย์ทั้งหมดที่เราเหลืออยู่ (ไม่รวมรายได้ประจำ) หลังจากหักหนี้สินทั้งหมดออกไป เท่ากับว่ายิ่งใครมีมีสินทรัพย์มาก แต่มีหนี้สินน้อย ก็จะมีอิสระทางการเงินสูง

โดยภาษาทางการเงินแล้ว  ความมั่งคั่ง ก็คือ มูลค่าของสินทรัพย์สุทธิ (Net Worth) ซึ่งคำนวณได้จากสินทรัพย์รวม – หนี้สินรวม

ซึ่งความมั่งคั่งส่วนใหญ่มาจากเงินออม การลงทุน ได้รับมรดก หรือบางคนอาจได้รับเงินจากการถูกรางวัลต่างๆ ดังนั้น ความมั่งคั่งส่วนใหญ่จะไม่ถูกนำออกไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เมื่อเข้าใจความมั่งคั่งส่วนบุคคลไปแล้ว เรามาดูว่า ‘ความมั่งคั่ง’ สำหรับบริษัทแล้ว มันวัดจากอะไร?

โดยหลักการวัดความมั่งคั่งของกิจการนั้น หากนำมาคำนวณตามความมั่งคั่งส่วนบุคคลนั่นคือ ความมั่งคั่ง = สินทรัพย์รวม – หนี้สินรวม ซึ่งค่าที่ได้จะออกมาเป็นตัวเลข ‘รวมส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity)’ ซึ่งตัวเลขนี้จะแสดงในงบแสดงฐานะการเงิน (งบดุล)

ตัวเลขนี้เป็นแหล่งทุนเริ่มแรกที่เจ้าของกิจการนำมาลงทุน รวมกับกำไรสะสมที่หาได้ในแต่ละปี ดังนั้น ยิ่งบริษัทไหนมี ‘ส่วนของผู้ถือหุ้น’ สูงก็ยิ่งแสดงความมั่นคงทางการเงินสูง มีความเสี่ยงด้านการเงินต่ำ ทำให้บริษัทฯแห่งนั้นจะทนต่อภาวะเศรษฐกิจได้ดีกว่าบริษัทที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า และยิ่งไปกว่านั้นหาก ส่วนของผู้ถือหุ้นบริษัทฯไหนติดลบก็จะเสี่ยงต่อการ ‘ล้มละลาย’ เพราะมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์

ทีนี้เรามาดูกันว่า บริษัทในกลุ่มธุรกิจนี้ หากเราวัดด้วยความมั่งคั่ง ใครจะสูงที่สุด 5 อันดับแรก

ธุรกิจอาหาร

อันดับที่ 1 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) CPF ผลิตและจำหน่ายอาหาร มีสินทรัพย์  876,724 ล้านบาท หนี้สิน  583,500 ล้านบาท ดังนั้นจึงมีความมั่งคั่ง 293,224 ล้านบาท

อันดับที่ 2 บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) TU ผู้ผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง มีสินทรัพย์  154,912 ล้านบาท หนี้สิน  98,599 ล้านบาท ดังนั้นจึงมีความมั่งคั่ง  56,313 ล้านบาท

อันดับที่ 3 บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) TFMAMA ผู้ผลิตมาม่า มีสินทรัพย์  49,663 ล้านบาท หนี้สิน  5,033 ล้านบาท ดังนั้นจึงมีความมั่งคั่ง 44,629 ล้านบาท

อันดับที่ 4 บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) BTG ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร มีสินทรัพย์  68,114 ล้านบาท หนี้สิน  40,826 ล้านบาท ดังนั้นจึงมีความมั่งคั่ง  27,288 ล้านบาท

อันดับที่ 5 บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ITC รับจ้างผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง มีสินทรัพย์  26,924 ล้านบาท หนี้สิน  2,789 ล้านบาท ดังนั้นจึงมีความมั่งคั่ง  24,139 ล้านบาท

หลังจากดูบริษัทที่มั่งคั่งมากที่สุดแล้ว ทีนี้เรามาดู 5 บริษัทที่มีความมั่งคั่งน้อยที่สุดในกลุ่มธุรกิจอาหารกันบ้าง

อันดับที่ 1 บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON ธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอาหารแปรรูปแช่แข็งและอาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมทาน มีสินทรัพย์ 1,615.26 ล้านบาท หนี้สิน 1,076.46 ล้านบาท ความมั่งคั่ง 538.80 ล้านบาท

อันดับที่ 2 บริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ JDF ผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องปรุงรสอาหาร ซอส ไส้ขนม และอาหารอบแห้ง มีสินทรัพย์ 860.64 ล้านบาท หนี้สิน 106.89 ล้านบาท ความมั่งคั่ง 753.75 ล้านบาท

อันดับที่ 3 บริษัท เอ็กซ์ ไบโอไซเอนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ XBIO ลงทุนในธุรกิจอาหาร มีสินทรัพย์ 1,414.35 ล้านบาท หนี้สิน 586.93 ล้านบาท ความมั่งคั่ง 827.43 ล้านบาท

อันดับที่ 4 บริษัท ห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง มีสินทรัพย์ 2,291.15 ล้านบาท หนี้สิน 1,445.62 ล้านบาท ความมั่งคั่ง 845.53 ล้านบาท

อันดับที่ 5 บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ CHAO ผลิตและจัดจำหน่ายขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ มีสินทรัพย์ 1,327.83 ล้านบาท หนี้สิน 293.99 ล้านบาท ความมั่งคั่ง 1,033.84 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประสบผลขาดทุนสุทธิมาหลายปีติดต่อกัน สำหรับ GLOCON ขาดทุนสุทธิเกิน 5 ปีติดต่อกัน จนมีผลขาดทุนสะสม 1,136.66 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนสะสมนี่แหละที่จะกระทบไปยังส่วนทุน จนทำให้ส่วนทุนลดน้อยลง ความมั่นคงทางการเงินก็ลดลงตามไปด้วย

และเมื่อไหร่ที่บริษัทฯ ไหนมียังไม่สามารถสร้างกำไรได้และเกิดขาดทุนสะสมมากขึ้นก็อาจจะทำให้ส่วนทุนติดลบ และเสี่ยงต่อการล้มละลาย

ซึ่งตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วจะเพิกถอนบริษัทออกจากตลาดหุ้นด้วย 4 เกณฑ์หลักๆ นั่นคือ ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ติดลบ ,หยุดประกอบกิจการ ,ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น 3 ปีติดต่อกัน ,รายได้จากการดำเนินงานต่ำกว่าเกณฑ์ โดยใน SET น้อยกว่า 100 ล้านบาท , mai น้อยกว่า 50 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน

ที่มา: SET

ผู้เขียนและเรียบเรียง: พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus

Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829

#businessplus
#ธุรกิจ
#ธุรกิจอาหาร