วิเคราะห์ธุรกิจ ‘ลีสซิ่ง’ และ ‘เช่าซื้อ’ บนความเปลี่ยนแปลง 3 ด้านที่ต้องเผชิญ

ถึงแม้ว่าในช่วงที่ประเทศไทยเกิดการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อของธุรกิจลีสซิ่งและเช่าซื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มีอัตราการขยายตัวสูง โดยในปี 2560 – 2564 มีการขยายตัวเฉลี่ย 5.5% ต่อปี แต่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นในรอบ 13 ปี ผสมผสานกับความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องแบกรับจากการผิดนัดชำระหนี้ที่จะสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของมาตรการภาครัฐที่จะเข้ามาควบคุมธุรกิจประเภทนี้ให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้กำไรของบริษัทลดน้อยลงตามไปด้วย ทั้งหมดนี้จึงเป็นคลื่นการเปลี่ยนแปลงครั้งหนึ่งของธุรกิจลีสซิ่ง และเช่าซื้อที่จะต้องอาศัยการบริหารจัดการต้นทุน-ค่าใช้จ่ายภายใน และการควบคุมระดับหนี้เสียให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงเกิน 2-4% เข้าสู้กับคลื่นกระแทกเหล่านี้

หนึ่งในธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา คือธุรกิจลีสซิ่ง (Leasing) และเช่าซื้อ (Hire Purchase) โดยกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Bank) ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับคนไทยโดยเฉพาะในต่างจังหวัด สาเหตุเป็นเพราะคนไทยจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อที่มีคุณภาพ หรือสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ เนื่องจากอาจจะติดเงื่อนไขบางข้อของสถาบันการเงินในระบบ เพราะหลายๆ ครัวเรือนมีรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งการกู้ยืมเงินในระบบมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและใช้เวลาในการดำเนินการนาน ดังนั้นแม้ว่าดอกเบี้ยของลิสซิ่ง หรือเช่าซื้อจะสูงกว่าสถาบันการเงิน แต่ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของครัวเรือน หรือบริษัทที่ต้องการสินเชื่ออย่างเร่งด่วน

โดยธุรกิจเช่าซื้อ และลิสซิ่ง ถือเป็นธุรกิจประเภทการบริการจัดหาเงินทุน (Financing) ให้แก่ผู้ลงทุนรูปแบบหนึ่ง โดยพัฒนาธุรกิจมาจากการให้เช่าทรัพย์สินทางการเกษตรกรรม โดยสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งเป็นการให้บริการสินเชื่อระยะปานกลางประมาณ 1-5 ปี เพื่อลงทุนในทรัพย์สินประเภททุน เพื่อใช้ในการผลิต หรือการพาณิชย์ เช่น เครื่องจักรงาน ยานพาหนะ อุปกรณ์ทางการแพทย์

ความแตกต่างระหว่างเช่าซื้อ vs ลิสซิ่ง
สำหรับความแตกต่างระหว่างธุรกิจเช่าซื้อ และลีสซิ่งอาจจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ความจริงแล้วจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในแง่ของกรรมสิทธิ์ เพราะธุรกิจลีสซิ่งนั้น กรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์จะกลายเป็นของผู้บริโภคหรือไม่เป็นของผู้บริโภคก็ได้ ซึ่งกรรมสิทธิ์จะไม่ได้เป็นของผู้บริโภคตั้งแต่แรก แต่จะสามารถเลือกที่จะซื้อสินทรัพย์นั้น หรือส่งคืนสินทรัพย์ให้กับผู้ให้เช่าเมื่อหมดสัญญาก็ได้ ดังนั้นในช่วงที่เรามีสัญญากับบริษัทลีสซิ่ง ผู้บริโภคจะจ่ายเป็นค่าเช่า โดยทั่วไปแล้วลีสซิ่งจะเหมาะกับบริษัทที่ต้องการเช่าทรัพย์สินที่มีราคาสูง หรือเช่าทรัพย์สินปริมาณมากๆ

ยกตัวอย่างการใช้บริการบริษัทลีสซิ่งให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ได้ดังนี้ ถ้าหากเราเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตขวดน้ำ และมีความต้องการเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งจำเป็นต้องซื้อเครื่องจักรเพิ่มอีก 50 เครื่อง เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาดในช่วงที่ Demand ตลาดสูง (อาจจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แค่ 1-5 ปี) ซึ่งเครื่องจักรราคาเครื่องละ 1 ล้านบาท แต่เรามีเงินทุนภายในไม่เพียงพอที่จะซื้อเครื่องจักรได้ทั้งหมด หากเราไปกู้เงินจากสถาบันการเงินอาจจะใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่า และจะต้องผ่อนชำระจนกว่าจะหมดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลายาวนานกว่าและใช้เงินทุนมากกว่า

แต่ถ้าหากใช้บริการจากบริษัทลีสซิ่ง ซึ่งมีเครื่องจักรให้เราเช่า เราก็สามารถเลือกได้ว่าจะซื้อเครื่องจักรในตอนท้าย หรือจะส่งคืน ซึ่งลีสซิ่งค่อนข้างยืดหยุ่นมากกว่า เพราะถ้าหาก Demand ในตลาดลดน้อยลง เราก็สามารถส่งคืนเครื่องจักรหลังครบสัญญาได้ โดยที่บริษัทจะไม่มีต้นทุนค่าเสียโอกาส (หากซื้อเครื่องจักรมาแต่ใช้งานได้ไม่เต็มที่เพราะ Demand หดตัวในระยะเวลา 5 ปีให้หลัง) และเรายังไม่ต้องเสียเงินก้อนที่อาจนำไปขยายธุรกิจด้านอื่นได้อีก

ส่วนธุรกิจเช่าซื้อนั้น ผู้บริโภคจะได้รับกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นทันทีเมื่อผ่อนชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นได้ครบจำนวน (ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะรับหรือไม่รับ) โดยที่กรรมสิทธิ์จะเป็นของผู้บริโภคแต่บริษัทเช่าซื้อจะถือเล่มกรรมสิทธิ์เอาไว้ก่อน เพื่อประกันความเสี่ยงการผิดสัญญาไม่ชำระค่างวด

หากยกตัวอย่างง่ายๆ ของการเช่าซื้อให้เห็นภาพชัดเจน คือ การเช่าซื้อรถยนต์ โดยผู้ที่ซื้อรถยนต์เงินผ่อนจะกลายเป็นเจ้าของรถคันนี้ทันทีหากจ่ายค่างวดครบทั้งหมดโดยไม่สามารถเลือกส่งคืนได้ (ต้องเป็นเจ้าของอย่างเดียว)

สำหรับผู้บริโภคทั่วไปอาจจะเห็นความแตกต่างเพียงในเรื่องของสิทธิ์การถือครอง เพราะหลักการคือ ลีสซิ่งและเช่าซื้อถูกสร้างขึ้นมาตอบโจทย์กับผู้บริโภคที่อยากมีสินทรัพย์แต่ยังไม่มีเงินก้อนมาจ่ายจึงต้องใช้วิธีขอผ่อนจ่าย

แต่ความแตกต่างนี้จะยิ่งชัดเจนมากขึ้นกับกรณีของบริษัท โดยที่ลูกค้าของธุรกิจลีสซิ่งและการเช่าซื้อจะมีวิธีการลงบัญชีที่แตกต่างกัน หากเป็นลีสซิ่งบริษัทที่เป็นลูกค้าจะต้องบันทึกบัญชีค่าเช่าทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่าย แต่หากเป็นเช่าซื้อจะต้องบันทึกค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน และดอกเบี้ยจ่ายเป็นค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามบริษัทที่เช่าซื้อจะได้รับสิทธิหักค่าเสื่อมราคาเพราะสินทรัพย์ที่ได้มาจะต้องมีการบันทึกข้อมูลว่าใครเป็นเจ้าของ ดังนั้น หากกรรมสิทธิ์เป็นของใคร คนนั้นก็จะได้สิทธิหักค่าเสื่อมราคา โดยที่ค่าเสื่อมเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถเอาไปหักลบกับรายได้เพื่อให้จ่ายภาษีน้อยลง ดังนั้นการเช่าซื้อจึงถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับลูกค้าระดับองค์กร แต่สำหรับบริษัทที่มีผลขาดทุนก็ไม่ได้ต้องการหักค่าเสื่อมอยู่แล้วเพราะไม่ต้องเสียภาษี (เพราะไม่มีกำไร) ดังนั้น หากบริษัทใดที่มีผลขาดทุนแต่ต้องการสินทรัพย์ราคาสูง และปริมาณมากๆ ก็อาจจะเลือกธุรกิจลิสซิ่งมากกว่าเช่าซื้อ

โดยบริษัทลีสซิ่งได้นำเอาหลักการหักค่าเสื่อมนี้มาใช้ ซึ่งบริษัทลีสซิ่งจะซื้อสินทรัพย์ต่างๆ มาเป็นจำนวนมากๆ แล้วนำสินทรัพย์เหล่านี้มาปล่อยให้กับบริษัทที่ต้องการเช่าสินทรัพย์อีกทอดหนึ่ง ซึ่งบริษัทลีสซิ่งจะได้รับประโยชน์จากการหักค่าเสื่อมเอง และได้รับรายได้จากบริษัทที่มาเช่าสินทรัพย์เป็นดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม โดยที่บริษัทลีสซิ่งอาจจะหาแหล่งเงินทุนมาลงทุนสินทรัพย์เหล่านี้ได้จากสถาบันการเงิน หรือการระดมทุนจากผู้ถือหุ้น ด้วยการออกหุ้นกู้ หรือตราสารต่างๆ

ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจลีสซิ่งจะสูงกว่าดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน เพราะธุรกิจลีสซิ่งจะต้องแบกรับความเสี่ยงมากกว่าธนาคาร ทั้งความเสี่ยงด้านค่าเสื่อมของสินทรัพย์ และการที่ลูกหนี้ไม่จ่ายเงิน หรือแม้กระทั่งการถูกขโมยสินทรัพย์
ซึ่งหลักการของธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งมี Business Model ที่คล้ายกัน คือ การรับเงินมาต้นทุนถูกปล่อยต่อราคาแพง แต่จะต้องแบกรับความเสี่ยงที่สูงกว่านั่นเอง โดยสรุปแล้วธุรกิจลีสซิ่งและเช่าซื้อจะมีรายได้มาจากดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และกำไรของธุรกิจประเภทนี้มาจากส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยปล่อยกู้ โดยการเติบโตของบริษัทเช่าซื้อ และลีสซิ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปล่อยกู้ และการคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งจะต้องบริหารความเสี่ยงภายในเอง

ประโยชน์ 4 ด้านของธุรกิจลีสซิ่งและเช่าซื้อ
ประโยชน์ของสินเชื่อเช่าซื้อ และลีสซิ่ง ต่อผู้บริโภคมีหลายข้อด้วยกัน โดยเฉพาะหากเป็นระดับองค์กร เพราะถือว่าเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกที่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถสงวนเงินทุนที่มีอยู่เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น การลงทุนรูปแบบอื่น หรือการขยายธุรกิจในด้านอื่น ๆ และยังช่วยรักษาสภาพคล่องของกิจการ เนื่องจากไม่ต้องลงทุนซื้อทรัพย์สินด้วยเงินสด

ซึ่งเราสามารถแบ่งประโยชน์ออกได้ 4 ด้านหลัก ๆ ดังนี้

1. เป็นแหล่งเงินทุนทางเลือก ที่ทำให้เราไม่เสียโอกาสในการลงทุนด้านอื่น เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนในการซื้อสินทรัพย์
2. ช่วยรักษาสภาพคล่องของกิจการ เนื่องจากไม่ต้องลงทุนซื้อทรัพย์สินด้วยเงินสด
3. มีความยืดหยุ่นมากกว่า โดยสามารถเลือกระยะเวลาการเช่าซื้อเองได้ตามความต้องการ และสามารถเลือกรูปแบบการชำระค่างวดหรือค่าเช่าให้สอดคล้องกับสถานะการเงินของเราได้
4. อนุมัติเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างทันท่วงที

วิธีวิเคราะห์สภาพคล่องบริษัทเช่าซื้อ และลีสซิ่ง
ถึงแม้บริษัทลีสซิ่งและเช่าซื้อจะมีประโยชน์มากมายสำหรับผู้บริโภค แต่บริษัทเหล่านี้ก็ต้องรักษาสภาพคล่องของตัวเองให้ดีเช่นเดียวกัน โดยเราสามารถใช้เกณฑ์การวิเคราะห์ว่าบริษัทเหล่านี้มีสภาพคล่องที่ดีหรือไม่ มีความมั่นคงหรือไม่ได้ทั้งหมด 4 ข้อด้วยกัน

1. อัตราการเติบโตของสินเชื่อ ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทลีสซิ่งหรือเช่าซื้อควรเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะจะแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการหารายได้ของบริษัทเหล่านี้

2. เงินสดรับดอกเบี้ยจากสัญญาเช่าซื้อ ควรมีค่าใกล้เคียงกับรายได้ดอกเบี้ยจากสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเก็บหนี้

3. หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ไม่ควรสูงเกินไป โดยค่าปกติที่เป็นมาตรฐานอยู่ระหว่าง 2-4%

4. อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) หากมีค่าสูงมากๆ จะทำให้ความสามารถในการขอกู้เงินทำได้ยากขึ้น ซึ่งแปลว่าอาจจะมีแหล่งเงินทุนไม่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจ หรือปล่อยสินเชื่อให้กับผู้บริโภค

สิ่งที่ต้องจับตามองของธุรกิจลีสซิ่งและเช่าซื้อ
ในปี 2565 ไปจนถึง 2566 สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจลีสซิ่งและเช่าซื้อแล้ว ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านด้วยกัน โดย ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ได้ให้การประเมินว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและรายได้ของครัวเรือนในประเทศไทยโดยรวมในปี 2565 เป็นช่วงที่ผ่านช่วงระยะต่ำสุดมาแล้ว และมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังมีอีกปัจจัยที่กดดัน คือ แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของครัวเรือน โดยอำนาจซื้อของครัวเรือนที่ต่ำลงจะกดดันความสามารถในการซื้อรถมือหนึ่ง แต่ในทางกลับกันกลับกลายเป็นปัจจัยที่ยังสนับสนุนตลาดรถมือสองและความต้องการสินเชื่อรถมือสองให้ประคองการเติบโตไว้ได้

โดยการที่ธนาคารพาณิชย์ให้ความสนใจเข้าสู่ตลาดนี้เพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้กู้ยืมที่มีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง อย่างไรก็ดี ด้วยทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผู้ซื้อรถมือสองในกลุ่มตลาดล่าง และใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อจากบริษัท Non-Bank คงมีภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การเตรียมออกประกาศควบคุมสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ของ สคบ. อาจมีส่วนช่วยควบคุมเพดานดอกเบี้ยได้ระดับหนึ่ง แต่คงต้องติดตามผลกระทบอื่นจากแนวทางการให้สินเชื่อของผู้ให้บริการที่อาจต้องปรับตัวเข้มข้นขึ้นเพื่อควบคุมความเสี่ยงของธุรกิจ

ทั้งนี้สิ่งที่ ‘Business+’ มองว่าต้องจับตามองเป็นเรื่องของการเข้ามาควบคุมของภาครัฐ โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งได้มีการเปิดรับฟังความเห็นไปในช่วง 15-31 ส.ค.2565 (จากข้อสรุปสำหรับเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถใหม่ 15% รถยนต์ใช้แล้ว 20% แต่ยังตกลงกันไม่ได้ เนื่องจากคณะทำงานเสนอให้เก็บที่ 20% ขณะที่ผู้ประกอบการต้องการที่ 30%)
ซึ่งหลังการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสาธารณชนแล้วจะมีการดำเนินการตามขั้นตอนในการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และ ธปท. จะได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างประกาศ ธปท. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

โดยที่การกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งที่จะออกมาใหม่อาจผลกระทบที่ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งมีแนวโน้มที่การควบคุมจะเข้มงวดมากกว่าเดิม เพราะที่ผ่านมาธุรกิจประเภทนี้เติบโตขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจำนวนธุรกรรมคงค้างของการประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยรวมในปี 2564 มีราว 1.8 ล้านล้านบาท หรือ 12.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

ซึ่งทางภาครัฐต้องการกำกับดูแลนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นทางค้าปกติ ซึ่งยังไม่มีกฎหมายและหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ อีกทั้งยังต้องการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน เพื่อดูแลระดับหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่เป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคก่อหนี้สินเกินตัวโดยไม่จำเป็น และต้องการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อส่งเสริมและดูแลประชาชนทั่วไปให้ได้รับบริการที่เป็นธรรม และบริการทางการเงินด้วยราคาที่เหมาะสม

ในมุมมองของเราเชื่อว่าจะมีความเป็นไปได้ที่กฏเกณฑ์ที่กำลังจะออกมาใหม่จะกำหนดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น หรืออาจจะเป็นการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะทำให้บริษัทลีสซิ่งหรือเช่าซื้อได้รับผลกระทบในแง่ของกำไรส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดน้อยลง ดังนั้น บริษัทเหล่านี้จึงต้องบริหารค่าใช้จ่าย และคุม NPL ให้ดีขึ้น ด้วยการใช้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่รัดกุม และเข้มงวดขึ้น เช่นคุมคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ เพิ่มความถี่ในการติดตามหนี้ และกำหนดระยะเวลาสำหรับการยึดทรัพย์สินเร็วขึ้น