ปูทางไทยสู่ 5G ด้วยคลื่นความถี่และ “ยูสเคส” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

โดย ดร. เอก จินดาพล ผู้อำนวยการและผู้เชี่ยวชาญพิเศษฝ่ายกลยุทธ์เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

ขณะที่หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา หรือทางยุโรป เริ่มเปิดใช้บริการ 5G และมีการเตรียมความพรัอมในการเปิด 5G เร็วๆ นี้ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ตั้งเป้าจะเปิดตัว 5G เพื่อเตรียมความพร้อมที่เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมโอลิมปิก 5G ถูกมองว่าอาจจะผลักดันทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมอีกครั้ง

ดร. เอก จินดาพล ผู้อำนวยการและผู้เชี่ยวชาญพิเศษฝ่ายกลยุทธ์เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

ความสามารถในการเชื่อมต่อและตอบสนองสัญญาณจะนำไปสู่ความแตกต่างระหว่าง 5G กับ 4G ซึ่งไม่ใช่แค่การเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับแอปพลิเคชันใหม่ หรือตอบสนองแค่ดูหนัง ฟังเพลงที่เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นแค่การเชื่อมต่อกับคนและอุปกรณ์ แต่เป็นการที่ 5G เปิดโลกใหม่ที่ ด้วยการทำให้เราเข้าไปใกล้โลกแห่งอนาคตด้วยการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์ โดยตรงผนวกกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) และการวิเคระห์บิ๊กดาต้า (Big data analytics) จะทำให้เกิดบริการใหม่ๆ ที่โลกยังไม่เคยสัมผัสกันอีกมาก

การที่จะให้ 5G เกิดขึ้นโดยยั่งยืนนั้น 5G จะต้องเป็นมากกว่าแค่ท่อส่งอินเทอร์เน็ต (internet pipe) และต้องมีการสนับสนุนความสามารถให้กับอุตสาหกรรมและธุรกิจอื่นๆ ดังนั้นการใช้งานหรือ ยูสเคส (use case) ต่างๆ ควรจะถูกนำมาทดสอบ และปรับแต่งให้เข้ากับอุตสาหกรรมและธุรกิจในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่นยูสเคสของ eMBB (enhanced Mobile Broadband) และ FBB (Fixed Broadband) เป็นตัวอย่างของการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงจึงต้องการความจุของคลื่นในย่านความถี่สูง เพื่อที่จะกระจายสัญญาณไปยังบ้านและธุรกิจในเขตชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะที่คลื่นย่านความถี่ต่ำอาจจะเหมาะสมกับยูสเคสอื่นๆ เช่น การผ่าตัดทางไกล (remote surgery) หรือบริการฉุกเฉิน (emergency service) ที่ต้องการความแม่นยำและเสถียรของสัญญาณสูง ส่วนยูสเคส (use case) อื่นๆ เช่น สมาร์ทเฮลท์ (smart health) สมาร์ทซิตี้ (smart city) โลจิสติก ที่มีการผสมผสานของการรับส่งข้อมูลปริมาณมากและจำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่อสูงอาจใช้ความถี่หลายๆ ย่านมารวมกันให้บริการ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความต้องการคลื่นความถี่สำหรับการให้บริการ 5G จะเพิ่มขึ้นมากกว่าการให้บริการ 4G โดยมีความต้องการคลื่นทั้งย่านความถี่ต่ำ (low band) ความถี่กลาง (mid band) และความถี่สูง (high band) เพื่อรองรับข้อกำหนดที่หลากหลายในการต้องการความเร็วรับส่งข้อมูล และรองรับการใช้งานในพื้นที่ที่ครอบคลุมการใช้งานแตกต่างกัน มาตรฐานสากลสำหรับปริมาณความจุคลื่นความถี่ที่พอเพียงในการให้บริการบนยูสเคส (use case) ข้างต้นระบุไว้ว่าไม่ควรต่ำกว่า 100MHz ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ให้บริการรายใดในไทยมีคลื่นเท่ากับที่ 5G ต้องการ

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ 5G เกิดขึ้นในไทย 3 ข้อที่จะไม่ให้ตกขบวน 5G คือ

1. การกำกับดูแล (Regulation) กฎระเบียบต่างๆ ต้องเอื้อให้ 5G สามารถเกิดได้อย่างรวดเร็ว เอื้อให้ใช้ทรัพยากรเศรษฐกิจร่วมกัน รวมไปถึงการสนับสนุนให้อนุญาตเข้าไปติดตั้งระบบอุปกรณ์โครงข่ายพื้นฐานในอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อให้ใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมได้คุ้มค่า และมีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ เพื่อที่ 5G จะสามารถขยายได้อย่ารวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ

2. แผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) ต้องกำหนดว่าจะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ใด เมื่อไร ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดแผนที่ชัดเจน เพราะการจะให้บริการ 5G ได้นั้นต้องมีคลื่นความถี่ที่เพียงพอ ทั้งย่านความถี่ต่ำ ย่านความถี่กลาง และย่านความถี่สูง ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการในไทยส่วนใหญ่ยังมีคลื่นความถี่ไม่เพียงพอ และยังไม่ชัดเจนสำหรับคลื่นต่างๆ ที่จะนำมาจัดสรร โดยแผนจะต้องกำหนดถึงคลื่นความถี่ จำนวน ช่วงเวลาที่จะนำมาจัดสรร รูปแบบและวิธีกำหนดการจัดสรร เป็นต้น

3 การร่วมมือ (collaboration) ทั้งจากภาครัฐ ผู้ให้บริการและผู้บริโภค ในการสร้างระบบนิเวศน์ที่เข้มแข็งและยั่งยืน และช่วยกระตุ้นนวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะ 5G จะเกิดขึ้นได้ด้วยการสร้าง Ecosystem หรือ ทดสอบ use case ต่างๆ ที่จะนำมาพัฒนาสู่ธุรกิจจริง เพราะ 5G เป็นเรื่องการภาคอุตสาหกรรมเฉพาะกลุ่ม หรือ vertical industry ที่จะต้องมีความต้องการแตกต่างกันไป เช่น ภาคการเกษตรต้องการ Smart drone ภาคการบริการสาธารณสุขต้องการ Remote surgery เพื่อให้บริการทางการแพทย์กับพื้นที่ห่างไกลได้อย่างแม่นยำเป็นต้น ในการที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ 5G อย่างมีศักยภาพ พร้อมสู่การแข่งขันในระยะยาว และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร.