เป็นไปได้แค่ไหน? ไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV เผยความพร้อม 3 ด้านที่ยังต้องจับตามอง

ไม่กี่วันที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอนุมัติแพ็คเกจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อกระตุ้นการใช้รถ EV ทั้ง 3 ประเภทครอบคลุมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถกระบะ โดยจะมีผลบังคับใช้เดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งรายละเอียดของมาตรการนี้ มีทั้งการให้เงินอุดหนุน ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรถกระบะ ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน รวมถึง ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ

หากใครต้องการอ่านรายละเอียดฉบับเต็มสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ https://www.facebook.com/businessplusonline/photos/a.718041261598446/4871662852902912/

โดยมาตรการดังกล่าวเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV ของภูมิภาค โดยเป้าหมายในปี 2573 ประเทศไทยจะต้องผลิตรถยนต์ EV ให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในประเทศ

ที่นี้เรามาดูก่อนว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทยมีทั้งหมดกี่ประเภท โดยปัจจุบันในประเทศไทยเริ่มได้เห็นการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น โดยแบรนด์ต่าง ๆ ที่กำลังทำตลาดในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นแบรนด์จากประเทศจีนและญี่ปุ่น และยังมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตโดยคนไทยอย่าง ‘MINE’ ภายใต้บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ซึ่งปัจจุบันได้นำนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้แล้ว ได้แก่ MINE SPA1 ยานยนต์ไฟฟ้าฝีมือคนไทย 100% เริ่มผลิตจริงในไตรมาสที่ 4/63 รวมไปถึง MINEbus รถบัสไฟฟ้า/รถเมล์ไฟฟ้า ซึ่งได้ผลิตและส่งมอบรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าให้บริษัทเอกชนใช้เดินรถนำร่อง อีกทั้งยังมีเรือโดยสารไฟฟ้า อย่าง MINE Smart Ferry

หากแบ่งประเภทรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ จะสามารถแบ่งได้ 4 ประเภท
1. รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEV) ซึ่งจะเป็นการใช้เครื่องยนต์สันดาปควบคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้า โดยมอเตอร์ไฟฟ้าจะได้รับพลังงานไฟฟ้าจากการเบรก แปลงมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี่

2. รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ซึ่งจะใช้เครื่องยนต์สันดาปควบคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้า โดยมอเตอร์ไฟฟ้าได้รับพลังงานไฟฟ้าจากการเบรก แปลงมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี่ และยังสามารถชาร์จไฟฟ้าจากภายนอก โดยการชาร์จไฟฟ้าได้จากที่บ้าน หรือจากสถานี EV station

3. รถยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) จะใช้พลังงานมอเตอร์ไฟฟ้า โดยพลังงานมอเตอร์ไฟฟ้าได้มาจากเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งมาจากพลังงานก๊าซไฮโดรเจนทำปฏิกริยากับออกซิเจน ซึ่งการเติมก๊าซไฮโดรเจนเหมือนกับการเติมก๊าซ NGV ใช้เวลาเติมไม่นาน แต่ต้องเติมพลังงานไฮโดรเจนจากสถานีให้บริการเท่านั้น ซึ่งสถานีในไทยยังมีไม่มาก อีกทั้ง ก๊าซไฮโดรเจนสามารถติดไฟได้ง่ายหากเกิดการรั่วไหล

4. รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ซึ่งใช้พลังงานมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว โดยพลังงานจะได้มาจากการชาร์จไฟฟ้าจากสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งมีจำนวนไม่มาก และยังใช้เวลาชาร์จไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่ค่อนข้างนาน

ย้อนกลับมาดูเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้จะประสบความสำเร็จได้หรือไม่? ต้องมาดูความพร้อมของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน เพราะยังมีอีกหลายส่วนที่อาจเป็นอุปสรรคต่อภารกิจนี้

ซึ่ง ‘Business+’ สำรวจและรวบรวมมาได้ทั้งหมด 3 ด้านหลัก ๆ ด้วยกัน

1. ความพร้อมด้านความต้องการของผู้บริโภค : ความพร้อมด้านความต้องการของผู้บริโภคสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าถือว่ามีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นตั้งแต่ท้ายปี 2564 ส่งผลให้ความต้องการใช้รถยนต์เครื่องสันดาปลดลง และรถยนต์ไฟฟ้า EV ถือเป็นสินค้าทดแทนกันของรถยนต์เครื่องสันดาป เมื่อระดับราคาค่าใช้งานของรถยนต์เครื่องสันดาปสูงขึ้น จึงส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV แทน จะเห็นได้จากช่วงปลายปี 2564 ความต้องการใช้รถยนต์ลดลง สวนทางกับความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลดมลพิษมากขึ้น โดยการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ ‘COP2’ ได้มีข้อตกลงที่จะพัฒนาแผนระดับชาติในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำไปสู่การผลิตและคิดค้นพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก

2. ความพร้อมด้านการผลิต : ในช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย เมื่อบริษัท Foxconn ซึ่งเป็นผู้ผลิตและประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ประกาศเตรียมเปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าในสหรัฐฯ และในประเทศไทย โดยโรงงานในไทยจะเป็นการร่วมทุนกับ บริษัท ปตท. ด้วยการร่วมทุน HORIZON PLUS สร้างโรงงานฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC ) คาดว่าจะผลิตรถยนต์ EV สู่ตลาดได้ภายในปี 2567

โดยในระยะแรก ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ ด้วยกำลังการผลิตที่ 50,000 คัน/ปี และจะขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คัน/ปี ภายในปี 2573 นอกจากนี้ HORIZON PLUS ยังเปิดเผยแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทยควบคู่กับการลงทุนด้านการผลิต ซึ่งการเข้ามาของผู้ผลิตรายใหญ่จะสามารถช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากร เพื่อรองรับทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในไทยได้เป็นอย่างดี

3. ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน : สำหรับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถือว่าเป็นด้านที่ประเทศต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนติดตั้ง EV charging station เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ได้ติดตั้งเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างก่อสร้าง (ข้อมูล ณ ปี 2564) มีจำนวน 40 สถานี และมีแผนติดตั้งแล้วเสร็จในปี 2565 เพิ่มอีกจำนวน 30 สถานี

นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีแผนการลงทุนที่จะสร้างเพิ่มเติมในปี 2565 อีกจำนวน 70 สถานี ซึ่งหากว่าเป็นไปตามแผนการดังกล่าว คาดว่าประเทศไทยจะสามารถขยายสถานีชาร์จ EV เป็น 140 แห่งในปี 2565 ซึ่งยิ่งมีจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้ามากเท่าไร ก็จะทำให้อุปสงค์ในรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นตาม

ขณะที่ความพร้อมในแง่ของมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานนั้น เนื่องจากราคารถยนต์ไฟฟ้ามีราคาสูงกว่ารถยนต์สันดาป ดังนั้น หากภาครัฐต้องการกระตุ้นให้ยอดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับราคาของรถยนต์สันดาปมากที่สุด ซึ่งมาตรการที่จะสามารถเข้าไปสนับสนุนได้คือ ภาษีจากกรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกมาตรการส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า เช่น เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะ รวมไปถึงลดภาษีสรรพสามิต ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน และยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ

ทั้งหมดนี้คือความพร้อม 3 ด้านสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งจะเห็นว่าบางส่วนรัฐบาลยังต้องให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่จึงจะบรรลุเป้าหมายได้

นอกจากนี้ เรายังพบว่าความต้องการของผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ เนื่องจากรถยนต์ไฮบริด นั้นไม่จำเป็นต้องชาร์จไฟฟ้าจากสถานีชาร์จไฟฟ้า ถึงแม้ กฟผ. มีแผนติดตั้ง EV charging station เพิ่มก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการใช้งาน จึงเป็นหน้าที่ของ กฟผ. ที่ต้องเร่งเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้า

ขณะที่เครื่องอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. ปัจจุบันแบ่งเป็น เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็วให้กับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ แต่ต้องใช้เวลาถึง 20 นาที และเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบธรรมดาใช้เวลาชาร์จไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริดไฮบริดนานถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งใช้เวลาชาร์จไฟฟ้านานกว่าการเติมน้ำมันจากปั๊มของรถยนต์ทั่วไป ในขณะที่ระยะทางต่อการชาร์จ 1 ครั้งยังวิ่งได้น้อยกว่ารถยนต์ทั่วไป

อีกทั้งปัญหาราคาอะไหล่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแบตเตอรี่ที่มีราคาค่อนข้างสูงทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าสูงตามก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนยังคงใช้งานรถยนต์เครื่องสันดาป

ดังนั้นภาครัฐจึงต้องเริ่งส่งเสริมการลงทุนของภาคการผลิตที่ในด้านการผลิตและพัฒนาอะไหล่รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้เป็นระดับราคาที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จับต้องได้ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องระยะเวลาการชาร์จไฟฟ้าที่ใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน และปัญหาระยะการวิ่งที่สั้นของรถยนต์ไฟฟ้า จึงจะสามารถช่วยให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้น

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : InfoQuest ,สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #อุตสาหกรรมรถยนต์ #EV #รถยนต์ไฟฟ้า