บินสูงอีกครั้งกับยูพีเอส

ยูพีเอส (UPS) เอกชนระดับโลกในธุรกิจโลจิสติกส์ ประกาศว่า พวกเขาตั้งบริษัทลูกชื่อ ยูพีเอส ไฟลท์ ฟอร์เวิร์ด อิงค์ (UPS Flight Forward Inc.) เพื่อให้บริการส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ด้วยโดรน หลังได้รับใบอนุญาต Part 135 ซึ่งจะส่งผลให้ยูพีเอสกลายเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโดรนส่งสินค้าเต็มรูปแบบที่ได้รับอนุญาตรายแรกของสหรัฐฯ

สก็อต ไพรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการปฏิรูปธุรกิจและกลยุทธ์ ยูพีเอส กล่าวว่า “เรามีความมุ่งมั่นที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อพลิกโฉมแนวทางการทำธุรกิจ ซึ่งการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อให้บริการโดรนส่งสินค้าและการยื่นขอใบอนุญาตเพื่อให้บริการเป็นประจำในขอบข่ายระดับนี้ นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์ใหม่ทั้งสำหรับยูพีเอสเอง และสำหรับอุตสาหกรรมโดรนและโลจิสติกส์ในภาพรวม

เมื่อมองถึงโอกาสทางธุรกิจขนส่งที่ถูกตอบรับแรงมากจาก E-Commerce แน่นอนว่า ยูพีเอส ไฟลท์ ฟอร์เวิร์ด จะให้บริการเที่ยวบินโดรนภายใต้ใบอนุญาต Part 135 แบบเต็มรูปแบบจากองค์กรบริหารการบินแห่งสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้บริษัทเป็นผู้ให้บริการขนส่งทางอากาศที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แตกต่างจากผู้ให้บริการเที่ยวบินโดรนรายอื่น ๆ ที่ได้รับใบอนุญาตแบบจำกัดประเภทเที่ยวบิน

คำประกาศจากทางยูพีเอส เมื่อประเมินจากมูลค่าตลาดอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) เพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานในเชิงพาณิชย์ของ PwC Consulting (ประเทศไทย) ที่ระบุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีโดรนกำลังเข้ามามีอิทธิพลกับหลายๆ อุตสาหกรรม จึงทำให้โดรนถูกนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

มีคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 127,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4.54 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563 จากปัจจุบันมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก PwC ยังชี้ให้เห็นอีกว่า อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ถือเป็นอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดโดรนสูงที่สุดถึง 45,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.62 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563 โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวจะนำโดรนมาใช้ในการบินสำรวจพื้นที่และเก็บภาพจากมุมสูง เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกก่อนนำมาประกอบการตัดสินใจลงทุน (Investment monitoring) ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

ต่อมาคือ อุตสาหกรรมการเกษตร (Agriculture) คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดโดรนสูงเป็นอันดับที่สองอยู่ที่ 32,400 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.16 ล้านล้านบาท โดยโดรนถูกนำมาใช้ในการสำรวจพื้นที่การเกษตรในพื้นที่กว้างใหญ่ รวมทั้งวิเคราะห์ดิน และการปลูกเมล็ดพันธุ์ รวมถึงคาดการณ์เวลาในการเก็บเกี่ยวได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

สุดท้ายคือ อุตสาหกรรมคมนาคมขนส่ง (Transport) คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดโดรนอยู่ที่ 13,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 465,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโดรนเริ่มถูกนำมาใช้ในบริการขนส่งสินค้าและพัสดุ (Last-mile delivery) แทนการขนส่งประเภทอื่น เพราะโดรนคล่องตัวสูงกว่า

อย่างไรก็ดี แม้ว่าทั่วโลกจะมีการนำเอาเทคโนโลยีโดรนมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความท้าทายสำคัญในระยะข้างหน้า คือ การออกกฎหมายเกี่ยวกับการใช้โดรนที่โปร่งใสและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับการใช้รวมถึงพื้นที่ที่มีการอนุญาตให้ใช้โดรน และมีข้อควรปฏิบัติเพื่อเป็นการรับประกันความปลอดภัย และความมีประสิทธิภาพจากการใช้โดรนให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์สูงสุด

ปัจจุบัน ยูพีเอสให้บริการโดรนส่งสินค้าเวชภัณฑ์เฉพาะกรณีพิเศษภายใต้ใบอนุญาต Part 107 ขององค์กรบริหารการบินแห่งสหรัฐฯ และในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ยูพีเอสเริ่มให้บริการโดรนส่งสินค้าเป็นประจำสำหรับผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้สัญญาการขนส่ง ในสหรัฐอเมริกา ที่โรงพยาบาลและสถาบันการแพทย์เวคเม็ดส์ ในเมืองราลี รัฐนอร์ธ แคโรไลน่า

ภายใต้โครงการนี้ ยูพีเอสให้บริการส่งตัวอย่างทางการแพทย์ โดยใช้โดรนแบบไม่มีคนขับ เพื่อเสริมบริการขนส่งทางบกที่ใช้อยู่ และมีแผนที่จะขยายบริการโดรนส่งสินค้าสู่โรงพยาบาลและสถาบันการแพทย์อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต