นโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาททั่วประเทศ เป็นนโยบายไฮไลท์ของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่ใช้ในการหาเสียง ซึ่งในช่วงที่ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ได้มีการประกาศเอาไว้ว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.2567 แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นประเด็นที่ภาคเอกชนคัดค้านกันอย่างหนัก เพราะการขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศนั้นถือเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
ล่าสุดทางคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) (ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) จึงต้องหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้ร่วมกับ คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และได้มีการส่งหนังสือเสนอผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัด ในการแสดงจุดยืนเพื่อพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างว่าคิดเห็นอย่างไร?
ซึ่งข้อมูลที่ส่งมานั้น น่าสนใจมากๆ เพราะมีเพียง 3 จังหวัดที่พร้อมขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท นั่นคือ “ภูเก็ต-กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ” แต่อีก 23 จังหวัดไม่ขอปรับ และข้อมูลยังพบอีกว่าในแต่ละจังหวัดมีการเสนอขั้นค่าแรงขั้นต่ำแตกต่างกันอยุ่ในช่วงตั้งแต่ 2 บาท ไปจนถึง 42 บาท และส่วนใหญ่เสนอให้มีผลวันที่ 1 ม.ค.2568 แทนที่จะเป็น 1 ต.ค.2567
อย่างไรก็ตามในส่วนของ กระทรวงแรงงานยังยืนยันว่าจะต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 วันที่ 1 ต.ค.67 นี้ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่จะใช้เกณฑ์นี้กับสถานประกอบการที่มีแรงงานหรือมีการจ้างแรงงาน 200 คนขึ้นไปก่อน ส่วนขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือ SME เป็นลำดับถัดไป ส่วนธุรกิจขนาดเล็ก ไซส์ S จะเป็นอันดับสุดท้ายที่จะพิจารณาขึ้นค่าแรง
นอกจากนี้ยังเปิดเผยข้อมูลว่าได้มีการหารือร่วมกับปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการประกันสังคมว่า เพื่อหามาตรการเยียวยาให้กับผู้ประกอบการที่มีแรงงานในบริษัทมากกว่า 200 คนขึ้นไป เบื้องต้นจะเป็นการลดการนำส่งสำหรับนายจ้าง 1% ตั้งแต่เดือนต.ค.67 ถึงเดือนก.ย.68 (รวม 12 เดือน)
ดูเหมือนว่าความคิดเห็นของหลายๆฝ่ายนั้น ยังไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ซึ่งเราจะต้องต้องติดตามประเด็นนี้กันต่อไปจนถึงวันที่ 15 ก.ย.67 ที่จะมีการพิจารณาผ่าน 3 ฝ่ายที่เป็นตัวแทน คือ
– ฝั่งฝ่ายนายจ้าง : ซึ่งจะพิจารณาความสามารถในการจ่าย เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
– ฝ่ายลูกจ้าง : ซึ่งจะพิจารณาปัจจัยด้านค่าครองชีพและค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อเพียงพอต่อการดำรงชีวิต
– ฝ่ายรัฐ : ซึ่งจะร่วมพิจารณาและกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างอยู่รอดได้ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น
ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงที่มีประสิทธิภาพของประเทศนั้น จะต้องคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า และบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งยังสามารถพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ใช้เฉพาะกิจการ งาน หรือสาขาอาชีพประเภทใด เพียงใด ในท้องถิ่นใดก็ได้เช่นเดียวกันค่ะ
และจากที่ Business+ ได้ทำการสำรวจ CEO ของไทยมาในคอนเทนต์พิเศษนั้น พบว่า หลายๆบริษัทยังมองว่าการขึ้นค่าแรงในปีนี้อาจจะยังเร็วเกินไป โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและเล็กที่ต้องแบกรับต้นทุนสูงเกินกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น
ติดตามคอนเทนต์เกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้บริหารในประเด็นค่าแรงได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus/video/7385466459159285000?lang=th-TH
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #ค่าแรงขั้นต่ำ #ค่าแรง400บาท