คอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า “Japan Senses” ของห้างสรรพสินค้ารายใหญ่จากญี่ปุ่น “อิเซตัน” นัยหนึ่งคือแผนปรับตัวของห้างรายใหญ่จากญี่ปุ่น โดยมีคิวเปิดตัวในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาในมาเลเซีย
ซึ่งข่าวการเปิดตัว “Japan Senses” ของอิเซตัน ได้รับเปิดเผยจาก ฮิโรชิ โอนิชิ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อิเซตัน มิทซึโคชิ กรุ๊ป ที่เข้าร่วมงานสัมมนา The Nikkei Asia 300 Global Business Forum ในกรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้
โอนิชิให้มุมมองว่า ที่ผ่านมาเอเชียคืออดีตดาวรุ่งที่สดใส แต่ปัจจุบันอาเซียนคือดาวจรัสแสงที่เปล่งประกายมากกว่า นั่นเพราะหากมองลึกลงไปถึงกลุ่มประเทศอาเซียน มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 600 ล้านคน จะพบว่าการเพิ่มขึ้นของระดับรายได้ชนชั้นกลางส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ไปสู่หัวเมืองใหญ่ ๆ กลายเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนของเอกชนจากทั่วโลก
จากผลการศึกษาของ UN พบว่า Urbanization Rate ในภูมิภาคอาเซียนยังอยู่เพียง 45% เมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้วที่ 78% ทำให้มีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก โดยฮิโรชิ โอนิชิ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อิเซตัน มิทซึโคชิ กรุ๊ปบอกว่า การเติบโตของชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนของบริษัทต่างชาติ และนับเป็นปัจจัยแรก ๆ ของการตัดสินใจเข้าไปลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจก็ว่าได้
อิเซตันมองว่า กลุ่มชนชั้นกลางยิ่งขยายตัวได้เร็ว ยิ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ แม้ว่าชนชั้นกลางส่วนใหญ่จะนิยมซื้อสินค้าที่มีคุณค่าและคำนึงถึงราคาที่เหมาะสมด้วย ดังนั้นเจ้าของสินค้าและธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องการเจาะตลาดกลุ่มชนชั้นกลางจะต้องบาลานซ์ทั้งสองส่วน ทั้ง “เส้นราคา” (Price Line) และ “คุณค่า” (Value) ของสินค้าให้มีความเหมาะสมด้วยเช่นกัน
“การจะเข้าไปลงทุนในประเทศใดก็ตาม เราต้องศึกษาและเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในประเทศนั้น ๆ ให้ดี เพราะนิยามของชนชั้นกลางในญี่ปุ่น พฤติกรรมการบริโภคจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ทว่าชนชั้นกลางในบางประเทศของอาเซียน คือกลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่งหลุดจากภาวะความยากจน ดังนั้นการบริโภคจึงซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แม้บางครั้งอาจจะยกระดับการซื้อขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกลับซื้ออย่างฟุ่มเฟือย” โอนิชิ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อิเซตัน มิทซึโคชิ กรุ๊ประบุและกล่าวว่า
แม้ตลาดในอาเซียนจะถูกผลักดันด้วยกลุ่มชนชั้นกลางและมีโอกาสขยายตัวสูง แต่ทางอิเซตันยังคงต้องระมัดระวังในการลงทุนเช่นเดิม เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว อย่างเช่นในประเทศไทย ซึ่งอิเซตันได้เข้ามาลงทุนเป็นระยะเวลา 24 ปี นับตั้งแต่ปี 2535 แต่ก็ยังมีเพียงสาขาเดียวเท่านั้น เนื่องจากกลยุทธ์ที่นำมาใช้ยังไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย ประกอบกับยอดขายในช่วง 5 ปีหลังมีแต่ลดลง เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีกำลังซื้อจะเลือกซื้อสินค้าในห้างหรือสินค้าระดับพรีเมียม
อย่างไรก็ดี บริษัทมองว่าลักษณะตลาดของไทยและญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกัน คือมีผู้บริโภคกลุ่ม Middle-Class ค่อนข้างมาก แต่การที่จะใช้กลยุทธ์เพื่อเพิ่มยอดขายจากกลุ่ม Middle-Class ขึ้นไปเป็น Upper-Class อาจจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหลังจากนี้สินค้าที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าอิเซตันจะเพิ่มสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นเป็น 60% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 40% เพื่อขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มระดับกลางถึงบนที่นิยมสินค้าพรีเมียมจากญี่ปุ่นมากขึ้น
ทั้งนี้ คอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า “Japan Senses” เน้นนำเสนอไลฟ์สไตล์ความเป็นญี่ปุ่นขนานแท้ในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กลง ประมาณ 10,000 ตารางเมตร ทั้งนี้ หากกลยุทธ์ที่ใช้ในมาเลเซียประสบความสำเร็จก็จะนำมาขยายผลกับสาขาในสิงคโปร์ รวมถึงใช้เป็นโมเดลสำหรับการขยายสาขาใหม่ในประเทศไทยด้วย
โอกาสอีกครั้งของทุนญี่ปุ่น

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ได้แสดงทัศนะในงานสัมมนาเดียวกัน กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในอนาคตเร็ว ๆ นี้ เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวเร็วที่สุด เพราะเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อีกทั้งกฎหมายมีความคล่องตัว ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และสามารถขึ้นเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจของโลกได้
ส่วนประเทศที่มีโอกาสฟื้นตัวตามสหรัฐอเมริกา คือ ประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งไบโอเทคโนโลยี (Bio-Tech) รวมทั้งการพัฒนาหุ่นยนต์ (AI) ที่สำคัญ ญี่ปุ่นได้ออกไปลงทุนยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ถือเป็นข้อได้เปรียบประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นมีโอกาสพัฒนาขึ้นไปเทียบเท่ากับสหรัฐอเมริกาได้
อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นจะต้องปรับตัว คือต้องกล้า “เสี่ยง” ที่จะลงทุน ในระดับที่ไม่ทำให้บริษัทมีปัญหา เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีความระมัดระวังเรื่องการลงทุนอย่างมาก ส่งผลให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ช้า ดังนั้นหากปรับในเรื่องการลงทุนได้เร็ว เชื่อว่าญี่ปุ่นจะสามารถขึ้นเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน
สำหรับเศรษฐกิจประเทศไทยและกลุ่มอาเซียน มุมมองของธนินท์ประเมินว่า เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลง ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 หรือ Industry 4.0 เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่เทคโนโลยีใหม่ ถือว่าเป็นโอกาสของไทยและอาเซียน โดยเฉพาะไทยจะได้ประโยชน์ เพราะเป็นประเทศศูนย์กลางของอาเซียนและติดกับจีนและอินเดีย
แน่นอนว่าประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องภูมิประเทศ เป็นประตูอาเซียนอย่างแท้จริง รายล้อมทั้งจีน อินเดีย เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สามารถดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะการเปิดเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่ได้ให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ทั้งหุ่นยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการบิน เชื่อว่าจะเกิดการลงทุนในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคนในอนาคตมากขึ้น
“ในอนาคตจะต้องมีการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ รถยนต์ก็ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ไม่มีคนขับ ต่อไปมนุษย์อาจเหาะได้ หรือเครื่องยนต์ที่ทำให้สามารถเดินทางได้สะดวกเพียงแค่กดปุ่มก็ถึงบ้านโดยไม่ต้องบอกเส้นทาง เชื่อว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้ามาต่อไป มนุษย์จะมีความสุขมากขึ้น และทำงานน้อยลง ทำงาน 3 วัน ส่วน 4 วันที่เหลือก็เที่ยว เพราะอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ สั่งงานได้”
ส่วนความกังวลว่าในอนาคตเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะเกิดปัญาหาด้านแรงงานนั้น ธนินท์มองว่าในภาคอุตสาหกรรมการผลิตสามารถใช้หุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงานได้ อีกทั้งยังทำการผลิตมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ที่สำคัญ สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมงโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาทำงาน และการจัดหาสวัสดิการ ซึ่งทางซีพีเองได้สร้างโรงงานแบบที่ไม่ใช้คนงานในประเทศที่มีค่าแรงสูงอย่างยุโรปไปแล้ว รวมไปถึงโรงงานผลิตเกี๊ยวซ่าที่มณฑลเหอเป่ย ประเทศจีนซึ่งเป็นโรงงาน “ไร้คนงาน” ในสายการผลิตทั้งหมด และในอนาคตจะเห็นโรงงานในรูปแบบดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย
พร้อมกันนี้ ธนินท์ยังบอกถึงนโยบายการลงทุนของซีพีมีในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกว่า “การลงทุนของซีพียังคงยึดหลัก 3 ประโยชน์อย่างเหนียวแน่น คือ ประเทศที่เข้าไปลงทุนต้องได้ประโยชน์ ประเทศไทยได้ประโยชน์ และบริษัทได้ประโยชน์ โดยจะไม่เข้าไปแข่งขันกับเกษตรกรในประเทศเหล่านั้น แต่จะมีการนำเอาเทคโนโลยีรวมทั้งเงินทุนเข้าไปลงทุนเพื่อเสริมสร้างธุรกิจ และซีพีจะเข้าไปเติมเต็มในสิ่งที่เกษตรกรทำไม่ได้ เช่น การแปรรูปสินค้า ทำการตลาด รวมถึงการค้าไปยังกลุ่มประเทศต่าง ๆ นอกเหนือจากประเทศที่เข้าไปลงทุน
“ธุรกิจของซีพีเป็นห่วงโซ่จากภาคเกษตรถึงโต๊ะอาหาร ซึ่งในแต่ละขั้นตอนเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ได้ ถ้ามีมนุษย์อยู่ก็จำเป็นต้องมีอาหาร แต่ในอนาคต รูปแบบของอาหารจะเปลี่ยนไป ที่ผ่านมาซีพีได้มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก คิดค้นนวัตกรรมอาหารเพื่อตอบสนองผู้บริโภค อย่างเช่น อาหารเพื่อผู้สูงอายุ สำหรับรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต”
ก่อนหน้านี้ ซีพีได้ร่วมลงทุนกับอิโตชู คอร์ปอเรชั่น บริษัทการค้าชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น และ CITIC Limited ของประเทศจีน ซึ่งธนินท์มองเป้าหมายของความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจในเอเชียให้โดดเด่นบนเวทีโลก
“ในช่วงที่ผ่านมา เรามีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ประชุมร่วมกัน 3 เดือนครั้ง และผลัดกันเป็นเจ้าภาพเพื่อเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลต่าง ๆ ร่วมกัน ส่วนธุรกิจที่ซีพีมองว่าน่าสนใจและอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพัฒนา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ ทั้งอาหารเพื่อผู้สูงอายุ หรือการลงทุนเกี่ยวกับศูนย์การดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันในญี่ปุ่นก็ได้มีการพัฒนาอุปกรณ์และนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุโดยไม่ต้องพึ่งพาแรงงานคน แน่นอนว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ในอนาคตจึงจำเป็นจะต้องมีผลิตภัณฑ์เพื่อลูกค้ากลุ่มดังกล่าว”
เพชรที่รอการเจียระไน

ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกขยายตัวได้ไม่มากนัก แต่ภูมิภาคเอเชียกลับเป็นภูมิภาคที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศที่อยู่ใจกลางเอเชีย และถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ค่อนข้างมาก
สำหรับประเทศในอาเซียน แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจมีพื้นฐานดีแล้ว และอีกกลุ่มเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาอย่าง กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ซึ่งกลุ่มนี้มีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา กลุ่ม CLMV เติบโตอยู่ในระดับ 6.5-8.5% จุดเด่นของกลุ่มประเทศนี้คือ การมีแรงงานกว่า 160 ล้านคน และทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี หากเปรียบการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน คงเป็นดังเช่นเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน เพราะส่วนใหญ่เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อีกทั้งอาเซียนยังเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน
หากนับรวมจีนและอินเดียซึ่งเป็นตลาดที่อยู่ใกล้เคียง ตลาดจะมีขนาดใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของโลก ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนดึงดูดให้นักลงทุนทั่วโลกเข้ามายังอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้นั่นเอง
ชาติศิริมองว่า ถ้าจะให้มองไปในอนาคต 10 ปี ข้างหน้า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจะมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เบื้องต้นประเมินว่าในภูมิภาคอาเซียน ยังมีความต้องการเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จำนวนนี้ไม่รวมสิงคโปร์ ผ่านการพัฒนาสาธารณูปโภค เช่น ถนน รถไฟฟ้า เขื่อน และลงทุนด้านการผลิตต่าง ๆ เป็นต้น “ในภาวะที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ถือเป็นโอกาสที่ควรจะมีการลงทุนต่อเนื่องในระยะยาวในอาเซียน”
2. การสนับสนุนทางด้านภาษี เนื่องจากกลุ่มประเทศอาเซียนยังต้องการการเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการเพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ขณะเดียวกัน บริษัทข้ามชาติสามารถใช้ประเทศกลุ่ม CLMV เป็นฐานการลงทุนด้านการผลิต เพื่อสร้างการแข่งขันที่ดีกว่าจากการมีฐานภาษีที่ต่ำ
สุดท้ายคือ
3. ความแข็งแกร่งของบริษัทขนาดใหญ่ที่สามารถขยายการลงทุนเป็นบริษัทข้ามชาติ พร้อมเพิ่มศักยภาพขยายธุรกิจออกไปทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก เช่น แอร์เอเชีย ซึ่งเป็นธุรกิจการบินของมาเลเซีย และกลุ่มซีพี เอสซีจี ปตท. บริษัทยักษ์ของไทย เป็นต้น
“ในส่วนของภาคธุรกิจการเงิน รวมถึงธนาคารกรุงเทพซึ่งมีสาขาอยู่ 9 สาขาในประเทศอาเซียน พร้อมสนับสนุนเงินทุนสำหรับธุรกิจในการขยายตัวทั้งในภูมิภาคและทั่วโลกอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความมั่งคั่ง มั่นคงของเศรษฐกิจในอาเซียนและเอเชีย แม้ว่าขณะนี้ยังมีข้อจำกัดการเปิดเสรีการเงิน ทำให้เงินทุนในประเทศต่าง ๆ ยังมีข้อจำกัดที่จะไหลเวียนไปอีกประเทศหนึ่ง แต่ในระยะต่อไป บริการทางการเงินน่าจะมีการเปิดเสรีได้ เพราะการสนับสนุนจากภาคการเงินจะช่วยให้เกิดการขยายตัวเศรษฐกิจ มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น”ชาติศิริกล่าวทิ้งท้าย