“ภาวะโลกเดือด” เป็นคำที่กล่าวกันในวงกว้างขึ้นนับตั้งแต่กลางปีที่แล้ว (2566) เมื่อนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ออกมาประกาศว่า “ยุคโลกร้อน (Global Warming) ได้สิ้นสุดลงแล้ว และพวกเรากำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น” คำกล่าวของนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส สะท้อนถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เลวร้ายมากขึ้น แต่ทุกคนสามารถ “หยุด” เหตุการณ์ที่เลวร้ายนี้ได้ โดยต้องลงมือทำทันที
เพื่อลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน ทุกคนบนโลกใบนี้จำเป็นต้องร่วมมือกันในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา ซึ่งเป็นทางรอดเดียวจากภาวะโลกเดือด เราจึงได้เห็นหลายบริษัทใหญ่ ๆ มีเป้าหมายเป็น Net Zero และหนึ่งในนั้นคือบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง “ไทยเบฟ” หรือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่พิสูจน์ด้วยการลงมือทำ กระทั่งได้เป็นองค์กรต้นแบบความยั่งยืนระดับโลก
ล่าสุด “ไทยเบฟ” คว้าคะแนนสูงสุด 91 คะแนนจาก 100 คะแนน ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มระดับโลก จากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ประจำปี 2023 ได้เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ซึ่ง DJSI ได้ประเมินผลดำเนินงานของกลุ่มบริษัทที่เลือกมา โดยใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) 30 ข้อ โดยในปีนี้ ไทยเบฟได้รับคะแนนสูงสุดในมิติการกำกับดูแลและเศรษฐกิจ รวมถึงมิติสังคม และได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับสองในมิติสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ “ไทยเบฟ” วางกลยุทธ์การดำเนินงานด้านความยั่งยืน 3 ระดับ คือ ภายในองค์กร ความร่วมมือกับพันธมิตร และการสร้างแพลตฟอร์มสาธารณะ โดยตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน อาทิ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ภายในปี 2583, การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 50%, เพิ่มสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลในขวดพลาสติก PET (rPET) เป็นต้น
ด้านสังคมและธรรมาภิบาล เช่น ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มระดับความผูกพันของพนักงานให้มากกว่าหรือเท่ากับ 90% ภายในปี 2573 ทั้งยังร่วมมือกับพันธมิตรองค์กรเอกชนอีก 8 องค์กร ก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network หรือ TSCN) ขึ้นในปี 2562 เป็นต้น
ด้านความร่วมมือกับชุมชน “ไทยเบฟ” ร่วมมือกับเทศบาลท้องถิ่นและพันธมิตร ริเริ่ม “โครงการสมุยโมเดล” ในปี 2561 โดยร่วมมือกับเทศบาลนครเกาะสมุยและร้านค้าของเก่าในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วหลังการบริโภค เพื่อลดปัญหาขยะบนเกาะ สร้างรายได้ให้กับผู้ค้าขวดเก่าในท้องถิ่นถึง 10 ล้านบาทต่อปี และในปี 2566 ได้ขยายผลโครงการสู่เกาะสีชัง และยังมีแผนขยายไปยังเกาะอื่น ๆ เช่น เกาะล้าน และเกาะเสม็ด
นอกจากนี้ ในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ “ไทยเบฟ” ได้นำขวดพลาสติก PET กลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล ผลิตเป็นผ้าห่มได้แล้วทั้งสิ้น 30.40 ล้านขวด ภายใต้โครงการ “ไทยเบฟรวมใจต้านภัยหนาว” ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 24
ในด้านการสร้างแพลตฟอร์มสาธารณะ “ไทยเบฟ” ร่วมกับบริษัทชั้นนำของประเทศไทย จัดงาน Sustainability Expo (SX) ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” โดยได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 มีองค์กรด้านความยั่งยืนจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 246 องค์กร
ที่สำคัญ ไทยเบฟยังมีโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 48,632 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biogas) ซึ่งนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 11,891 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นอกจากนี้ยังมีโครงการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ใหม่ และยังคงขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการลดคาร์บอนฟุตปรินต์ (CFP) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ด้วยการซื้อผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ
และเมื่อปีที่ผ่านมา “ไทยเบฟ” ยังได้เข้าร่วมการรายงานด้านการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการบริหารจัดการน้ำ (Water Security) ของ Carbon Disclosure Project หรือ CDP Water Climate ซึ่งเป็นการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดทั่วโลก โดยได้รับคะแนนประเมินในระดับ A- ในทั้ง 2 หมวด จากผลการประเมินล่าสุด
จากกิจกรรมที่กล่าวมา เป็นเพียงบางส่วนของกิจกรรมและโครงการที่องค์กรภาคเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศไทยได้ลงมือทำ อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิจะลดลงได้ก็ต่อเมื่อก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจะต้องเท่ากับศูนย์ (Net Zero) ซึ่งหมายถึงไม่ใช่แค่องค์กรที่ลงมือทำ แต่ในชีวิตประจำวันเราทุกคนก็ต้องช่วยกัน Net Zero ด้วยเช่นกัน