สัมภาษณ์พิเศษ รมว.ดีอี ผ่าทางตันลดความซ้ำซ้อน TOT-CAT

การขาดทุนอย่างต่อเนื่องของทีโอที และการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานรัฐอื่นของกสท.โทรคมนาคม ทำให้รัฐบาลยุค 4.0 ต้องมานั่งคิดและพิจารณาถึงการดำเนินงานของทั้ง 2 หน่วยงานใหม่ แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยุบรวมทั้ง 2 บริษัทนี้เข้าด้วยกัน  เพราะต่างก็มีลูกค้าและพนักงานที่ต้องดูแล ซึ่งล่าสุด Business+ ได้เข้าร่วมพูดคุยกับ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)  ถึงความคืบหน้าการดำเนินการในเรื่องนี้

Business+ – ทราบว่าความคืนหน้าในเรื่องนี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์  –  คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มติเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 เห็นชอบให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ตามที่กระทรวงดิจิทัลฯ เสนอ

โดย NBN จะมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจถือหุ้นโดย บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ส่วนในการจัดตั้ง บมจ.ทีโอที จะเป็นผู้ถือหุ้น 100 % แล้วจะปรับสัดส่วนการถือหุ้นภายหลังจัดทำการประเมินทรัพย์สินและมูลค่าทางธุรกิจอย่างละเอียด ซึ่งจะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในชื่อ “บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด” และชื่อภาษาอังกฤษว่า “National Broadband Network Company Limited”

โดยจะมีผู้เริ่มก่อการจัดตั้ง NBN จำนวน 3 ราย จาก บมจ.ทีโอที มีโครงสร้างคณะกรรมการ NBN เบื้องต้น ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลฯ บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม มอบหมาย รวมถึงจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริษัทตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นในภายหลัง

เช่นเดียวกับบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า “Neutral Gateway and Data Center Company Limited” โดยจะมีผู้เริ่มก่อการจัดตั้ง NGDC ในรูปแบบเดียวกับ NBN โดย บมจ.กสท โทรคมนาคม จะเป็นผู้ถือหุ้น 100 % และจะปรับสัดส่วนการ ถือหุ้นในภายหลังตามสัดส่วนของสินทรัพย์และเงินลงทุน เช่นกัน

Business+ – ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไรในการจัดตั้งบริษัททั้ง 2 นี้
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์  –  ภายในเดือนหน้านี้ ทั้ง 2 บริษัทใหม่จะได้รายชื่อคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ซึ่งเมื่อได้ บอร์ดครบก็จะทำหน้าที่สรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ คาดว่าจะรู้ผลการประเมินทรัพย์สิน ทั้งที่เป็นรูปแบบสินทรัพย์ และคนทำงาน ภายในเดือนตุลาคมนี้

“ทั้งนี้ในส่วนของทรัพย์สินที่เป็นเงินจะตีเป็นมูลค่าเท่าไหร่ และทรัพย์สินที่ยังเป็นข้อพิพาทกันนั้น ก็ต้องจบลงให้ได้ และเมื่อมีการนำระบบการบริหารจัดการคนเข้ามา เชื่อว่าจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เหมือนตอนเราเปลี่ยนซิป้า เป็นดีป้าโดยเมื่อถึงจุดนั้นทั้ง 2 บริษัทก็จะเป็นรูปร่างพร้อมทำธุรกิจ โดยทั้ง 2 บริษัทต้องมีบริษัท Service Co ของตนเองเพื่อทำหน้าที่ทำการตลาด คาดว่าภายในต้นปีหน้าจะสามารถดำเนินธุรกิจได้”

Business+ – การจัดสรรทรัพย์สินในเบื้องต้นจะเป็นอย่างไร
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์  – สำหรับทรัพย์สิน ที่ใช้ประกอบกิจการของ NBN ได้แก่ สินทรัพย์ประเภทโครงข่ายหลัก ระบบสื่อสัญญาณ จนถึงข่ายสายตอนนอก เคเบิลใยแก้วนำแสง รวมถึงสินทรัพย์ตามโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดย NBN มีรูปแบบธุรกิจเพื่อให้บริการค้าส่งโครงข่ายแก่บริษัทค้าปลีก บรอดแบนด์ (Service Co) ของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม รวมถึงผู้ประกอบการรายอื่นบนพื้นฐาน Open Access

สำหรับทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการ คือ ทรัพย์สิน  ที่ถูกใช้งานในกลุ่มธุรกิจ NGD ประกอบด้วย สถานีเคเบิลใต้น้ำ ในประเทศและระหว่างประเทศ เคเบิลภาคพื้นดินระหว่างประเทศ รวมทั้งโครงข่ายขนส่งข้อมูลที่มีการขนส่งข้อมูลทั้งข้อมูลระหว่างประเทศและข้อมูลในประเทศ ส่วนทรัพย์สินประเภทที่ดินกำหนดให้เป็นทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้บริษัทแม่ คือ บมจ.กสท โทรคมนาคม หรือ บมจ.ทีโอที

Business+ – การทำงานของทั้ง 2 บริษัทใหม่จะเป็นรูปแบบใด แข่งขันกับเอกชนได้แค่ไหน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์  – ทั้ง 2 บริษัทได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ คำสั่ง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไป รวมถึงการสนับสนุนด้านอื่นๆ เพื่อให้ NBN และ NGDC มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ รวมทั้งส่งเสริมให้การดำเนินการของ NBN Co และ NGDC  ในระยะเริ่มต้นสามารถดำเนินการได้อย่างเข้มแข็ง

นอกจากนี้จะเน้นให้หน่วยงานภาครัฐที่มีแผนหรือโครงการลงทุนในการจัดสร้างหรือมีความต้องการใช้งานบริการ Data Center/Cloud มาใช้บริการของ NGDC โดยให้กระทรวงดิจิทัลฯ พิจารณาในการลงทุนในธุรกิจ Data Center/ Cloud ที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนและได้ประสิทธิภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐที่ดีขึ้นด้วย

“ได้มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสทฯ เร่งดำเนินการตามขั้นตอนการขอจัดตั้งบริษัททั้ง NBN และ NGDC ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อพร้อมให้บริการแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงดิจิทัลฯ จะได้เตรียมแผนการดำเนินการรองรับด้านการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐมาใช้บริการของทั้งสองบริษัทต่อไป”