ทุกๆ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลต่อกำไรบริษัทเหล่านี้เท่าไหร่บ้าง?

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สกุลเงินบาทของไทยอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้เกมเงินเฟ้อในประเทศ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐได้ส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินให้ไหลออกจากประเทศไทย โดยในตลาดการเงินได้มีการขายเงินบาทออกมามากขึ้น เพื่อไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่า นั่นคือ ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่ามาต่อเนื่อง หากนับตั้งแต่ต้นปี 2565 พบว่าเงินบาทอ่อนค่ามาแล้ว 10.17% (จาก 33.310 บาท สู่ 36.70 บาท/ดอลลาร์ ในวันที่ 19 ก.ค.65)

ในส่วนของประโยชน์บริษัทผู้ส่งออก หรือมีบริษัทดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ได้รับรายได้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หากค่าเงินบาทอ่อนค่าจะทำให้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้น เนื่องจากเมื่อแปลงรายได้จากดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทจะทำให้ได้รับเงินบาทมากขึ้นนั่นเอง (จาก 33.310 บาท สู่ 36.70 บาท/ดอลลาร์ เท่ากับมีรายได้เพิ่ม 3.39 บาท/ดอลลาร์ )

โดยที่เวลารายงานกําไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนบริษัทเหล่านี้จะต้องบันทึกเป็นรายได้ หรือรายจ่ายไว้ในกำไรหรือขาดทุนในงวดบัญชี

และสำหรับบริษัทที่มีบริษัทย่อยในต่างประเทศจะมีการแปลงค่าตามอัตราค่าเงินบาทในแต่ละไตรมาส ตามค่าเงินสกุลแต่ละที่ ที่บริษัทมีถิ่นฐานอยู่ โดยงบดุลของบริษัทย่อยที่อยู่ในต่างประเทศนี้จะถูกแปลงค่าของอัตราแลกเงิน ที่ราคาปิดของเงินบาทที่ 33.33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 และ 31.34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 (33.42 บาทต่อเหรียญสหรัฐ)

ข้อมูลที่น่าสนใจจาก ‘บล.เคทีบีเอสที’ ได้แนะนำบริษัทที่มีทิศทางน่าสนใจจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า สำหรับหุ้น/อุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จาก “ค่าเงินบาทอ่อนค่า” มีดังนี้

1) กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก ต่างประเทศ โดยเรียงลำดับทุกการอ่อนค่า 1 บาทจะส่งผลต่อกำไรเพิ่มขึ้นจะมีผลทำให้กำไรเพิ่มขึ้น บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) คาดกำไรเพิ่มขึ้น 6% และ บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส์ (HANA) คาดกำไรเพิ่มขึ้น 5%

2) กลุ่มอาหาร เนื่องจากมีรายได้ส่วนใหญ่จากต่างประเทศ โดยเรียงลำดับทุกการอ่อนค่า 1 บาทจะส่งผลต่อกำไรเพิ่มขึ้น บมจ.ซันสวีท (SUN) คาดกำไรเพิ่มขึ้น 8%, บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) คาดกำไรเพิ่มขึ้น 3%, บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) คาดกำไรเพิ่มขึ้น 5%, บมจ.เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น (ASIAN) คาดกำไรเพิ่มขึ้น 5%, บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) คาดกำไรเพิ่มขึ้น 2%

3) กลุ่มเกษตร เนื่องจากมีรายได้ส่วนใหญ่จากต่างประเทศ โดยเรียงลำดับทุกการอ่อนค่า 1 บาทจะส่งผลต่อกำไรเพิ่มขึ้น บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) คาดกำไรเพิ่มขึ้น 6%, บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER ) คาดกำไรเพิ่มขึ้น 3%

4) อุตสาหกรรมอื่นที่ได้ผลกระทบเชิงบวกจากค่าเงินบาทอ่อน เนื่องจากมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก ได้แก่
บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) หรือ SMPC ประเมินทุก ๆ 1 บาทที่อ่อนค่าทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 8-10%

บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MEGA ประเมินทุก ๆ 1 บาทที่อ่อนค่าทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 8%

บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ประเมินทุก ๆ 1 บาทที่อ่อนค่าทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 3%-4%

โดยการคาดการณ์นี้ นักวิเคราะห์ได้อิงจากข้อมูลรายได้ของแต่ละบริษัท ว่ามีรายได้เป็นสกุลเงินประเภทใด และจะได้รับปัจจัยบวกมากน้อยแค่ไหน?

ทั้งนี้บริษัทที่จะได้รับปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับสัดส่วนรายได้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐของบริษัทนั้นๆ ซึ่งบางบริษัทหากมีการตั้งโรงงาน หรือเปิดบริษัทในประเทศอื่นที่ไม่ได้รับรายได้ในส่วนของเงินดอลลาร์ ก็อาจจะไม่ได้รับปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ แต่จะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากการเทียบค่าเงินบาทกับสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ว่าอ่อนค่า หรือแข็งค่า

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : บล.เคทีบีเอสที

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า #เงินบาท