BEAUTY

พัฒนาการลดขาดทุนของ BEAUTY เครื่องสำอางคนไทยแต่ไปดังในจีน

บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางที่คนไทยคุ้นเคยอย่าง BEAUTY BUFFET ,  BEAUTY COTTAGE , GINO McCRAY ประกาศงบไตรมาส 1/67 ออกมายังขาดทุน 1.77 ล้านบาท โดยไตรมาสนี้มีรายได้รวมทั้งหมด 118.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 9% ถึงแม้ไตรมาสนี้จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้ BEAUTY ขาดทุนลดลงได้มากถึง 72% เกิดจากการหั่นค่าใช้จ่ายในการขาย และค่าใช้จ่ายในการบริษัทลง โดยค่าใช้จ่ายในการขายไตรมาสนี้อยู่ที่ 29.56 ล้านบาท ลดลง 22.24% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566

ไม่ใช่เพียงไตรมาสแรกของปีนี้เท่านั้นที่เห็นพัฒนาการที่ดี เพราะความน่าสนใจที่ Business+ หยิบยกขึ้นมาเล่าเป็นในแง่ของพัฒนาการลดขาดทุนสุทธิของ BEAUTY ตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการขาดทุนสุทธิลดลงมาเรื่อยๆ จนเหลือขาดทุนสุทธิ 45.67 ล้านบาทในปี 2566

ซึ่งหากย้อนกลับไปในปี 2562 ขณะนั้นบริษัทมีกำไรสุทธิมากถึง 232.58 ล้านบาท แต่ในปี 2563 ต้องขาดทุนสุทธิ 104.88 ล้านบาท โดยผลกระทบหลักคือ COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกทำให้หลายๆประเทศออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ด้วยการประกาศปิดประเทศ (Lockdown) รวมถึงประเทศไทยด้วย และทางศูนย์การค้าต่างๆ ต้องปิดตัวตามประกาศของรัฐบาลทำให้ BEAUTY ต้องปิดร้านค้าปลีกชั่วคราวไปเกือบ 300 สาขาทั่วประเทศ (มากกว่า 95% ของจำนวนสาขาทั้งหมด)

และจากมาตรการปิดประเทศยังทำให้ผู้เดินทางเข้า –ออกในสนามบินหลักของไทยลดลงจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นรายได้หลักของสัดส่วนการค้าต่างประเทศ โดย BEAUTY เจาะตลาดเป็นลูกค้าชาวจีนที่มาเที่ยวในไทยอย่างต่อเนื่องจนทำให้จีนเป็นตลาดหลักที่สร้างยอดขายถึง 89% ของตลาดต่างประเทศ ดังนั้นในปีที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยไม่ได้บริษัทจึงประสบกับผลขาดทุนสุทธิ

โดยสัดส่วนรายได้ล่าสุดในปี 2567 รายได้จากร้านค้าปลีกอยู่ที่ 43.93% รายได้ต่างประเทศ 35.30% โมเดิร์นเทรด 9.30% อีคอมเมิร์ช 8.41% เจเนอรัล เทรด 1.57% และอื่นๆ 1.48%

อย่างไรก็ตามในปี 2564 จนถึงปัจจุบันบริษัทก็มีพัฒนาการเพื่อลดขาดทุนสุทธิลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการปรับกลยุทธ์หลายด้าน โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

จะเห็นว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อโลกที่ทำให้วัตถุดิบราคาสูงขึ้นจนต้องแบกรับต้นทุนสูง ประกอบกับ ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ (Refresh Branding) และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆในกลุ่ม BEAUTY & WELLNESS ออกสู่ตลาดแมส ( Mass Market )

อีกทั้งยังเพิ่มช่องทางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด เช่น บิ๊กซี โลตัส ท๊อป วัตสัน CJ Express ฯลฯ และเจอร์เนอร์รัลเทรด เพื่อเป็นการกระจายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายไปสู่ร้านค้าปลีกในระดับอำเภอ โดยปรับรูปแบบสินค้าให้มีขนาดและราคา ที่เหมาะสมกับกำลังซื้อ ความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายที่มีศักยภาพในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนช่วงให้บริษัทสามารถลดขาดทุนสะสมลงได้ในทุกๆ ปี

ถึงแม้ปัจจุบันบริษัทจะยังมีขาดทุนสะสม 179.98 ล้านบาท แต่ถ้าหากสามารถพลิกเป็นกำไรสุทธิได้ในช่วงที่เหลือจากนี้ก็อาจจะล้างขาดทุนสะสมได้หมดภายในปี 2567

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : Setsmart
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS