พลิกโฉม IRPC ด้วยยุทธศาสตร์ GDP “Power of Digital”

ประกาศแผนออกมาตั้งแต่ต้นปี 2561 กับเป้าหมาย Top Quartile ของกลุ่มปิโตรเคมี ซึ่งจะดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ใหม่ โดยจะเป็นฟันฟืองหลักในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จด้วย 3 ขุมพลัง ภายใต้ชื่อ “GDP” (Power of Growth, Power of Digital, and Power of People) เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็น “บริษัทปิโตรเคมีครบวงจรชั้นนำของเอเชียภายในปี 2563”

โดยเฉพาะในมิติของ Power of Digital ที่วันนี้ดูเหมือนจะมีความชัดเจนในฐานะหัวรบหลักที่จะพา IRPC ไปสู่เป้าที่ตั้งไว้สิ้นสุดไตรมาสที่ 3 ของปี IRPC สร้างเซอร์ไพรส์ชุดใหญ่ งบลงทุนกว่า 1,700 ล้านบาท ลุยโครงการ IRPC 4.0 หวังสร้างมูลค่าเพิ่มไม่ต่ำกว่า 3,300 ล้านบาท ตั้งเป้าขึ้นแท่นผู้นำบริษัทปิโตรเคมีด้านดิจิทัลของเอเชียในปี 63

การออกมาพูดถึงความคืบหน้าของการดำเนินโครงการ IRPC 4.0 ครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากได้รับคะแนนสูงสุด เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการกลั่นและจำหน่ายน้ำมันและก๊าซของโลกปี 2018 และคงสถานะการเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ (DJSI) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของ IRPC เช่นกัน

ซึ่งความชัดเจนในการลงทุน IRPC 4.0 ครั้งนี้เปรียบเสมือนการตอกย้ำว่าหลังจากนี้ IRPC จะพลิกโฉมองค์กรที่เคยรู้จักไปสู่มิติใหม่ ๆ ที่มีดิจิทัลเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญอย่างยิ่ง

โดย 2 โครงการแรกที่มีการลงทุนและเห็นผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ “EKONS” ระบบแสดงผลตัวชี้วัดสำคัญในการกำกับดูแลโรงงาน ในรูปแบบคล้ายแผงหน้าปัดรถยนต์ (Dashboard) แสดงค่าเป็นจำนวนเงิน ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรสามารถปรับเปลี่ยนค่าควบคุมต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมที่สุด

โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการใน Wave 1 และ Wave 2 แล้วเสร็จ คิดเป็นประมาณ 40% ของโรงงานทั้งหมด สร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทฯ ประมาณ 110 ล้านบาทในปีนี้ และถ้าสำเร็จทั้งโครงการจะสร้างมูลค่าเพิ่ม 1,200 ล้านบาทต่อปี

และการจัดทำระบบวิเคราะห์และบริหารจัดการข้อมูล (Spend Cube Analytics) เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทฯ ได้ประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการอีก 3 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสินปี 2561 นี้ ได้แก่ Advance Pricing, Predictive Maintenance และ Tech Asset Collaboration

ทั้งนี้ สุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า “โครงการ IRPC 4.0 อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ GDP ในมิติ “Power of Digital” เป้าหมายคือ พลิกโฉมธุรกิจของ IRPC ให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัลของกลุ่มบริษัทปิโตรเคมีภายในปี 2563 ด้วยการบูรณาการระบบดิจิทัลและนวัตกรรมทันสมัยต่าง ๆ เข้ามาร่วมใช้ในขั้นตอนธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่น้อยกว่า 3,300 ล้านบาทต่อปี ภายใต้งบประมาณโดยรวมของโครงการประมาณ 1,700 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินการโครงการ IRPC 4.0 ได้แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก บริษัทฯ ร่วมกับที่ปรึกษาจัดทำแผนดำเนินการ ซึ่งแล้วเสร็จในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระยะที่สองเป็นการรวบรวมข้อมูล วางระบบ และดำเนินการตามแผนงานซึ่งมีทั้งสิ้น 29 แผนงาน เริ่มดำเนินการในปี 2561 จำนวน 19 แผนงาน และอีกจำนวน 10 แผนงานจะเริ่มดำเนินโครงการในปี 2562

นอกจากการดำเนินการตามแผนงานแล้ว เพื่อให้การกำกับดูแลโครงการ IRPC 4.0 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ บริษัทฯ ได้จัดตั้งสำนักบริหารจัดการและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์องค์กร (Strategic Transformation and Result Delivery) ทำหน้าที่เป็น Project Management Office (PMO) และมีคณะกรรมการขับเคลื่อน (Steering Committee) ทำหน้าที่ตัดสินใจกำหนดทิศทางของโครงการ มีทีมงานจากสายงานต่าง ๆ ทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนในแต่พื้นที่ รวมถึงการจัดหลักสูตรอบรม เสริมสร้างศักยภาพด้านดิจิทัลแก่พนักงาน

นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ IRPC 4.0 “Power of Digital” แล้ว สุกฤตย์ ยังได้กล่าวถึงเป้าหมาย EBITDA และการทำ M&A ว่าบริษัทได้วางเป้าหมายจะใช้เงินลงทุนสำหรับการซื้อกิจการหรือร่วมลงทุน (M&A) ประมาณ 300-800 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับ 5 ปี (ปี 61-65) ซึ่งจะผลักดันให้ EBITDA อยู่ที่ 50-100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 5 ปี ทั้งนี้บริษัทยังคงเป้าหมาย EBITDA เติบโตปีละ 10-15% จนถึงปี 63 ซึ่งจะทำให้ได้ EBITDA ที่ระดับ 2.9 หมื่นล้านบาท จากราว 2 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในการทำ M&A อย่างน้อย 1 ดีลในธุรกิจที่เกี่ยวข้องภายในปีนี้ โดยปัจจุบันบริษัทมีศักยภาพลงทุนในช่วง 5 ปีราว 1 แสนล้านบาท หรือกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

“นอกจากการลงทุน M&A ซึ่งอยู่ภายใต้โปรแกรม GALAXY แล้ว เรายังวางแผนที่จะใช้เงินราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับลงทุนในโครงการ MARS เพื่อสร้างโรงงานผลิตพาราไซลีน 1.1-1.3 ล้านตัน/ปี และเบนซีน 3-5 แสนตัน/ปี คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาในกลางปี 62 แล้วเสร็จราวปี 66” สุกฤตย์ กล่าวปิดท้าย