ปรับชีวิต…เปลี่ยนสมองให้เฟรชห่างไกลอาการหลง ๆ ลืม ๆ

เมื่อคนเราอายุมากขึ้นสิ่งที่ตามมาก็คืออาการหลง ๆ ลืม ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากประสิทธิภาพการทำงานของสมองจะค่อย ๆ ลดลงเมื่ออายุ 30 ปี และจะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่ออายุ 50 ขึ้นไป

นายแพทย์เขษม์ชัย เสือวรรณศรี อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา ศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวถึงอาการหลง ๆ ลืม ๆ เหล่านี้ว่า อาการหลง ๆ ลืม ๆ ถึงแม้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแก่ตัว แต่ก็สามารถเป็นผลจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้เช่นกัน อย่างเช่น ความเครียด หรือ “ภาวะร่างกายเหนื่อยล้า” ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่พบมากในหมู่คนทำงาน

“ภาวะร่างกายอ่อนล้านั้น เป็นภาวะที่เรารู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง เซื่องซึม และซบเซา ภาวะร่างกายเหนื่อยล้าเป็นสาเหตุหลักของอาการหลง ๆ ลืม ๆ ชั่วคราวในหมู่คนวัยกลางคน และจะดีขึ้นได้เองเมื่อสุขภาพดีขึ้น ภาวะร่างกายเหนื่อยล้าเป็นบ่อนทำลายสุขภาพเป็นอย่างมากจึงไม่ควรละเลย”

แม้ว่าร่างกายเราแก่ตัวไปจะไม่สามารถป้องกันอาการหลง ๆ ลืม ๆ ได้ 100% แต่การดูแลและเพิ่มสมรรถนะของสมองให้ทำงานได้ดีเยี่ยมตลอดเวลาอาจจะช่วยให้ความจำมีประสิทธิภาพได้ยาวนานขึ้นได้ อาทิ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยมีสุขลักษณะการนอนที่ดี การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยให้ระบบการหมุนเวียนโลหิตทำงานได้ดี ส่งเลือดไปเลี้ยงสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าสังคมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนบ่อย ๆ จะช่วยให้สมองได้ทำงานสม่ำเสมอ และยังช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าอีกด้วย นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงความเครียดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าหักโหมใช้สมองมากจนเกินไป และดื่มน้ำเยอะ ๆ

และที่สำคัญที่สุดรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้เพียงพอ และสมดุลกับความต้องการของร่างกายถึงแม้ว่าจะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวของอาหารที่จะช่วยการป้องกันอัลไซเมอร์ หรือโรคเกี่ยวกับสมองอื่น ๆ แต่การรับประทาน “อาหารสมอง” บางชนิด จะช่วยให้รักษาระดับความจำเมื่อเราแก่ตัวไปได้

การรับประทานอาหารที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง ไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และวิตามินบางตัว เช่น วิตามินบี12 วิตามินซี วิตามินอี จะช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองอยู่ในภาวะที่ดีที่สุด