รองผอ.iNT ม.มหิดล ชี้ทุกคนสามารถสร้าง innovation ให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้

ดร.วนรักษ์ ชัยมาโย รองผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) ศิษย์เก่าปริญญาตรี ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้คว้าทุนปริญญาเอก จาก มหาวิทยาลัย The University of Edinburgh สหราชอาณาจักร และดีกรีหลังปริญญาเอก จาก University of Rochester Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา

ดร.วนรักษ์ ชัยมาโย เล่าว่า หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จาก โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ตั้งใจเรียนต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อรักษาอุดมการณ์ของโรงเรียนที่ให้ปลูกฝังให้รักวิทยาศาสตร์ และเลือกเรียนฟิสิกส์ เนื่องจากชอบค้นหา สรรค์สร้างสิ่งใหม่ และสนใจเรื่องการสร้างงานนวัตกรรม (innovation)

โดยเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกของทีมนักศึกษาไทยที่ชนะการประกวดโครงการ Student Zerogravity Flight Experiment Contest ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2550 โดยได้มีโอกาสร่วมปฏิบัติการทดสอบจริงในสภาพไร้น้ำหนักบนเครื่องบินที่องค์กรสำรวจการบินอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)

ทุกคนสามารถสร้าง innovation ให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิจัย ด้วยการคิดหาวิธีการใดๆ ก็ตามที่ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น เหนื่อยน้อยลง แต่ได้ผลงานมากขึ้น เร็วขึ้น ดีขึ้น

โลกใบนี้จะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทุกคนพยายามที่จะสร้างสรรค์ innovation ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การทำงานของแต่ละคน

ปัจจัย 3 ประการที่ก่อให้เกิด innovation ประการแรกคือ จะต้องเป็นสิ่งใหม่ (new) ประสองที่สองคือ จะต้องมีคุณค่าเกิดขึ้นใหม่ (value) และประการที่สามคือ จะต้องมีผู้ใช้ (user) ส่วนใหญ่งานวิจัยจะมีอยู่เพียงสองอย่าง คือ new กับ value แต่ยังไม่มีผู้ใช้ ซึ่งในเมื่อไม่มีผู้ใช้ ก็ไม่สามารถทำเป็นธุรกิจได้

โดยในบทบาทของ iNT สิ่งที่เราทำ ก็คือ การจุดประกาย และสร้างทางเลือกสำหรับนักวิจัยให้มีโอกาสได้ใช้ศักยภาพทางวิชาการที่มีอยู่แล้ว เพื่อมุ่งไปในทางธุรกิจได้อย่างไรบ้าง โดยระหว่างทาง “จากหิ้งสู่ห้าง” จะมีเราคอยช่วยเหลือมองหาโอกาสอื่นๆ นอกจากโอกาสทางวิชาการให้กับนักวิจัย

โดย iNT จะทำหน้าที่อย่างครบวงจร ตั้งแต่รวบรวมและตรวจสอบผลงานวิจัย ทำให้เกิดการ license ซึ่งหมายรวมไปถึงการจดสิทธิบัตร และการเจรจาต่อรองกับภาคธุรกิจ”

ถ้ามองในภาพใหญ่ การช่วยผลักดันงานวิจัยให้เป็นธุรกิจ อาจจะไม่ใช่เพียงทางเลือก แต่จะเป็นทางรอดของมหาวิทยาลัย เมื่อก่อนมหาวิทยาลัยอาจอยู่ได้เพราะค่าเล่าเรียนของนักศึกษา แต่ต่อมาจำนวนนักศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่มหาวิทยาลัยต้องรับภาระจากรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย มหาวิทยาลัยจึงต้องหาเงินเอง โดยส่วนหนึ่งที่จะทำได้ก็คือ การผลักดันงานวิจัยให้เป็นธุรกิจ ซึ่งพอธุรกิจเกิดขึ้น ก็จะเกิดเป็น impact ต่อคนในวงกว้าง เพราะผู้ใช้ก็จะกว้างขึ้น เป็นหลักการของ Technology Transfer

หรือการที่จะทำอย่างไรให้งานวิจัยจากห้องแลป ได้ transfer ไปสู่โลกภายนอก แล้วเกิดการใช้ในวงกว้าง ซึ่งเป็นข้อดีที่นอกจากงานวิจัยจะได้มีผู้ใช้ นักวิจัยจะได้ผลตอบแทนทางธุรกิจที่ได้รับมาเป็นแรงผลักดันให้ทำงานในเรื่องใหม่ๆ ต่อไปดร.วนรักษ์ ชัยมาโย กล่าว

iNT ร่วมกับ Innogineer เตรียมจัดกิจกรรม Mahidol Startup Bootcamp (Tour)” ครั้งที่ 1 ‘Make the world Eco, before it’s Zero’ ระหว่างวันที่ 9 – 10 พฤศจิกายน 2562 ณ Innogineer Maker Studio คณะวิศวะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ติดตามรายละเอียดและข่าวสารกิจกรรมได้ที่  https://www.facebook.com/iNT.Mahidol.University/ หรือทางเว็บไซต์ https://int.mahidol.ac.th/