ต้องฝ่าวิกฤติเงินเฟ้อไปให้ได้!! จับตา FED อัดยาแรง ขึ้นดอกเบี้ย 0.5% เร็ว ๆ นี้ ด้านรัฐบาลสหรัฐฯ ยื่นมือช่วยค่าใช้จ่ายประชาชน 3 ด้าน

ดูเหมือนอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะพุ่งแบบฉุดไม่อยู่อย่างต่อเนื่อง หลังจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐหรือ CPI เดือนม.ค.ที่ผ่านมาขึ้นไปแตะที่ระดับ 7.5% (เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.ราว 0.6%)

ซึ่งเงินเฟ้อในระดับนี้ได้แตะจุดสูงในรอบ 40 ปี (นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 1982) โดยราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 40% ที่พักพิงพุ่งขึ้น 4.4% อาหารพุ่งขึ้น 7% รถยนต์ใหม่พุ่งขึ้น 12.2% รถยนต์และรถกระบะมือสองพุ่งขึ้น 40.5% และบริการทางการแพทย์พุ่งขึ้น 2.7%

และในวันที่ 10 มี.ค.ที่จะถึงนี้จะมีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ.ของสหรัฐฯ ซึ่งถูกคาดการณ์เอาไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 7.9% เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานที่ยังพุ่งสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคุกกรุ่น ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 0.5 % ในการประชุมที่ใกล้จะถึง

นอกจากการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อลดความร้อนแรงเงินเฟ้อแล้ว สหรัฐฯ ยังต้องควบคุมสถานการณ์อื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งประธานาธิบดีไบเดน ได้เรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ ลดค่าใช้จ่ายลง (ยกเว้นค่าจ้าง) และยังขอให้อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนำห่วงโซ่อุปทานกลับมาผลิตในสหรัฐฯ แทนที่จะพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากต่างประเทศ

อีกทั้งยังมีเรียกร้องให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น พร้อมกับการปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับการขยายตัว และปรับราคาค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลกลางเป็น 15 เหรียญสหรัฐ/ชั่วโมง

นอกเหนือจากนี้ ยังมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน 3 เรื่อง คือ

1) ยารักษาโรคตามใบสั่งแพทย์ โดยจะมีการเสนอการกำหนดราคาอินซูลินสูงสุดไว้ที่ 35 เหรียญสหรัฐ/เดือน และให้ผู้ที่ถือ Medicare สามารถซื้อยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ในราคาที่ถูกกว่า

2) ด้านพลังงาน ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันอย่างมาก ทั้งสำหรับที่พักและการเดินทาง ไบเดนต้องการลดต้นทุนด้านพลังงานสำหรับครอบครัวโดยเฉลี่ย 500 หรียญสหรัฐ/ปี โดยให้ Tax Credit สำหรับบ้านหรือธุรกิจที่มีการจัดการกับพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ดีต้นทุนด้านพลังงานมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับราคาน้ำมันในตลาดโลก และการรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงกว่า 100 หรียญสหรัฐ/บาร์เรล

3) ด้านการดูแลเด็กให้มีราคาที่ไม่แพงมาก โดยครอบครัวชนชั้นกลางและครอบครัววัยทำงานไม่ควรต้องจ่ายเกิน 7% ของรายได้สำหรับการดูแลเด็กเล็ก ซึ่งในแผนจะมีการลดค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครอง รวมถึงผู้หญิงหลายล้านคนที่ออกจากงานในช่วงการระบาดใหญ่เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าดูแลเด็ก เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับไปทำงานได้ ซึ่งปัจจุบันนโยบายของสหรัฐฯ ได้ดำเนินการไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน โดยการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายของ FED เดือนมี.ค.นี้ คาดว่าจะเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือใกล้ศูนย์ในช่วงเริ่มต้นของการระบาด COVID-19 ในอเมริกา

สำหรับมุมมองต่อประเทศไทย นั้น จะเห็นได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่นักลงทุนในประเทศไทยต้องจับตาเช่นเดียวกัน เพราะธรรมชาติของการลงทุนแล้วเม็ดเงินมักจะไหลไปหาแหล่งการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเสมอ ดังนั้น เมื่อสหรัฐให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมีโอกาสที่นักลงทุนจะถอนเงินไปลงทุนในสหรัฐแทน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : DITP ,CNN/Market Watch/Trading Economics/Economic Policy Institute

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #FED #เงินเฟ้อสหรัฐ