สวนผึ้งโมเดลต้นแบบSmart Hospital

รพ.สวนผึ้งสนองตอบThailand 4.0 พร้อมพัฒนาการบริการตามแนวทาง Smart Hospital ยึดหลักครอบคลุมคุณภาพชีวิตที่ดีประชาชนมีสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี


โรงพยาบาลสวนผึ้งจังหวัดราชบุรีเป็นโรงพยาบาลพื้นที่ชายแดนสนองตอบนโยบาย Thailand 4.0 พร้อมดูแลประชากรในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึงบริหารงานแบบบูรณาการจากหลายภาคส่วน ตามแนวทาง “Smart Hospital ที่ครอบคลุมคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีสุขภาพดี และสิ่งแวดล้อมดี” ในรูปแบบของสวนผึ้งโมเดล

โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1) Smart People ประชาชนที่มีศักยภาพในการดูแลตนเอง ครอบครัว และมีส่วนร่วมกับสังคม 2) Smart Organizationหน่วยงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการบูรณาการ การดำเนินงานในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน 3) Smart Hospitalโรงพยาบาลที่สนับสนุนส่งเสริม ให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลตนเองโดยมีการขับเคลื่อนในรูปแบบของทีม ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนให้สะดวกต่อการเข้าถึงบริการ พัฒนาการให้บริการด้วยเครื่องมือและวิทยาการที่ทันสมัย และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนให้สะดวกต่อการเข้าถึงบริการ

 

นายแพทย์ฉัทฐกร ธัญเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนผึ้ง เปิดเผยว่าโรงพยาบาลสวนผึ้งนับเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่ชายแดนซึ่งมีภารกิจสำคัญในการดูแลประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอสวนผึ้งและอำเภอบ้านคา ในด้านสุขอนามัยโดยเพิ่มทางด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพเป็นการช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้และพัฒนาชุมชมโดยรอบโรงพยาบาล ทั่งส่งเสริมบุคลากรให้มีการค้นคว้าวิจัย และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ตามวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลที่ว่า “โรงพยาบาลสวนผึ้ง ที่พี่ของประชาชน บำบัดรักษา พัฒนาชุมชน” โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้พัฒนาบริการที่ได้คุณภาพมาตรฐานเป็นมิตรต่อผู้เข้ารับบริการ

 

สนองตอบนโยบาย Thailand 4.0 ลดขั้นตอน สู่การบริการที่รวดเร็ว

นายแพทย์ฉัทฐกร กล่าวเพิ่มเติมถึงการทำงานตามนโยบายThailand 4.0ที่ต้องการให้โรงพยาบาล
มีความทันสมัย และนำเอาใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อลดขั้นตอนบริการ  ลดระยะเวลา
รอคอย  ลดความแออัดเช่น การนำเอาชุด LaboLink Smart OPD ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ ประกอบด้วย เครื่องวัดความดันแบบสอดแขน เครื่องชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงชนิดแกนเลื่อนอัตโนมัติ คนไข้สามารถทำเองได้ เมื่อวัดเสร็จแล้ว ค่าที่ได้จะถูกส่งผ่าน Labolink Box เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาลโดยอัตโนมัติ ทำให้การจัดการหน้าห้องตรวจเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ยังได้จัดทำเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ระบบคิวอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงนัดหมายการตรวจและแจ้งคิวผ่านจอภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาลงสู่แอปพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือการให้ข้อมูลด้านการใช้ยาแก่ผู้ป่วยผ่านแอปพลิเคชั่น RDU ใช้โปรแกรมThaiCOCส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยกลับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนดูแลต่อเนื่องลดการเจ็บป่วยซ้ำและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพิ่มช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนกับโรงพยาบาลผ่านระบบ Line Officialเป็นต้น


นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) จำนวน 1,384 คนที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรมาตรฐานอสต.ทำงานเป็นจิตอาสาควบคู่กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือสื่อสารทำความเข้าใจกับชุมชนให้มีความรู้ในการดูแลสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรคอีกด้วย

 

“การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพของประชาชนให้มีความทันสมัยเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะนำไปสู่การให้บริการทางการแพทย์ ที่ให้ประชาชนนำข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากโรงพยาบาลสวนผึ้งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ติดกับแนวชายแดนจึงมีภารกิจและหน้าที่นอกเหนือเพิ่มเติมจากโรงพยาบาลทั่วไปคือการดูแลเรื่องการระบาดของโรคที่มาจากแนวชายแดน เพิ่มการดูแลพี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนและสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดนถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้โรคภัยไข้เจ็บที่มาจากแนวชายแดนลดลงได้” นายแพทย์ฉัทฐกร กล่าวในท้ายสุด