6 เหตุผล ‘อาคเนย์’ ยอมถอย เจ็บแต่จบ เพราะไปต่อไม่ได้!!

เช้าวันนี้ (26 ม.ค.2565) ได้มีการประกาศข่าวใหญ่เกี่ยวกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ ‘บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)’ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า อาคเนย์ ประกันภัย ต้องแบกรับผลกระทบจากประกัน COVID-19 อย่างหนักหน่วง

โดยที่ผ่านมา บริษัทของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี หรือ เสี่ยเจริญ ได้แบกรับด้วยการใช้เงินส่วนตัวเพื่อสนับสนุนเงินเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการเคลมประกัน COVID-19 ของลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์ไปแล้วกว่า 9,900 ล้านบาท

แต่เงินจำนวนดังกล่าว ก็ไม่สามารถทำให้ธุรกิจสามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ COVID-19 ยังแพร่ระบาดหนัก รวมถึงมีสายพันธุ์ใหม่อย่าง โอมิครอน (Omicron) ซึ่งวันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 7,587 ราย และยังมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 175,509 ราย

และยิ่งในสถานการณ์ที่ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกคำสั่ง ห้ามบริษัทประกันยกเลิกกรมธรรม์ COVID-19 ซึ่งคำสั่งที่ออกมานี้ ทำให้บริษัทประกันหลายเจ้ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก (ทางอาคเนย์ประกันภัย ก็เป็นบริษัทที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะในสัญญานั้น สามารถให้ยกเลิกกรมธรรม์ได้ คดีนี้เพิ่งนัดไต่สวนนัดแรกในวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา และยังอยู่ในกระบวนการของศาล)

ทั้งนี้ เอกสารการยกเลิกประกอบธุรกิจประกันภัยที่อาคเนย์ประกันภัย ได้แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ระบุเอาไว้ว่า ปัญหาการกลายพันธุ์และการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอน ยังคงเพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและการดำรงอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) ของอาคเนย์ประกันภัยให้ลดต่ำลงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดในไม่ช้า (ปัจจุบัน อาคเนย์ประกันภัย มีเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) ประมาณ 170%)

อาคเนย์ประกันภัยจึงตัดสินใจที่จะเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อนายทะเบียนตามกฎหมาย

ซึ่งการเลิกทำธุรกิจประกันในตอนนี้ ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีกับทุกฝ่ายมากกว่า เพราะปัจจุบันเงินกองทุนที่มีอยู่ทำให้ อาคเนย์ประกันภัย ยังสามารถจ่ายเงินคืนให้กับผู้เอาประกันภัยได้ และยังมีเงินเหลือพอที่จะชำระหนี้ให้คู่ค้าทั้งหมดรวมถึงพนักงานลูกจ้างทุกคน

แต่ถ้าหากยังฝืนดำเนินธุรกิจต่อไปอาจจะมีผลกระทบเป็นวงกว้าง อย่างที่เราเคยเห็นกรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยอื่นที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบไม่ได้มีเพียงลูกค้าประกันตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 แต่ยังรวมไปถึงผู้เอากรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ

นอกจากนี้ ถ้าหากถูกเพิกถอนใบอนุญาต ก็จะทำให้กองทุนประกันวินาศภัยมีภาระทางการเงิน จากการเข้ามาช่วยเหลือแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องอันจะเป็นภาระแก่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโดยรวม

ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ อาคเนย์ประกันภัย ตัดสินใจยื่นยกเลิกการทำธุรกิจ สามารถสรุปได้ทั้งหมด 6 ข้อ คือ
1. กรณีดำเนินธุรกิจต่อไปและถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผลกระทบที่จะตามมาคือ อาคเนย์ประกันภัย จะประสบปัญหาด้านการเงิน โดยสถานะของหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน

2. ในกรณีของ หน่วยงานกำกับและรัฐบาล จะต้องแบกรับหนี้สินแทน ซึ่งจะกลายเป็นภาระต่อหน่วยงานกำกับ และกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งอาจมีจำนวนมากถึง 10,000 ล้านบาท

3. ผู้ถือกรมธรรม์ที่ไม่ใช่ COVID-19 ของอาคเนย์ประกันภัย 8,629,036 ราย มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกรมธรรม์ เนื่องจากขึ้นอยู่กับทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของอาคเนย์ประกันภัย และการเยียวยาความเสียหายของกองทุนประกันวินาศภัยฯ ในช่วงระยะเวลาที่เกิดความเสียหายในอนาคต

4. ผู้ถือกรมธรรม์ COVID-19 ของอาคเนย์ประกันภัย 1,851,921 ราย มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับกรณี ผู้ถือกรมธรรม์ที่ไม่ใช่ COVID-19

5. คู่ค้า (อาทิ อู่ซ่อมรถ/โรงพยาบาล/ตัวแทน) ของอาคเนย์ประกันภัย 9,000 รายมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับค่าบริการ หรือ
ได้รับล่าช้า หากอาคเนย์ประกันภัยถูกปิดกิจการและเข้าสู่กระบวนการขอรับชำระหนี้ในขั้นตอนของการชำระบัญชี

6. พนักงานอาคเนย์ประกันภัย 1,396 คน พนักงานอาจถูกเลิกจ้างกะทันหัน ในกรณีถูกปิดกิจการ และจะได้รับเงินชดเชยล่าช้า เนื่องจากอาคเนย์ประกันภัยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน

นี่คือ 6 เหตุผลที่ทำให้ อาคเนย์ประกันภัย ตัดสินใจเลิกทำธุรกิจประกันภัย เพราะถ้าหากยังดำเนินธุรกิจต่อไปภายใต้การระบาดของเชื้อไวรัสที่ยังรุนแรงจะยิ่งทำให้มีจำนวนผู้เคลมประกันสูงขึ้น บริษัทต้องแบกรับเบี้ยประกันอีกจำนวนมาก และผลกระทบที่ตามมาจะร้ายแรงยิ่งกว่าการเลิกประกอบธุรกิจเสียตั้งแต่ตอนนี้

ที่มา : SET, อาคเนย์ประกันภัย

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #อุตสาหกรรมประกันภัย #ประกันเจอจ่ายจบ #อาคเนย์ประกันภัย