3 Mega trend อุตสาหกรรมประกัน นวัตกรรม รักษาคน และสิ่งแวดล้อม

ตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาโลกของเราเต็มไปด้วยความท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทุกอุตสาหกรรมและทุกธุรกิจต่างก็เจ็บปวดอย่างมากจากสถานการณ์โรคระบาดอย่าง COVID-19 ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดหยุดชะงักหรือหากต้องการดำเนินธุรกิจต่อไปผู้ประกอบทั้งหมดต่างก็ต้องมุ่งหน้าเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นทำให้การปรับตัวและปรับขนาดขององค์กรกลายเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้จากนี้ ภายใต้พฤติกรรมผู้บริโภคที่ปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วไม่ว่าธุรกิจและอุตสาหกรรมใดต้องการจะอยู่รอดในสถานการณ์แบบนี้ก็จำเป็นต้องเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องไปกับสถานการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุดอย่างเลี่ยงไม่ได้

โดยอุตสาหกรรมที่เจ็บหนักมากอุตสาหกรรมหนึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็น่าจะเป็นอุตสาหกรรมประกัน เพราะเนื่องจากการดำเนินธุรกิจที่ลดลงจนถึงขั้นหยุดชะงัก การใช้งานรถยนต์บนท้องถนนที่หายวับไปกับตา การรับเคลมผู้ป่วยจากโรค COVID-19 ที่ผู้รับประกันในตอนแรกต่างมองเป็นโอกาส แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะกลายเป็ยวิกฤตของพวกเขาไปเสียแล้ว สาเหตุทั้งหมดนี้เพียงพอทำให้อุตสาหกรรมประกันต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

โดยทางอีวาย หรือ เอินส์ทแอนด์ยัง เป็นหนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ให้มุมมองเมกะเทรนด์ของอุตสาหกรรมประกันทั่วโลกในปี 2022 นี้ ซึ่งพวกเขามองว่าจะมี 3 เรื่องสำคัญที่อุตสาหกรรมประกันจะต้องทำในปีนี้

1.Ecosystems and open insurance
2.Workforce transformation
3.Sustainability and the greening of the global economy

1.สร้างระบบนิเวศน์ & การแบ่งปันและบริหารจัดการข้อมูล (Ecosystems and open insurance)

ทุกกลุ่มธุรกิจของอุตสาหกรรมประกันจำเป็นต้องเพิ่มความต้องการผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่มีราคาจับต้องได้มากขึ้น โปร่งใสไม่ซับซ้อนเหมือนแต่ก่อนและทำความเข้าใจได้ง่าย นอกจากนี้ก็ต้องปรับได้ตามความต้องการของผู้บริโภค ลูกค้าในยุคใหม่จะมีความเต็มใจมากขึ้นในการซื้อประกันจากบริษัทในกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เช่น ค้าปลีก สถาบันการเงิน และบริษัทเทคโนโลยี เป็นต้น นั่นทำให้ธุรกิจประกันจากนี้จะต้องมอบสิ่งที่อยู่เหนือแค่ผลิตภัณฑ์และบริการแบบเดิม ๆ เช่น การมอบประสบการณ์การใช้บริการที่ต่อเนื่องมีคุณภาพ พร้อมมอบรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่จะแก้ไขปัญหาทั้งในแบบองค์รวมและเฉพาะเจาะจงได้ เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นพร้อมสร้างการมีส่วนร่วมที่มีความหมาย รวมไปถึงการใช้งานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยการสร้างระบบนิเวศน์จะเป็นไปได้ผ่านการผลักดันโครงสร้าทางเทคโนโลยีที่จะมุ่งไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน มันจะกลายเป็นโมเดลธุรกิจที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ พร้อมกันนั้นพวกเขาจำเป็นต้องมีการแบ่งปันข้อมูลกับองค์กรที่สามารถมอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันได้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า Application programming interfaces (APIs) เพื่อเชื่อระบบที่แตกต่างเข้ามาหากัน

7 เรื่องที่บริษัทประกันต้องทำเพื่อสร้างระบบนิเวศน์

1.การเพิ่มความต้องการจากกลุ่มลูกค้าผ่านทางเลือกและประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งจะไปเพิ่มข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพไปพร้อม ๆ กัน
2.ขยายช่องทางการขายทั้งแบบขายตรงและช่องทางดิจิทัล ขณะเดียวกันก็สนับสนุนตัวกลางและเครือข่ายควบคู่ไปด้วย
3.ต้องสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น โดยมุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์สำหรับด้านการป้องกันสุขภาพเป็นสำคัญ
4.ทำการฟื้นฟูและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดประกันชีวิตและการเกษียณอายุ
5.เพิ่มผลิตภัณฑ์ประกันในกลุ่มสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งให้มากขึ้น
6.ทำให้โครงสร้างระบบนิเวศน์ลองรับการมาของดิจิทัลแบบเต็ม 100% รวมไปถึงรูปแบบในการทำธุรกิจด้วย
7.ประสานความร่วมมือกับคู่แข่งที่ไม่ใช่ธุรกิจประกัน

อะไรที่ลูกค้ากำลังมองหาจากนี้

ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ประกันที่ครอบคลุมทั้งในมิติสุขภาพและคุณภาพการเงินจะเป็นตัวเร่งที่ทรงพลังสำหรับการสร้างระบบนิเวศน์รวมไปถึงการแบ่งปันและบริหารจัดการข้อมูล โดย COVID-19 จะเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ความต้องการประกันชีวิตและประกันสุขภาพแบบป้องกันเพิ่มสูงขึ้น และตรงนี้จะไปสร้างการเติบโตในเบี้ยประกันให้กับบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก โดย 75% ของผู้บริโภคในตอนนี้มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนรูปแบบการเงินเพื่อตอบสนองต่อโรคระบาด

ตอนนี้ผู้บริโภคทั่วโลกสนใจในผลิตภัณฑ์ประกันแบบไหน

77% สนใจประกันที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเมื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลให้
74% ประกันชีวิตที่อนุญาตให้เข้าถึงเงินทุนในกรณีฉุกเฉินได้
66% ประกันป้องกันรายได้ในกรณีตกงาน
66% ประกันที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน

กลุ่มผู้นำในธุรกินประกันแบบเก่าจะเจอกับความท้าทายมากขึ้นในเรื่องความคาดหวังของผู้บริโภค เนื่องจากว่ากลุ่มผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายขึ้นจากการมาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ตรงนี้จึงนำมาซึ่งคู่แข่งที่มากขึ้นจากหลากหลายอุตสาหกรรม และทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการตัดสินใจที่มากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะไปผลักดันความคาดหวังต่อการบริการและประสบการณ์ที่ได้รับจะต้องมีคุณภาพตามมากขึ้นไปด้วย

2 เทรนด์สำคัญที่จะเข้ามามีผลต่ออุตสาหกรรมประกัน

62% การเปลี่ยนแปลงในความคาดหวังและประสบการณ์ของลูกค้า
57% การเร่งตัวของเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

2. การเปลี่ยนแปลงของคนทำงาน (Workforce transformation)

อีกหนึ่งความท้าทายขององค์กรในยุคนี้คือการแก้ไขปัญหาทักษะของพนักงานเพื่อปิดช่องว่างที่ห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกันนั้นก็ต้องมองหาคนที่มีความสามารถจริง ๆ เข้ามาเพิ่มเติมภายในทีม แต่ในขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องดึงเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานให้มากขึ้น นั่นทำให้บริษัทต้องมีกาปรับกลยุทธ์และการลงทุนในคนและเทคโนโลยีอย่างมากในอนาคตอันใกล้นี้

โดยจากการสำรวจพบว่ากลุ่มที่ไม่ใช่ CEO ของบริษัทประกันมากกว่า 26% มองว่าจะมีการเปลี่ยนงานในช่วงเวลา 3 ปีจากนี้ เมื่อเทียบกับ CEO ของบริษัทประกันจะอยู่ที่แค่ 5% เท่านั้น ตรงนี้สอดคล้องไปกับฝั่งนายจ้างในสหรัฐที่พบว่ามากกว่า 69% ที่มีลูกจ้างอย่างน้อย 1,000 คนมีแผนที่จะเสนอเงินสิทธิประโยชน์มากขึ้นในช่วง 5 ปีจากนี้ เพราะฉะนั้นการรักษาคนและการพัฒนาคนจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ของธุรกิจประกันจากนี้ โดยในยุคหน้าการทำงานจะไปประกอบไปด้วยคนหลายเจเนอเรชั่น (ประมาณ 5 เจเนอเรชั่น) นอกจากนี้รูปแบบการทำงานก็ไม่ใช่เป็นพนักงานประจำอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะรวมไปถึงพนักงานชั่วคราว (Part Time) และคนที่ทำงานแบบรายชิ้นงาน (Gig Workers) และเนื่องจากในยุคหน้าคนทำงานจะเริ่มหายากเราจะได้เห็นการแบ่งปันคนที่มีความรู้ความสามารถระหว่างองค์กรเกิดขึ้นผ่านการเข้าซื้อบริษัท การร่วมทุน หรือการเป็นพันธมิตรทางการค้ากัน

สิ่งที่พนักงานในบริษัทประกันต้องการในการทำงาน

90% มีความยืดหยุ่นในการทำงานที่ไหนก็ได้
89% มีความยืดหยุ่นว่าเมื่อไรที่พวกเขาจะทำงาน
54% เป็นไปได้ที่จะลาออกถ้าสิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ได้รับการตอบสนอง

เจเนอเรชั่นไหนอยากทำงานทางไกลมากที่สุดหลังสถานการณ์ COVID-19

45% เจเนอเรชั่น Z
39% เจเนอเรชั่น Y
38% เจเนอเรชั่น Millennials

หมายเหตุ : ค่าเฉลี่ยของการทำงานทางไกลที่พนักงานต้องการจะอยู่ที่ 2.9 วันต่อสัปดาห์

3.ความยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียว (Sustainability and the greening of the global economy)

วันนี้เรื่องสำคัญที่สุดในระดับโลกที่ CEO ชั้นนำทุกคนต้องสนใจคงไม่มีอะไรเกินเรื่องสภาวะโลกร้อนอีกแล้ว โดยผู้นำในธุรกิจประกันทุกรายจำเป็นต้องมีขั้นตอนการดำเนินงานที่จับต้องได้จากนี้เพื่อแก้ปัญหาให้ครอบคลุมตั้งแต่ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) นี่คือเรื่องสำคัญมากเพราะความยั่งยืนจะส่งผลกระทบต่อทั่วทั้งการดำเนินงานและระบบนิเวศน์ทั้งหมดของอุตสาหกรรมประกัน

โดยข้อมูลจาก Swiss Re เผยว่า ผลกระทบด้านสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงนั้นได้สร้างความเสียหายด้านรายได้ให้กับอุตสาหกรรมประกันตั้งแต่ปี 2017-2020 คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 354,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ภัยธรรมชาติได้สร้างความเสียหายในครึ่งปีแรกของปี 2021 ไปกว่า 93,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรายงานจาก Swiss Re ยังเพิ่มเติมอีกว่าผู้ดำเนินธุรกิจประกันในทวีปอเมริกาเหนือได้สูญเสียสัดส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปถึง 67% จากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ทวีปยุโรปอยู่ที่ 34% และ 12% คือทวีปเอเชีย

โดยสิ่งที่จะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจประกันต้องเร่งดำเนินการมุ่งหน้าไปสู่ความยั่งยืนก็คือ แรงกดดันจากกฎเกณฑ์ที่กำลังทยอยออกมา ผลกระทบเชิงลบต่อผลประกอบการและราคาหุ้น และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอนาคต เพราะฉะนั้นการทำเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จึงไม่ใช่แค่เรื่องภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์เพียงชั่วครู่ชั่วยามอีกแล้ว จากนี้ไปมันคือสิ่งที่ต้องทำพร้อมต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต้องเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุดอีกด้วย

ปัจจัยสำคัญที่จะมีบทบาทในเรื่องความยั่งยืน

48% กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่จะบังคับใช้
27% นักลงทุน
26% หน่วยงานราชการ
ความท้าทายในการดำเนินนโยบายด้าน ESG
69% การเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อและได้มาตรฐาน
51% การมีอยู่ของผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงและวัตถุประสงค์ของการลงทุนที่เหมาะสม

ภาพรวมธุรกิจประกันไทย

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เผบว่า จากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัยไทย ประจำปี 2564 ในเรื่องของมุมมองต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทยในระยะข้างหน้า ทั้งธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย เชื่อว่า มีแนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบรุนแรงต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทยอยู่ในระดับ “ปานกลาง” ถึง “สูง” ทั้งในระยะสั้น 1 ปีข้างหน้า และระยะปานกลาง 1-3 ปีข้างหน้า อีกทั้งมีความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงในระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ 1 ปีที่แล้ว

5 ความเสี่ยงของธุรกิจประกันชีวิต
1.ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ
2.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
3.ความเสี่ยงจาก COVID-19
4.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

5.ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอันรวดเร็ว
5 ความเสี่ยงของธุรกิจประกันวินาศภัย
1.ความเสี่ยงจาก COVID-19
2.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
3.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
4.การแข่งขันในตลาดที่รุนแรง
5.ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอันรวดเร็ว

ขณะที่ศูนย์กสิกรไทยในปี 2022 ภาพรวมธุรกิจประกันของไทยยังอยู่ในช่วงการปรับฐานต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากมีกรมธรรม์ที่ครบกำหนดชำระเบี้ยแต่ยังมีความคุ้มครองจำนวนมาก แต่มีโอกาสที่กำลังซื้อรายใหม่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดไว้ ซึ่งหมายความว่าบริษัทประกันคงต้องพยายามรักษาอัตราการเติบโตในปี 2022 ให้ต่อเนื่องจากปี 2021 ซึ่งหมายถึงต้องเร่งยอดขายเบี้ยใหม่ให้โตไม่น้อยกว่า 7% ขณะที่ในช่วงรอยต่อก่อนเข้าสู่มาตรฐานบัญชีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2024 คงเป็นประเด็นที่ท้าทายความสามารถในการปรับโครงสร้างผลิตภัณฑ์หลักให้เป็นที่ยอมรับ ทำให้ระหว่างปี 2022-2023 คงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่น่าจะได้เห็นการพัฒนาและส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ประกันที่เน้นความคุ้มครองมากขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประเภทสะสมทรัพย์คงมีทิศทางลดลง และถูกปรับเปลี่ยนเป็นแบบที่มีส่วนร่วมในเงินปันผล หรือแบบประกันควบการลงทุนทั้งแบบยูนิตลิงค์และยูนิเวอร์แซลไลฟ์มากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์และกติกาของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2565 ว่า คปภ. จะบังคับใช้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 120% เป็น 140% ในปีนี้ตามแผนเดิมหรือไม่อีกด้วย

สรุป

เราจะเห็นว่าภาพในช่วงเวลา 3-5 ปีจากนี้ธุรกิจประกันยังคงอยู่กับการลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กรซึ่งต้องใช้เงินทุนมหาศาล และขาดแคลนคนมีความสามารถในการทำงานไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ ขณะเดียวกันท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนที่เราอาจจะกำลังเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ รวมไปถึงความขัดแย้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการแบ่งขั้วระหว่างตะวันตกและตะวันออกอย่างชัดเจนจะทำให้ทุกธุรกิจต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาวะโลกที่แทบจะหาความแน่นอนอะไรไม่ได้เลยในตอนนี้ ต้องบอกนี่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมากช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมประกันเลยทีเดียว

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ข้อมูล : EY, Swiss Re

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #อุตสาหกรรมประกัน #พนักงานลาออก #EY #Swiss Re #ESG #Megatrend #นวัตกรรม #สิ่งแวดล้อม