2 ทีม นศ.สถาปัตย์. มทร.ธัญบุรี สุดเจ๋ง!ชนะเลิศการออกแบบระบบขนส่งฯ

สนข. ประกาศผลการออกแบบแนวคิดการพัฒนาปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อคนทุกคน นักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี สุดเจ๋ง ชนะเลิศ 2 ทีม

ผศ.ดร.วรากร สงวนทรัพย์ อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ในฐานะที่ปรึกษาของทีม เผยว่าจากการที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมประกวดแบบสิ่งอำนวยความสะดวกระบบขนส่งสาธารณะเพื่อคนทุกคน ด้วยแนวคิด We can make the best for all.

 

โดยโจทย์ได้กำหนดพื้นที่ต้นแบบเพื่อการประกวดแบบแนวความคิดพัฒนาหรือปรับปรุงอาคารสถานที่หรือสถานีขนส่งผู้โดยสาร 4 ภูมิภาค คือภาคเหนือ สถานีขนส่งผู้โดยสาร จ.เชียงราย (แห่งที่ 2) ภาคใต้และภาคตะวันตก ท่าอากาศยานนานาชาติ จ.ภูเก็ต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานีรถไฟ จ.ขอนแก่น และภาคกลางและภาคตะวันออก ท่าเรือศรีราชา จ.ชลบุรี

นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ได้เข้าร่วมและส่งผลงานประกวด ผลปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งสองทีม ทีมแรก คือ ทีม SN(A)CK ชนะเลิศในภาคใต้และภาคตะวันตก ท่าอากาศยานนานาชาติ จ.ภูเก็ต ประกอบด้วย นายชาญณรงค์ อินทชัยศรี ‘เอิร์ท’ นายอธิปภัคคิ์ ตรีธีรโรจน์ ‘บอส’ นายศุภกิตติ์ ช่วยชาติ ‘จุย’ และนายไนยชน พุ่มทอง ‘น็อต’ และอีกหนึ่งทีม คือ ทีม Shea Butter ชนะเลิศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานีรถไฟ จ.ขอนแก่น นำโดย น.ส.ปิยธิดา เตชะอมรกุล ‘อาย’ น.ส.รุ้งตะวัน มุ้งน้อย ‘น้อท’ และ น.ส.นวิญา การะเกต ‘บีบี’

 

“กิจกรรมที่ สนข. จัดขึ้นครั้งนี้เป็นการบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างองค์ความรู้ที่เรียน สู่การปฏิบัติงานจริงในเวทีการประกวด ประสบการณ์ครั้งนี้จะช่วยเติมเต็มความเป็นมืออาชีพของนักศึกษา ได้เรียนรู้การทำงาน การประสานงาน รวมถึงการทำงานกับรุ่นพี่มืออาชีพในวงการด้วย ที่สำคัญคือช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านการออกแบบ การนำเสนอแนวคิดที่สร้างสรรค์ สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคสังคม” ผศ.ดร.วรากร กล่าว

 

‘เอิร์ท’ ตัวแทน ทีม SN(A)CK เล่าถึงการพัฒนาหรือปรับปรุงท่าอากาศยานภูเก็ต อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยใช้แนวคิดที่ว่า Inclusive ออกแบบพื้นที่ให้ทุกคนสามารถใช้งานร่วมกันได้โดยไม่รู้สึกถึงการแบ่งแยก และสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่นจากเดิมรูปแบบเส้นทางผู้พิการมีลักษณะเป็น Warning Block ซึ่งคนทั่วไปไม่ได้มีส่วนร่วมในการใช้งาน จึงก่อเกิดความรู้สึกที่แบ่งแยก จึงเกิดแนวคิดเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานในพื้นที่เดียวกันได้ โดยไม่รู้สึกอึดอัดและสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันของผู้ที่มาใช้งานในอาคาร

 

ขณะเดียวกันคำนึงถึงระยะมองเห็นและการเลือกใช้สีฟ้าและสีเหลือง ซึ่งเป็นสีสากลที่มีผลต่อการมองเห็น ใช้วัสดุเป็นพื้นยางสังเคราะห์เพื่อให้ทนทานต่อการใช้งาน และปรับเพิ่มที่นั่งสำหรับผู้พิการหรือพื้นที่สำหรับจอดรถเข็นผู้พิการ ปรับทางลาด ปรับพื้นผิวต่างสัมผัสและสถานที่ติดต่อ “โดยรวมแล้วใช้การออกแบบผสมผสานเพื่อการใช้งานสำหรับทุกเพศทุกวัย สะดวกต่อการใช้บริการ ปลอดภัย ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง”

อีกหนึ่งทีมคือ Shea Butter นำโดย ‘อาย’ เล่าว่าในทีมได้ใช้แนวคิดการออกแบบด้วยที่ว่า Equality of us – เท่าเทียม เท่ากับ เท่ากัน โดยออกแบบพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าขอนแก่นให้ทุกพื้นที่รองรับการใช้งานทุกเพศทุกวัย ไม่แบ่งแยกทั้งบุคคลทั่วไปและผู้พิการ ที่สำคัญคนทุกคนไม่ได้ต้องการพื้นที่พิเศษ แต่ต้องการพื้นที่ที่มีความเท่าเทียม โดยพัฒนาพื้นที่รับส่งและทางเข้าหลักอาคาร พื้นที่จำหน่ายบัตรโดยสาร พื้นที่พักคอยสำหรับผู้โดยสารและพื้นที่ในจุดขึ้นลงรถไฟ และย้ำด้วยว่า ทีมเราคำนึงถึงการใช้งานจริง ความต่อเนื่องในการใช้งาน กฎหมายและมาตรฐานการออกแบบ ที่มากกว่านั้นพยายามสร้างบรรยากาศให้เกิดการใช้งานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้วีลแชร์ คนพิการทางการเห็น คนพิการทางการได้ยิน ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ แม่และเด็ก รวมถึงผู้ใช้งานทั่วไป

 

“ประสบการณ์สุดเจ๋งและสร้างสรรค์ครั้งนี้ จะเติมเต็มความเป็นสถาปัตย์ฯ มืออาชีพ ก่อนที่จะกระโดดเข้าสู่โลกการทำงานต่อไป” ผศ.ดร.วรากร กล่าวสรุป.