ตลาดสมาร์ทโฟนไทยปี ’60 แข่งเดือดสมาร์ทโฟนจีนแย่งส่วนแบ่งตลาด

ตลาดสมาร์ทโฟนไทยปี ’60 โตในกรอบแคบราวร้อยละ 1.8 – 2.9 ขณะที่สมาร์ทโฟนจีนแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างเข้มข้น

 

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2560 ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการที่อาจทำให้การขยายตัวไม่โดดเด่น โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่ไม่มีปัจจัยสนับสนุนทางด้านการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ๆ เกิดขึ้น ดังเช่นการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เทคโนโลยี 2G มาสู่ 3G/4G ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

  •  จำนวนสมาร์ทโฟนที่ขายได้ในปี 2560 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 17.2 – 17.4 ล้านเครื่อง ขยายตัวในกรอบแคบราวร้อยละ 1.8 – 2.9 ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากปี 2559 ที่คาดว่าจะขยายตัวสูงราวร้อยละ 8.3 จากปี 2558 ขณะที่มูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนไทยจะมีมูลค่าประมาณ 96,550 – 97,950 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.0 – 4.5 จากปี 2559 ที่คาดว่าจะขยายตัวราวร้อยละ 5.0 จากปี 2558

 

  •  การแข่งขันทำการตลาดอย่างเข้มข้นของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนทั้งรายเก่าและรายใหม่ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคม นับว่าเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนตลาดสมาร์ทโฟนในไทยในปี 2560 ให้ยังมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมุ่งเน้นทำการตลาดอย่างจริงจังของกลุ่มผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจีน เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดสมาร์ทโฟนในไทยมากขึ้น

 

  • ในปี 2560 สมาร์ทโฟนจากจีนน่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสมาร์ทโฟนในไทยมากกว่าร้อยละ 30.0 ของจำนวนยอดขายสมาร์ทโฟนในไทยทั้งหมด เพิ่มขึ้นราวหนึ่งเท่าตัวจากปี 2558 ที่สมาร์ทโฟนจากจีนมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงร้อยละ 15.0 ของจำนวนยอดขายสมาร์ทโฟนในไทยทั้งหมด

 

 

ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนในไทยได้รับปัจจัยผลักดันหลักมาจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่าย 2G สู่โครงข่าย 3G/4G ประกอบกับการแข่งขันทำการตลาดอย่างเข้มข้นของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนทั้งรายเก่าและรายใหม่ และกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่นิยมทำการตลาดด้วยการจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่พ่วงแพ็กเกจการใช้งานบริการข้อมูลด้วยราคาที่คุ้มค่า

 

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ที่นิยมเข้าใช้อินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟน ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อเข้าถึงสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คหรือเข้าใช้กิจกรรมบันเทิงออนไลน์ผ่านโมบายแอพพลิเคชั่นต่างๆ จึงทำให้ยอดขายสมาร์ทโฟนในไทยในช่วงเวลาดังกล่าวสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 10.0 ต่อปี ส่งผลให้ในปัจจุบัน ผู้บริโภคไทยสามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้ราวร้อยละ 75.0 ของประชากรทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2560 ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการที่อาจทำให้ยอดขายสมาร์ทโฟนมีการขยายตัวที่ไม่โดดเด่นดังเช่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยก็ยังนับว่ามีความน่าสนใจอยู่มาก เนื่องจากสมาร์ทโฟนยังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคไทยทุกระดับ

 

ขณะที่ผู้ประกอบการก็ได้ทำการผลิตสมาร์ทโฟนและจัดจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม พร้อมทำการตลาดด้วยการออกโปรโมชั่นที่หลากหลาย เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคในทุกเซ็กเมนต์ ทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนสมาร์ทโฟนที่ขายได้ในปี 2560 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 17.2 – 17.4 ล้านเครื่อง ขยายตัวในกรอบแคบราวร้อยละ 1.8 – 2.9 ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากปี 2559 ที่คาดว่าจะขยายตัวสูงราวร้อยละ 8.3 จากปี 2558 ขณะที่มูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนไทยจะมีมูลค่าประมาณ 96,550 – 97,950 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.0 – 4.5 จากปี 2559 ที่คาดว่าจะขยายตัวราวร้อยละ 5.0 จากปี 2558
จากการที่ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยในปี 2560 มีการขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากปี 2559 ทั้งในด้านจำนวนและมูลค่าตามที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะมีสาเหตุหลักมาจากการที่ไม่มีปัจจัยสนับสนุนทางด้านการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ๆ เกิดขึ้น ดังเช่นการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เทคโนโลยี 2G มาสู่ 3G/4G ซึ่งในช่วงต้นปี 2559 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยได้พยายามผลักดันกลุ่มผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่บนระบบ 2G ให้มาใช้งานในระบบ 3G/4G จึงทำให้มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนรายใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในปี 2559 ส่งผลให้ตลาดสมาร์ทโฟนในปี 2560 ถูกผลักดันจากการซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องแรกของกลุ่มผู้ใช้งานรายใหม่ลดลง

 

อีกทั้ง ด้วยสภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ที่น่าจะยังฟื้นตัวไม่มากนักและสภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ของกลุ่มผู้บริโภคไทยบางส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การทำการตลาดอย่างเข้มข้นของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนทั้งรายเก่าและรายใหม่ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคม อาทิ การให้เครดิตสำหรับการผ่อนชำระเป็นระยะเวลานานโดยไม่คิดดอกเบี้ย การนำเสนอแพ็กเกจการใช้งานบริการข้อมูลบนโครงข่าย 3G/4G ในราคาที่คุ้มค่า การให้คูปองส่วนลด หรือแม้แต่การแจกของแถมที่เป็นอุปกรณ์ไอทีที่สามารถใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนอย่างหูฟังและลำโพง เป็นต้น

 

นับว่าเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนตลาดสมาร์ทโฟนในไทยในปี 2560 ให้ยังมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยการทำการตลาดด้วยโปรโมชั่นต่างๆ ดังกล่าว น่าจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคทำการตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ได้ง่ายขึ้น และเป็นการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคให้รู้สึกว่าการซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่เป็นการใช้จ่ายในราคาที่คุ้มค่า
ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายของตลาดสมาร์ทโฟนปี 2560 น่าจะยังกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนรายเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับบนที่ยังคงมีกำลังซื้อ โดยเป็นการซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่เพื่อทดแทนเครื่องเดิมที่ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากสมาร์ทโฟนมีอายุการใช้งานที่ไม่ยาวนานมากนัก โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยเพียง 2-3 ปี

 

ขณะที่ผู้ใช้งานบางส่วน โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบและติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ในสมาร์ทโฟนอยู่เสมอ อาจทำการซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ เพราะต้องการใช้งานในเทคโนโลยีหรือฟังก์ชั่นใหม่ๆ เหล่านั้น โดยทำการขายสมาร์ทโฟนเครื่องเดิมออกสู่ตลาดสมาร์ทโฟนมือสอง หรืออาจทำการซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ เพื่อใช้งานเป็นเครื่องที่สอง เป็นต้น

 

ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยปี’ 60 แข่งขันเข้มข้น…ผู้ประกอบการผลิตจีนเจาะตลาดไทยแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยลูกค้ารายได้ระดับกลางเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากจีนได้เริ่มนำสมาร์ทโฟนเข้ามาเจาะตลาดในไทย แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างแบรนด์อิมเมจในกลุ่มผู้บริโภคไทย อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน สมาร์ทโฟนจากจีนมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นจากการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีในสมาร์ทโฟน มีการผลิตและออกแบบสมาร์ทโฟนด้วยรูปลักษณ์ที่ทันสมัยและใช้วัสดุที่แข็งแรงมากขึ้น มีการสร้างแบรนด์อิมเมจที่ดีด้วยการใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่

 

รวมถึงมีการเร่งขยายศูนย์การให้บริการทั้งในด้านการขายและซ่อมบำรุง ส่งผลให้สมาร์ทโฟนจากจีนได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคไทยมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2560 สมาร์ทโฟนจากจีนน่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสมาร์ทโฟนในไทยมากกว่าร้อยละ 30.0 ของจำนวนยอดขายสมาร์ทโฟนในไทยทั้งหมด เพิ่มขึ้นราวหนึ่งเท่าตัวจากปี 2558 ที่สมาร์ทโฟนจากจีนมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงร้อยละ 15.0 ของจำนวนยอดขายสมาร์ทโฟนในไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมาจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติอื่นๆ ที่ครองตลาดสมาร์ทโฟนในไทยอยู่เดิม
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากจีนได้เข้ามาทำการตลาดสมาร์ทโฟนในไทยอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนในไทยมากขึ้นนั้น ย่อมเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อทิศทางการแข่งขันของตลาดสมาร์ทโฟนในไทยโดยรวมให้มีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง

 

โดยกลุ่มผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนทั้งจากไทยและต่างประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการโทรคมนาคม น่าจะมุ่งทำการตลาดตามเซ็กเมนต์ของสมาร์ทโฟน ในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อจูงใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้มีการตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟนได้ง่ายขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

สมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับบน (ราคามากกว่า 15,000 บาท)

 

แน่นอนว่า กลุ่มผู้ผลิตสมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับบนมักจะมุ่งเน้นทำการตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับสูงที่ชื่นชอบและติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยกลุ่มผู้ประกอบการจะทำการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ด้วยการพัฒนาและออกแบบสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อรักษาระดับคุณภาพของแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับบนในไทย ถูกครอบครองตลาดโดยกลุ่มผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้

 

อย่างไรก็ดี ในปี 2560 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดสมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับบนจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากการที่มีกลุ่มผู้ประกอบการผลิตจากจีนเข้ามาเจาะตลาดเซ็กเมนต์ระดับบนมากขึ้น โดยทำการยกระดับคุณภาพของสมาร์ทโฟนด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้ดียิ่งขึ้นในราคาที่คุ้มค่า อาทิ การให้หน่วยความจำและความเร็วในการประมวลผลที่สูงขึ้น การเพิ่มความคมชัดของกล้องด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างการเพิ่มกล้องเลนส์คู่และระบบโฟกัสอัตโนมัติแบบหลายมิติ เพื่อให้การถ่ายรูปมีความละเอียดมากขึ้นแม้ว่าจะอยู่ในสภาวะแสงน้อยก็ตาม เป็นต้น

 

ซึ่งนับว่าเป็นการตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี จึงอาจส่งผลให้ผู้ผลิตจากจีนสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับบนได้มากขึ้น อีกทั้ง จากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก อาจทำให้ผู้บริโภคบางส่วนที่ใช้สมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับบนอยู่แล้ว และไม่ยึดติดกับแบรนด์ น่าจะมีแนวโน้มหันมาซื้อสมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับบนในราคาที่ถูกลง

 

ขณะที่ผู้บริโภคบางส่วนที่ยึดติดกับแบรนด์ น่าจะมีแนวโน้มซื้อสมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับบนในราคาที่แพงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตมักทำการเพิ่มฟังก์ชั่นหรือฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพและราคาของสมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับบนให้สูงขึ้น

 

สมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับกลาง (ราคา 4,000 – 15,000 บาท)

 

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในปี 2559 สมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับกลางได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภคไทยมากที่สุด โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50.7 ของจำนวนสมาร์ทโฟนที่ขายได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ในปี 2560 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนสมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับกลางน่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปที่ร้อยละ 55.6 ของจำนวนสมาร์ทโฟนที่คาดว่าจะขายได้ทั้งหมด

 

โดยมีแรงผลักดันมาจากการมุ่งเน้นทำการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตสมาร์ทโฟนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตจากจีน ซึ่งทำการเพิ่มฟีเจอร์ที่ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ด้วยราคาที่คุ้มค่าและผู้บริโภคสามารถจับจ่ายได้ มีการสร้างแบรนด์อิมเมจด้วยการจัดจ้างพรีเซนเตอร์ที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้สามารถยกระดับราคาสมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับกลางได้ในอีกระดับหนึ่ง

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาสมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับกลางในปี 2560 จะอยู่ที่ประมาณ 6,500 – 7,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีระดับราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 4,500 – 5,000 บาท โดยคาดว่า ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายจะยังคงเป็นกลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลาง กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา ที่ต้องการซื้อสมาร์ทโฟนเพื่อไปทดแทนเครื่องเดิม รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับสูงที่ต้องการซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่เป็นเครื่องที่สอง

 

สมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับล่าง (ราคาน้อยกว่า 4,000 บาท)

 

ในปี 2559 สมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับล่างค่อนข้างมีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันยอดการขายสมาร์ทโฟนในไทย จากการผลักดันของกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคม โดยทำการออกโปรโมชั่นจำหน่ายสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ในแบรนด์ของตนเอง (House brand) ในราคาถูกพร้อมด้วยแพ็กเกจการใช้งานบริการเสียงและข้อมูลในราคาที่คุ้มค่า เพื่อให้ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนผ่านการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2G มาสู่ระบบ 3G/4G มากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2560 สมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับล่างจะมีสัดส่วนที่ลดลงจากจำนวนยอดขายสมาร์ทโฟนในไทยทั้งหมด อันเนื่องมาจากกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ขณะที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมน่าจะชะลอการทำการตลาดสำหรับสมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์นี้ลง เพราะกำไรขั้นต้นสำหรับการจำหน่ายสมาร์ทในเซ็กเมนต์ดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำอีกทั้ง ผู้บริโภคบางส่วนที่มีศักยภาพในการใช้บริการข้อมูลบนสมาร์ทโฟนได้ทำการย้ายโครงข่ายจากระบบ 2G มาอยู่ในระบบ 3G/4G เรียบร้อยแล้ว

 

ทั้งนี้ การขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด ก็นับว่าเป็นส่วนสำคัญต่อการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ผลิตสมาร์ทโฟน โดยจากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคไทยนิยมซื้อสมาร์ทโฟนจากศูนย์การให้บริการของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยมากที่สุด โดยมีสัดส่วนราวร้อยละ 45.1 ของยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนทั้งหมด นั่นเป็นเพราะได้รับแรงจูงใจมาจากส่วนลดราคาสมาร์ทโฟนพร้อมการใช้แพ็กเกจโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตบนโครงข่าย 3G/4G ในราคาที่คุ้มค่า

 

ขณะที่ผู้บริโภคไทยนิยมทำการซื้อสมาร์ทโฟนจากร้านค้าจำหน่ายสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ไอทีขนาดใหญ่เช่นกัน โดยมีสัดส่วนราวร้อยละ 22.6 ของยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนทั้งหมด เนื่องจากร้านค้าดังกล่าวโดยส่วนใหญ่มักมีการจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนด้วยแบรนด์ที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบคุณสมบัติและราคาของสมาร์ทโฟนที่ต้องการได้ง่าย

 

อีกทั้ง ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวมักร่วมมือทางธุรกิจกับกลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมเพื่อนำเสนอแพ็กเกจการใช้งานบริการข้อมูลในราคาย่อมเยา หรือร่วมมือกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนโดยตรงในการออกโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค หรือแม้แต่การร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในการให้เครดิตสำหรับการผ่อนสินค้าในระยะยาวโดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคทำการตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี จากพฤติกรรมการซื้อสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคตามช่องทางต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายสมาร์ทโฟนบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการรายย่อย

 

 

ดังนั้น ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว อาจต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมาก เพื่อประคับประคองธุรกิจให้สามารถดำเนินต่อได้ โดยอาจปรับตัวไปสู่การเป็นผู้ให้บริการซ่อมบำรุงสมาร์ทโฟน หรืออาจปรับตัวไปสู่การเป็นผู้จัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนมือสอง โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนในเซ็กเมนต์ระดับกลางค่อนบนถึงระดับบน เนื่องจากยังมีผู้บริโภคบางกลุ่มให้ความสนใจอยู่มาก โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ปานกลางแต่มีความต้องการใช้สมาร์ทโฟนในระดับไฮเอนด์ เป็นต้น