ราคาหมูแพง รัฐต้องแก้ให้ถูกจุด ไม่งั้น ‘ตรุษจีน’ ราคาทะลุเพดาน!! ต้องเร่งลดต้นทุนผลิต-ยกระดับป้องกันโรคระบาด

หลายคนคงกำลังเผชิญกับราคาหมูที่ขายอยู่ในตลาดขณะนี้มีราคาที่สูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งจากการสำรวจของ ‘Business’ พบว่าราคาเฉลี่ยของเนื้อหมู 3 ชั้นในเขตกรุงเทพฯ ยังอยู่ราว ๆ 200-250 บาท/กิโลกรัม ซึ่งมีหลายเสียงมองว่าราคาอาจจะขึ้นไปแตะระดับ 300 บาท/กิโลกรัม ได้เลยทีเดียวหากมาตรการที่รัฐบาลใช้เพื่อควบคุมราคาไม่เกิดผล

ซึ่งจริง ๆ แล้วการแก้ปัญหาเรื่องราคาหมู สามารถทำได้หลายทาง แต่จะต้องเข้าใจต้นตอของปัญหาครั้งนี้เสียก่อนจึงจะสามารถแก้ไขได้ถูกจุด

โดย ‘Business+’ ได้สรุปปัญหาที่ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้หลายสาเหตุ ทั้งจากต้นทุนอาหารมีราคาสูงขึ้นทำให้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนการเลี้ยงมากขึ้น (สาเหตุหนึ่งเกิดจากราคาพืชผัก ข้าว ถั่วเหลือง เพิ่มขึ้นจากสถานะการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัด รวมไปถึงต้นทุนขนส่งแพงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น) ปัญหานี้ส่งผลให้เกษตรกรต้องเลิกเลี้ยงหมูไปหลายราย

นั่นทำให้ปริมาณหมูในประเทศมีน้อยลง และเมื่อท้ายปี 2564 มาจนถึงต้นปี 2565 ความต้องการหมูเพิ่มมากขึ้น เมื่อความต้องการซื้อมากกว่าสินค้า (Demand มากกว่า Supply) ราคาหมูจึงเริ่มแพงขึ้น

นอกจากนี้ยังมีความเห็นจาก ‘กรมปศุสัตว์’ ว่า ปัจจัยที่ทำให้หมูแพง นั้นมาจาก ต้นทุนการผลิต อย่างเช่นค่าอาหาร ยารักษาโรค ขณะที่พบการแพร่ระบาดของโรคในสุกร อย่าง โรคอหิวาห์แอฟริกัน ซึ่งทำให้ต้องมีการทำลายหมูมีชีวิตไปจำนวนมากเพื่อควบคุมโรคดังกล่าว

ซึ่งมีข้อมูลว่า โรคดังกล่าว ได้ทำให้สูญเสียแม่หมูพันธุ์ไทยไปจำนวนมาก จากเดิม 1.1 ล้านตัว ลดเหลือแม่หมูแค่ 550,000 ตัวเท่านั้น

สาเหตุทั้งหมดนี้ทำให้ราคาหมูในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้น และยังมีการประเมินจากนักวิเคราะห์ว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการหมูจะเพิ่มขึ้นจากเดิมจะยิ่งเป็นตัวผลักดันราคาให้สูงขึ้นอีก ซึ่งประเมินเบื้องต้นว่าจะขึ้นไปราว ๆ 300 บาท/กก. เลยทีเดียว (ตรุษจีนปีนี้ 1 กุมภาพันธ์)

ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งมี 3 ขั้นตอน เป็นการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว สรุปได้ดังนี้

1. มาตรการเร่งด่วน ซึ่งมี 3 มาตรการคือ
– ห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่ 6 ม.ค. 65 ถึง วันที่ 5 เม.ย. 65) เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูภายในประเทศ
– การช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น งดเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี
– จัดสินเชื่อพิเศษของ ธ.ก.ส. ให้เกษตรกร รวมไปถึงตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น และเร่งสำรวจภาพรวมสถานการณ์การผลิตสุกร เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการที่เหมาะสม พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน

2. มาตรการระยะสั้น คือ การส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ การขยายกำลังผลิตแม่สุกร สนับสนุนศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์และเครือข่ายคู่ขนานกับฟาร์มเกษตรกรและภาคเอกชน เร่งเดินหน้าการศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด

3. มาตรการระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ จะผลักดันการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่และเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค

และจะมีการสนับสนุนการเลี้ยงโดยจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส. ในโครงการสานฝันสร้างอาชีพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ เร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยเพื่อช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งการรวมกลุ่ม สนับสนุน และหาตลาดในราคาที่เกษตรกรอยู่ได้อย่างดี

โดย ‘Business+’ มองว่า ปัญหาเรื่องราคาหมูเป็นเรื่องใหญ่ หากรัฐบาลแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด ผลจะไปตกที่ผู้ประกอบการร้านอาหารที่จะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นอันดับแรก จึงเป็นตัวกดดันให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปัดภาระให้กับผู้บริโภคด้วยการเพิ่มราคาอาหารขึ้น และเราในฐานะผู้บริโภคก็จะต้องเจอกับผลกระทบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งจากมาตรการที่รัฐบาลพยายามแก้ไขเป็นการเร่งด่วน อย่างการสั่งห้ามส่งออกหมู ก็ถูกคัดค้านจากสมาคมผู้เลี้ยงหมูว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะปกติแล้วไทยเราส่งออกหมูมีชีวิตไปต่างประเทศไม่มากอยู่แล้ว (ข้อมูลปีที่ผ่านมาในปี 2564 ไทยมีการเลี้ยงหมูป้อนเข้าสู่ตลาด ประมาณ 19 ล้านตัว บริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 1 ล้านตัว) จะเห็นว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก มาตรการนี้อาจจะไม่ได้ช่วยให้ราคาหมูต่ำลงมากนัก

ดังนั้น มาตรการที่เรามองว่า จะช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุด คือ มาตรการระยะสั้น และระยะยาว อย่างเช่น การส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง นอกจากนี้การวิจัยเพื่อสร้างวัคซีน หรือสร้างภูมิคุ้มกันจากโรคระบาด รวมถึงการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะแก้ปัญหาในระยะยาวได้

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : ธ.ก.ส. ,กระทรวงพาณิชย์ ,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #หมูแพง #ราคาหมู #สุกร