ตลาดอาหารเสริม

ตลาดอาหารเสริมไทยโตติดลมบน จากเทรนด์สุขภาพและความงาม

เทรนด์สุขภาพและความงาม ดันตลาดอาหารเสริมติดลมบน

จากแนวโน้มการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับสุขภาพและร่างกายที่ดูดี ทั้งการออกกำลังกาย อาหารการกิน รวมไปถึงการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคภัยต่าง ๆ เตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในอนาคต ซึ่งการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากขึ้น ส่งผลให้มีมูลค่าตลาดในประเทศไทยสูงถึง 70,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

ขณะที่ตลาดโลกนั้น statista.com ประเมินว่าจะมีมูลค่ารวมกว่า 106,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2555 ที่มีมูลค่าตลาด 81,000 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับตลาดอาหารเสริมในประเทศไทยนั้น มีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) แบ่งตลาดเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ตลาดอาหารเสริมสุขภาพและรักษาโรค เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนทางการตลาดมากสุดอยู่ที่ 78% รองลงมาเป็นตลาดอาหารเสริมความงาม 21% และตลาดอาหารเสริมเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย 1%

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Euromonitor พบว่าธุรกิจอาหารเสริมของไทย ในปี 2559 และคาดว่าในปี 2560 มูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 11% เป็น 738,000 ล้านบาท

จากสถิติดังกล่าว รวมถึงหากสังเกตจะพบว่า ธุรกิจอาหารเสริมจะเป็นธุรกิจที่เนื้อหอมมาก เนื่องจากมีแบรนด์ใหม่และผู้ผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการโฆษณาขายหลากหลายบนโลกอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในกลุ่มดารานักแสดงและคนมีชื่อเสียงที่หันมาเปิดธุรกิจอาหารเสริมกันอย่างคึกคัก ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจท็อปฮิตสำหรับวงการบันเทิงกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภทคอลลาเจนและลดน้ำหนัก จึงทำให้ธุรกิจนี้มีความเคลื่อนไหวเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างคึกคัก เพราะสามารถทำเป็นแบบอาชีพหลักหรืออาจจะทำแค่เป็นอาชีพเสริมก็ได้

ความร้อนแรงของธุรกิจอาหารเสริม ยังทำให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังได้จัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 45 เพราะมองว่ามีศักยภาพในการเติบโตและสร้างมูลค่าทางการตลาดให้กับประเทศได้ค่อนข้างสูงในแต่ละปีนับแสนล้านบาท ทั้งจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ

จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมฯ พบว่าปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมมากกว่า 1,000 ราย โดยตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 7% ต่อปี ก่อให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ตลอด Supply Chain มากกว่า 500,000 คน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปัจจุบันยังมีโอกาสเติบโตได้เป็นอย่างมากในอนาคต

การให้ความสำคัญกับตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของสภาอุตสาหกรรมฯ ยังสอดคล้องกับนโยบาย Medical Hub ของภาครัฐ ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบริการสุขภาพของโลก ทั้งในด้านการบริการสุขภาพที่เป็นเลิศ และการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ได้รับมาตรฐานออกไปสู่ตลาดสากล ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการเติบโตให้แก่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ซึ่งเห็นได้จาก ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ พ.ศ. 2559-2568 ที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นหนึ่งในสินค้าที่จะต้องผลักดันเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมจะต้องพร้อมตอบโจทย์ตามความต้องการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศนั่นเอง

ส่วนนโยบายสนับสนุนต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่อาจจะเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ เช่น

  1. การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านสุขภาพ (Medical Hub) ซึ่งส่งผลต่อความต้องการสินค้าเพื่อ
    สุขภาพที่เพิ่มขึ้น
  2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย เริ่มจากปี 2558 ต้องผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่มีการใช้ปริมาณมาก และปี 2563 ต้องการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นและมีคุณภาพมากขึ้น และต้องการเป็นฐานการผลิต Medical and Health Industry ที่สำคัญในอาเซียน
  3. นโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการขอส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดตากและสระแก้ว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม จะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการทั้งฝั่งผู้ผลิตสินค้าและผู้ประกอบธุรกิจจัดจำหน่าย อาจจะเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการภายในประเทศเอง และยังต้องแข่งกับสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากสินค้านำเข้าจากประเทศดังกล่าวได้รับความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพของตัวสินค้าค่อนสูงนั่นเอง

ดังนั้น ธุรกิจอาหารเสริม ต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีสินค้าที่จะเข้ามาทดแทนได้ตลอดเวลา ซึ่งการพึ่งยอดขายสินค้าเพียงบางผลิตภัณฑ์ จึงมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงความนิยมของผู้บริโภคและคู่แข่งที่ออกผลิตภัณฑ์มาทดแทน

ตลาดอาหารเสริม

ตลาดอาหารเสริม